หลายทศวรรษมาแล้วที่คุณค่าของ "น้ำนมแม่" ถูกบั่นทอนลงด้วยกลยุทธ์ทางการตลาดของบริษัทผู้ผลิตนมผงสำหรับใช้เลี้ยงเด็กทารก สายใยของความรักระหว่างแม่สู่ลูกต่างถูกบั่นทอนลงอย่างเรื่อยมาโดยไม่รู้ตัวเช่นกัน
เป็นเวลากว่า17 ปีมาแล้วที่ นางศิริพรรณ ภัทรศิริกุล อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี ผู้ที่ได้รับรางวัลชัยนาทนเรนทร ประเภทประชาชน ประจำปี 2558 ที่ทำงานด้านแม่และเด็ก รณรงค์ให้คนในพื้นที่หันกลับมาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ศิริพรรณเล่าว่า ก่อนหน้าที่จะมาเป็น อสม.นั้น เดิมมีอาชีพเป็นครู เมื่อตอนที่ตั้งครรภ์นั้น มีความตั้งใจและเตรียมพร้อมที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียว ดังนั้นเมื่อคลอดจึงได้ลาออกจากงานมาเลี้ยงลูกตามที่ตั้งใจไว้ และในปี 2542 เพื่อนๆ ได้ชวนมาทำงานจิตอาสา ด้วยการเป็น อสม.ซึ่งในยุคนั้น อสม.ยังไม่มีเงินเดือนเหมือนทุกวันนี้
ศิริพรรณ ภัทรศิริกุล
เริ่มแรกของการทำงานเป็น อสม. จึงหยิบเรื่องแม่และเด็ก โดยดึงเอาเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียวอย่างน้อย 6 เดือนขึ้นมาทำ เพราะเห็นว่า เป็นเรื่องที่ใกล้ตัว คือ เป็นแม่ลูกอ่อน จึงใช้ตัวเองเป็นกรณีศึกษา และเป็นตัวอย่างทำให้ชาวบ้านในพื้นที่เห็นว่า เราทำได้จริง
สาเหตุที่ศิริพรรณ รณรงค์ให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่นั้น เนื่องจากตระหนักดีถึงคุณประโยชน์มหาศาล แต่ในยุคนั้นไม่มีใครรณรงค์เรื่องนี้กัน ประกอบกับค่านิยมของคนรุ่นก่อนๆ ที่จะให้เด็กหย่านมแม่เมื่ออายุครบ 3 เดือน และให้อาหารเสริมประเภท กล้วย ข้าวต้มแทน แต่ในทางกลับกันผลการวิจัยทางวิชาการพบว่า การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่างทำให้ทารกมีภูมิคุ้มที่ดีให้กับร่างกาย
การทำงานจึงเริ่มต้นด้วยการตั้งชมรมสายใยรักขึ้นมาในโรงพยาบาล
“เราพบว่าสาเหตุที่ชาวบ้านไม่นิยมเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ นอกจากมีสาเหตุมาจากค่านิยมของคนรุ่นก่อนที่ให้เด็กหย่านมตอนอายุ 3 เดือนแล้ว อีกสาเหตุหนึ่งคือ ในพื้นที่ตำบลท่าม่วง ในภาพรวมเป็นชุมชนเมือง ผู้คนส่วนใหญ่เน้นเรื่องของความสะดวกสบาย การให้ความรู้เรื่องประโยชน์ของนมแม่ จะเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ปรับทัศนคติของชาวบ้านที่เลี้ยงลูกด้วยนมผง โดยมีดิฉันเป็นตัวอย่างของคนเป็นแม่ที่ต้องทำงาน แต่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มาอย่างต่อเนื่อง” ศิริพรรณ กล่าว
และนี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่หันมาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว ซึ่งใช้เวลากว่า 2 ปี ถึงได้ขยายไปยังพื้นที่ต่างๆ และจากการสำรวจในพื้นที่ ปี 2554-2556 พบว่ามีการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สูงถึง 62% การรณรงค์เลี้ยงลูกด้วยนมแม่จึงมีการขยายไปยังพื้นที่ต่างๆ เช่น อำเภอเมือง อำเภอสังขละ
ศิริพรรณ กล่าวว่า การทำงานไม่ได้หยุดเพียงเท่านี้ ได้ดึงกลุ่มผู้สูงอายุให้เข้ามามีบทบาทในสังคมมากขึ้น ด้วยการสร้างคุณค่าให้กับผู้สูงอายุโดยการเชื่อมกลุ่มคนสามว้ยเข้ามาอยู่ร่วมกัน โดยให้ผู้สูงอายุที่มีหน้าที่เลี้ยงหลาน เป็นผู้เล่านิทานหรือทำกิจกรรมต่างๆ ที่จะสอดแทรกเรื่องประโยชน์ของนมแม่เข้าไปด้วย ซึ่งการมีกิจกรรมให้ผู้สูงอายุทำ จะทำให้เขารู้สึกว่า ผู้สูงอายุมีคุณค่ากับสังคม
นอกจากนี้ ยังได้มีการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ช่วยส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วย อาทิ "ครูเอี๊ยม" ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่ให้พ่อได้เรียนรู้ถึงการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ครูเอี๊ยมจะประกอบด้วยเต้านม 2 ข้างที่มีน้ำหนักไม่เท่ากัน มีกระเป๋าหน้าท้องเหมือนจิงโจ้ ที่มีน้ำหนักเหมือนคนท้อง ให้พ่อสวมใส่ เพื่อให้คนที่เป็นพ่อรู้สึกถึงความยากลำบากในกรณีที่น้ำนมไหลหรือไม่ไหล จะทำให้เขารู้สึกและหันมาดูแลเอาใจใส่ภรรยามากขึ้น หรือเรียกง่ายๆ ว่า เป็นวิธีสอนการให้นมลูกนั่นเอง
ส่วนวิธีการเก็บน้ำนมก็เป็นวิธีที่สำคัญ ที่จะช่วยให้คนเป็นแม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่มากขึ้น ด้วยการส่งเสริมให้แม่ที่ต้อง ทำงานนอกบ้าน ทำการเก็บน้ำนมของตนเองด้วยวิธีการแช่แข็งน้ำนมเหมือนทำไอศกรีม จากนั้นระหว่างเดินทางกลับจะใส่กระติกน้ำแข็งที่ใส่เกลือ หรือห่อในกระดาษหนังสือพิมพ์ ทั้งสองวิธีนี้สามารถเก็บน้ำนมไม่ให้ละลายได้ถึง 4 ชั่วโมง สามารถส่งทางรถทัวร์ได้สำหรับในกรณีที่แม่ต้อง ทำงานต่างพื้นที่
ขณะเดียวกัน ศิริพรรณ ยังได้ผลิตนวัตกรรมต่างๆ ที่มุ่งให้เกิดสายใยรักจากแม่สู่ลูกอีก เช่น "หมอนทรายสายใยรัก" ที่ใช้สำหรับประคองเต้านมและหน้าท้อง หรือ "สายสวรรค์ หูฟังสื่อรัก" ที่ใช้สำหรับพูดคุยกับทารกในครรภ์
ศิริพรรณ กล่าวว่า ปัญหาในการทำงานที่ผ่านมา ถือว่าพบน้อยมาก ซึ่งอาจเป็นผลมาจากที่ตนเองทำงานเรื่องนมแม่มาอย่างต่อเนื่องก็เป็นได้ ส่งผลให้ตำบลท่าม่วงเป็นตำบลนมแม่ และมีการขยายผลไปยังพื้นที่ข้างเคียงอีกด้วย
และในปีที่ผ่านมา ศิริพรรณได้รับรางวัลนักการสาธารณสุขดีเด่น รางวัลชัยนาทนเรนทร ประจำปี 2558 ประเภทประชาชน ซึ่งศิริพรรณ บอกว่า รางวัลที่ได้รับนับได้ว่าเป็นเกียรติอย่างสูงสุด ไม่เคยคาดหวังไว้เลยว่าจะได้รางวัลดังกล่าว แต่ในการทำงานจะมีหลักว่า "ทำวันนี้ให้ดีที่สุด อย่าละทิ้งสิ่งที่ทำ และในเวลาที่ต้องทำกิจกรรมอย่าตั้งความหวังไว้สูง"
- 42 views