สหวิชาชีพสาธารณสุขกลุ่ม พกส.สธ. ที่ได้รับบรรจุ ขรก. ส่งหนังสือถึง สธ.-ก.พ.ทวงถามความคืบหน้าแก้ปัญหา หลังถูกดองเกือบ 2 ปี เหตุ ก.พ.ตีมึน ไม่เข้าใจตำแหน่ง พกส. ตัดสิทธิรับเกื้อกูลตามหนังสือ ก.พ.154 อ้างหลักเกณฑ์ระบุต้องอยู่ในตำแหน่งลูกจ้างชั่วคราวจนถึงวันบรรจุ ขรก.เท่านั้น ทั้งที่ พกส.เป็นนโยบาย สธ. ส่งผลเหลื่อมล้ำค่าตอบแทน ค่าวิชาชีพ และความก้าวหน้า เผยมี ขรก.สธ.บรรจุใหม่ได้รับกระทบเกือบหมื่นคน วอนขอแค่คืนสิทธินับรวมอายุราชการช่วงตำแหน่งลูกจ้างชั่วคราวเพื่อขึ้นระดับชำนาญการ พร้อมระบุให้เวลา 30 วัน หากไม่คำตอบเตรียมเคลื่อนไหวบุกขอความเป็นธรรมถึง สธ.และ ก.พ.
นายธรรมนูญ ติณโสภารัตน์ ผู้ประสานงานเครือข่ายข้าราชการบรรจุจาก พกส.ขอนับเวลาเกื้อกูล ที่ได้รับผลกระทบจากบรรจุเป็นพนักงานกระทรวงสาธารณสุข (พกส.) ทำให้ไม่สามารถได้รับสิทธิเกื้อกูลตามหนังสือสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ที่ นร 1008.1/154 ลงวันที่ 6 มิถุนายน 2556 ภายหลังการบรรจุเป็นข้าราชการ เปิดเผยว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาได้ทำหนังสือในนามสหวิชาชีพที่ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการ รอบ 2 และ 3 ตามมติ ครม.ปี 2555 ส่งไปยังกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และ ก.พ. เพื่อขอความเป็นธรรมในการรับสิทธิเกื้อกูลตามหนังสือ ก.พ. ที่ นร 1008.1/154 (ก.พ.154) โดยเฉพาะการรวมนับอายุราชการในขณะที่ยังเป็นลูกจ้างชั่วคราว เช่นเดียวกับผู้ที่ได้รับบรรจุเป็นข้าราชการในรอบแรก ตามมติ ครม.ปี 2555
ทั้งนี้เนื่องจากในระหว่างที่รอการบรรจุเป็นข้าราชในรอบที่ 2 นั้น สธ.ได้มีการปรับเปลี่ยนลูกจ้างชั่วคราวที่ไม่เกินค่า FTE เป็น พกส.ในสมัย นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงสาธารณสุข ส่งผลให้ลูกจ้างชั่วคราว สธ.ขณะนั้นเกือบทั้งหมดเป็น พกส.แต่ภายหลังจากที่กลุ่ม พกส.ได้รับการบรรจุข้าราชการ ตามมติ ครม.ปี 2555 ในรอบที่ 2 เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2556 ปรากฎว่าไม่สามารถรับสิทธิเกื้อกูลตามหนังสือ ก.พ.154 ได้ เพราะได้มีการระบุให้สิทธิเฉพาะผู้ที่เป็นลูกจ้างชั่วคราวจนถึงวันรับการบรรจุข้าราชการเท่านั้น โดยพวกตนมีตำแหน่ง พกส.มาคั่นกลาง ประกอบกับ ก.พ.เองไม่เข้าใจว่า พกส.คืออะไร จึงให้ระงับสิทธิ ก.พ.154 ของกลุ่ม พกส.ก่อน ทำให้เสียสิทธิที่ควรได้รับ ทั้งในส่วนของเงินเดือน ค่าตอบแทน และการนับอายุราชการ
อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา สธ.ได้พยายามทำรายละเอียดชี้แจงเกี่ยวกับ พกส.ว่าคืออะไร และมีสิทธิอะไรบ้าง โดยมีการทำข้อมูลและตารางเพื่ออธิบายชัดเจนและได้นำเสนอต่อ ก.พ.ถึง 5 ครั้งแล้ว แต่จนถึงขณะนี้เป็นเวลาผ่านมา 2 ปีนับตั้งแต่มีการร้องเรียน ยังไม่มีการพิจารณาดำเนินการใดๆ ในเรื่องนี้จาก ก.พ. ซึ่งในการบรรจุเป็น พกส.นั้น แม้ว่า สธ.จะไม่ได้บังคับ แต่ด้วยที่ผู้ใหญ่ในขณะนั้นไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่า หากไม่บรรจุ พกส.จะเป็นอย่างไร ซ้ำยังมีการระบุด้วยว่า หากไม่เป็น พกส.อาจไม่ได้รับพิจารณาบรรจุรอบ 2 ขณะที่บางจังหวัดยังเป็นนโยบายบังคับ ทำให้ลูกจ้างชั่วคราวเกือบทั้งหมดเข้าเป็น พกส. ซึ่งหากทราบว่าไม่สามารถนับต่ออายุราชการได้ คงไม่มีการเข้าเป็น พกส.แน่นอน
นายธรรมนูญ กล่าวว่า จากผลกระทบที่ไม่สามารถนำอายุการทำงานลูกจ้างชั่วคราวมาหนุนเสริมเพื่อขึ้นสู่ระดับชำนาญการได้นั้น ไม่เพียงแต่จะส่งผลต่อการประเมินขั้นและเงินเดือน แต่ยังทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างผู้ที่ได้รับการบรรจุในรอบแรกและรอบที่ 2 แม้ว่าจะมีอายุงานห่างกันเพียงปีเดียว แต่เงินเดือนต่างกัน 3,000-4,000 บาท ยังไม่รวมค่าตำแหน่งและวิชาชีพ ซ้ำยังได้ทำชำนาญการ เพียงเพราะผู้บรรจุรอบหลังมี พกส.กั้นอยู่ ซึ่งบางคนเป็นลูกจ้างชั่วคราวมานานถึง 4 ปี แต่เป็น พกส.เพียงแค่ 6 เดือน ส่วนตนเองเป็นพยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราวมานานถึง 5 ปี แต่เป็น พกส.นับถึงวันนี้เพียง 2 ปี แต่หลังบรรจุเป็นข้าราชการกลับต้องเริ่มต้นนับอายุราชการบรรจุใหม่ โดยไม่สามารถนำระยะเวลาการทำงานในตำแหน่งลูกจ้างชั่วคราวมาหนุนเสริมได้
คาดว่ามีผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการบรรจุในรอบ 2 ประมาณ 3,000 คน และในรอบ 3 ที่บรรจุข้าราชใหม่ 7,500 คน คาดว่ามีผู้ได้รับผลกระทบจาก พกส. และหนังสือ ก.พ. 154 อีกไม่น้อยกว่าร้อยละ 80
“เรื่องนี้หากถามว่าใครผิดก็คือ สธ. กับ ก.พ.ไม่คุยกันก่อนที่จะออกเป็นสิทธิประโยชน์ ก.พ.154 ซึ่งหนังสือ ก.พ.ฉบับนี้ส่งผลกระทบต่อหลายกลุ่มวิชาชีพ ซึ่งเราขอไม่เรียกร้องในส่วนค่าตอบแทน แต่ขอให้มีการนับอายุราชการในช่วงอยู่ในตำแหน่งลูกจ้างชั่วคราวแทน เราขอแค่อายุราชการคืน” แกนนำสหวิชาชีพสาธารณสุขที่ได้รับผลกระทบจากบรรจุ พกส. กล่าวและว่า ทั้งนี้อยากให้ ก.พ. พูดคุยรายละเอียดเรื่องนี้กับ สธ. และแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้ปฏิบัติ แต่ที่ผ่านมากลับไม่มีคำตอบแม้ว่าจะมีการส่งหนังสือทวงถามเรื่องนี้ไปยัง ก.พ.หลายรอบแล้ว โดยผ่านทาง สธ. และศูนย์รับเรื่องร้อนเรียน สำนักนายกรัฐมนตรี
นายธรรมนูญ กล่าวว่า เรื่องนี้เมื่อก่อนเราเคลื่อนไหวเฉพาะสายวิชาชีพเดียวคือพยาบาล แต่เมื่อไม่มีผลอะไร จึงได้รวมกลุ่มทุกวิชาชีพที่ได้รับผลกระทบเพื่อเคลื่อนไหวและเรียกร้องความเป็นธรรมร่วมกัน ซึ่งหลังจากส่งหนังสือทวงถามความคืบหน้าไปยัง สธ.และ ก.พ.แล้ว โดยตัวแทนแต่ละวิชาชีพหารือกันว่า หาก 30 วันยังไม่ได้รับคำตอบอีก คงต้องเคลื่อนไหวไปขอคำตอบทั้งจาก สธ.และ ก.พ.
ผู้สื่อข่าวถามว่า ในฐานะผู้ปฎิบัติงานรู้สึกอย่างไรกับปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ นายธรรมนูญ กล่าวว่า รู้สึกขาดขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ และมองว่าการที่ข้างบนจะทำอะไรก็อยากให้มีความเท่าเทียมกัน เมื่อเกิดความผิดพลาดก็ควรเร่งหาทางออกให้เร็วที่สุด เพราะผู้ที่ได้รับผลกระทบคือผู้ปฏิบัติงานระดับล่าง ซึ่งปัญหาผลกระทบจากหนังสือ ก.พ.154 เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2557 แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่ได้รับการแก้ไขจาก ก.พ.
ต่อข้อซักถามว่า มองอย่างไรที่ดูเหมือนกระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานเดียวที่มีปัญหาบุคลากรออกมาเรียกร้องแก้ไขปัญหาต่อเนื่อง นายธรรมนูญ กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาของผู้ใหญ่ระหว่าง สธ.และ ก.พ. ที่ไม่มีการบูรณาการร่วมกัน หากทั้ง 2 หน่วยงานเข้าใจกัน เวลาผู้ปฏิบัติงานยื่นหนังสือไปก็จะน่าจะมีการดำเนินการเพื่อให้ความเป็นธรรมบ้าง และปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากผู้ปฏิบัติงานระดับล่าง แต่กลับเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินการในระดับบน อย่างไรก็ตามทราบมาว่าในช่วงการทำหนังสือ ก.พ.154 สธ.ได้เคยทำหนังสือไปยัง ก.พ.ขอให้รวมลูกจ้างชั่วคราวและตำแหน่งอื่นๆ ด้วย ในที่นี้รวมถึง พกส. ซึ่ง ก.พ.บอกว่ากลุ่มอื่นเข้าใจ แต่ไม่เข้าใจ พกส.
- 112 views