สิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้เริ่มให้สิทธิการบำบัดทดแทนไตสำหรับผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้าย ตั้งแต่ปี 2551 โดยผู้ป่วยรายใหม่ทุกรายจะต้องถูกประเมินสภาพร่างกายว่าสามารถบำบัดทดแทนไตด้วยวิธีการล้างไตทางช่องท้อง (CAPD) ก่อนเสมอ และมีกระบวนการสอนให้ผู้ป่วยและญาติสามารถล้างไตได้ด้วยตนเอง และจัดส่งน้ำยาผ่านทางไปรษณีย์ไปถึงบ้านของผู้ป่วยโดยตรง ไม่ต้องเดินทางไปรับน้ำยาเอง เพื่อความสะดวกของผู้ป่วย
ทั้งนี้การล้างไตทางช่องท้องทำให้ผู้ป่วยสามารถควบคุมน้ำและขจัดของเสียในร่างกายได้ดีกว่า แต่หากร่างกายไม่สามารถทำได้จึงจะใช้วิธีฟอกเลือด เพื่อรอรับการปลูกถ่ายไต ซึ่งเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการรักษาผู้ป่วยโรคไตวายระยะสุดท้าย
บุญเวช โคตะนันท์ บ้านสะอาด ต.เมืองเก่า อ.เมือง จ.ขอนแก่น ผู้พิการและผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่บำบัดทดแทนไตด้วยวิธีล้างไตผ่านทางช่องท้อง (CAPD) ตั้งแต่ปี 2552 และยังทำมาอย่างต่อเนื่อง ขณะนี้ที่บ้านเปิดเป็นร้านขายของชำ และร้านอินเตอร์เน็ตในหมู่บ้าน มีรายได้พอจุนเจือครอบครัวได้
สมพิศ โคตะนันท์ ภรรยา เล่าว่า ในครั้งแรกหลังจากที่ทราบว่าเป็นโรคไตวายและต้องบำบัดทดแทนไตนั้น พ่อบุญเวชถอดใจ ไม่อยากทำอะไรทั้งสิ้นเพื่อรักษาตัวเอง เนื่องจากกลัวว่าหากล้างไตผ่านทางช่องท้องจะติดเชื้อ จะตายไว แถมตัวเองก็เป็นผู้พิการ แต่หลังจากที่ได้รับการแนะนำในการดูแลตัวเองจากแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่น แม่พิศและพ่อเวช สามารถทำการล้างไตผ่านทางช่องท้องด้วยตัวเอง และแม่พิศก็มีความรู้เพียงพอที่จะดูแลพ่อเวชได้ จึงได้กลับมาทำเองที่บ้าน
“หลังจากที่ได้ทำการล้างไตผ่านทางช่องท้องแล้ว รู้สึกว่าพ่อเวชมีหน้าตาสดใส สุขภาพจิตดีขึ้น ไม่ต้องไปรอรับการฟอกเลือดที่โรงพยาบาลบ่อยๆ เพราะต้องไปนั่งรอฟอกเลือดผ่านเครื่อง จากเดิมที่กลัวว่าจะตายไว แต่ตอนนี้พ่อเวชมีกำลังใจมากขึ้น เพราะมีผู้ป่วยหลายคนที่แม้จะใช้วิธีล้างไตแบบผ่านทางช่องท้องก็มีชีวิตอยู่ได้ยาวนานเป็น 10 ปี” สมพิศเล่า โดยมีบุญเวชคู่ชีวิตยิ้มรับอยู่ข้างๆ
แม้การล้างไตผ่านทางช่องท้องจะทำให้ผู้ป่วยสะดวกมากขึ้น แต่มีข้อต้องระวัง คือ การติดเชื้อในช่องท้อง ซึ่งจากสถิติการให้บริการล้างไตผ่านทางช่องท้อง ในระบบ สปสช.มีอัตราการติดเชื้อน้อยกว่าที่เกิดในประเทศยุโรปและดีกว่าค่าเฉลี่ยของทั่วโลก และอัตราการเสียชีวิตเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 10 ต่อปี ไม่ต่างจากประเทศอื่นๆ มากนัก
สมพิศเล่าว่า เรื่องของการติดเชื้อก็พอมีบ้าง นานๆ ครั้ง ซึ่งการที่จะติดเชื้อหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการดูแลตัวเอง ความขยันในการรักษาความสะอาด อาการการกิน บางคนมีโรคประจำตัวซึ่งเสี่ยงกับการติดเชื้อ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ตอนนี้พ่อเวช จะต้องไปพบแพทย์ทุก 3 เดือน ตามรอบที่กำหนดเพื่อตรวจสอบว่าร่างกายเป็นอย่างไร แต่หากมีปัญหาอะไรก็สามารถปรึกษาพยาบาล แพทย์ และไปโรงพยาบาลได้ตลอดเวลา
“จากที่ล้างไตช่องท้องมา ก็เห็นว่าเป็นวิธีที่ปลอดภัย และใช้ได้ดีสำหรับผู้ป่วยโรคไต แม้แต่ผู้พิการอย่างพ่อเวชก็สามารถทำได้ น้ำยาก็ส่งมาถึงบ้านไม่มีขาด ต้องขอบคุณระบบหลักประกันสุขภาพที่ทำให้พ่อเวชได้รับการรักษาที่ดี ไม่ต้องล้มละลายจากการเจ็บป่วย” บุญเวชกล่าวด้วยรอยยิ้ม
ขณะที่สุรวิทย์ สุริยสกุลไทย ประธานเครือข่ายผู้ช่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย จ.ขอนแก่น กล่าวว่า กลุ่มผู้ป่วยโรคไตนั้นยืนหยัดให้รัฐบาลคงไว้ซึ่งระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพราะหากไม่มีระบบนี้ผู้ป้วยโรคไตวายเรื้อรังระยสุดท้ายคงจะหมดตัว ล้มละลายจากการรักษา ตนเป็นผู้ป่วยโรคไตวายมาตั้งแต่ปี 2535 ก็รักษาด้วยเงินของตัวเอง เพราะตอนนั้นไม่มีสิทธิข้าราชการ หรือประกันสังคม
“ตอนที่เป็นโรคนี้ใหม่ๆ ยังไม่มีสิทธิหลักประกันสุขภาพ ผมก็ต้องดิ้นรนทั้งกู้หนี้ ยืมสินจากเพื่อนๆ ญาติ หาเงินมารักษาตัวเอง หมดค่าใช้จ่ายไปมาก ต้องขายกิจการ เกือบจะหมดเงินที่มี ทำจนไม่มีทางออก จนได้มาพบแสงสว่างเมื่อมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่ทำให้ผู้ป่วยโรคไตทุกคนได้รับการบำบัดทดแทนไต พวกเราขอให้มีระบบหลักประกันสุขภาพต่อไปและขอขอบคุณ นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เลขาธิการ สปสช.คนแรก ผู้บุกเบิกระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าทำให้ทุกคนมีศักดิ์ศรี และความเท่าเทียมในการรักษาพยาบาล”
นับจากปี 2551 จนถึงปัจจุบัน สิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้ช่วยให้ผู้ป่วยโรคไตวายระยะสุดท้ายได้รับการดูแลรักษาที่ดี ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายจากการเดินทาง ไปฟอกเลือดที่โรงพยาบาลหรือคลินิค และลดค่าเสียโอกาสจากการทำงานของผู้ป่วยและญาติ เนื่องจากผู้ป่วยคนไทยส่วนใหญ่อยู่ชนบท หากฟอกเลือดต้องมาโรงพยาบาล 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ ซึ่งเป็นไปได้ยาก แต่การล้างไตผ่านทางหน้าช่องท้องสามารถทำได้เองที่บ้าน.
- 217 views