กลุ่มเภสัชกรเพื่อมวลชน กลุ่มเภสัชกรภาคใต้ ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ ค้านร่าง พ.ร.บ.ยา ที่จะเสนอเข้าที่ประชุม ครม.เหตุยังไม่มีการแก้ในประเด็นที่ไม่เป็นไปตามสากล ชี้กระทบต่อระบบยา ความปลอดภัยการใช้ยาของประชาชน และอุปสรรคการพัฒนาอุตสาหกรรมยาของประเทศ จี้ทบทวนใหม่ พร้อมแก้ไข ก่อนเสนอเข้า ครม.
เว็บไซต์แนวหน้า : 23 ก.พ. 59 เวลา 10.00 น. ที่ศูนย์บริการประชาชน สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ฝั่งสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มเภสัชกรเพื่อมวลชน กลุ่มเภสัชกรภาคใต้ นำโดยนายสงัด อินทร์นิพัฒน์ เลขาธิการกลุ่มเภสัชกรเพื่อมวลชน และนางวนิดา บัวแย้ม ประธานกลุ่มเภสัชกรภาคใต้ เดินทางเข้ายื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ผ่านนายพันธ์ศักดิ์ เจริญ หัวหน้าฝ่ายประสานมวลชน ศูนย์บริการประชาชนเพื่อคัดค้านร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ. ) ยา พ.ศ. ... ที่เตรียมเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)ให้ความเห็นชอบ
นายสงัด กล่าวว่า ทางกลุ่มเภสัชฯ และกลุ่มเภสัชกรภาคใต้ไม่เห็นด้วยที่จะนำร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับที่กฤษฎีกา ผ่านความเห็นชอบและกระทรวงสาธารณสุขได้ทำเอกสารเป็นมติที่ประชุมของตัวแทนสหวิชาชีพ เมื่อวันที่ 27 ต.ค.2557 ที่จะนำเสนอให้ ครม.เห็นชอบ เพราะเห็นว่ายังไม่มีการปรับแก้ไขในบางประเด็นที่ไม่เป็นไปตามสากลและก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบยาของประเทศ รวมถึงสวัสดิภาพและความปลอดภัยในการใช้ยาของประชาชน อีกทั้งยังเป็นอุปสรรคในการพัฒนาอุตสาหกรรมยาในการแข่งขันกับภูมิภาคอาเซียน
ทั้งนี้ กลุ่มตัวแทนเภสัชฯขอเรียกร้องให้มีการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว โดยให้ทบทวนการแบ่งประเภทยา ควรแบ่งเป็น 3 ประเภทตามหลักสากล คือ ยาที่ต้องใช้ใบสั่งยา ยาที่เภสัชเป็นผู้สั่งจ่าย และยาที่ประชาชนเลือกใช้ได้เอง เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นการเปิดโอกาสให้ทุกวิชาชีพสามารถจ่ายยาได้ ซึ่งอาจส่งผลต่อความปลอดภัยของผู้ป่วย และขอให้ตัดข้อยกเว้นมาตรา 24 (2) ออก ที่ระบุให้ผู้ประกอบวิชาชีพไม่ต้องขออนุญาตผลิต ขาย หรือนำเข้ายาแผนปัจจุบัน ยาแผนไทย และยาแผนทางเลือก ที่เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ที่ไม่ใช่เภสัชกรสามารถผสมยาได้เอง
และควรทบทวนประเด็นที่ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญจัดการประกอบการด้านยา เช่น การผลิตยาแผนไทยในระดับอุตสาหกรรม ควรให้เภสัชกรเป็นผู้ควบคุม นอกจากนี้ ยังไม่มีข้อห้ามในการขายยาชุด ไม่มีข้อกำหนดความรับผิดทางแพ่งสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพที่ได้รับการยกเว้นตามมาตรา 159 และไม่มีโทษทางปกครอง อีกทั้งยังสามารถโฆษณายาได้ทุกประเภทและโฆษณายารักษาโรคร้ายแรง โดยไม่กำหนด
ทางกลุ่มเภสัชฯ จึงขอคัดค้านและขอให้ทบทวนร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว เพื่อให้ประเทศและประชาชนได้รับการคุ้มครองอย่างปลอดภัย เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสากล จึงขอให้มีการปรับแก้ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว และนำฉบับที่ปรับแก้แล้วเสนอให้ที่ประชุมครม.ก่อนเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อไป
ขอบคุณที่มา: http://www.naewna.com
- 13 views