14 องค์กรลงนามความร่วมมือส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค และจัดบริการอาชีวอนามัย ให้กลุ่มแรงงานนอกระบบ 22.1 ล้านคน
เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2559 ที่โรงแรมปริ๊นซ์พาเลซ มหานาค กรุงเทพฯ นพ.อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดการประชุม “สุขภาพความปลอดภัยของแรงงานนอกระบบสู่คุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจที่ดี” และพิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) “ในการส่งเสริมป้องกันโรคจากการประกอบอาชีพ สำหรับกลุ่มแรงงานนอกระบบ” ร่วมกับเครือข่าย 14 องค์กร ได้แก่ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน, กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน, สำนักงานประกันสังคม, กรุงเทพมหานคร, กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น, องค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย, สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย, สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย, สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข, กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ, กรมการแพทย์ และกรมควบคุมโรค
นพ.อำนวย กล่าวว่า กลุ่มแรงงานนอกระบบ เป็นแรงงานส่วนใหญ่ของประเทศไทย ซึ่งเป็นกลุ่มแรงงานที่ไม่ได้รับการคุ้มครองด้านสุขภาพจากระบบประกันสังคม โดยจากประชากรที่มีงานทำ 38.4 ล้านคน มีแรงงานนอกระบบ 22.1 ล้านคน คิดเป็น 57.6% (ข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2557) ซึ่งพบว่าแรงงานกลุ่มนี้มีปัญหาเกี่ยวกับโรคจากการประกอบอาชีพ เช่น สภาพแวดล้อมการทำงานที่มีฝุ่น ควัน และเสี่ยงต่อสารเคมีและเครื่องจักรที่เป็นอันตราย รวมทั้งการเข้าถึงบริการอาชีวอนามัย
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จึงได้ร่วมกับภาคีเครือข่าย ทั้งภาครัฐ เอกชน และเครือข่ายแรงงานต่างๆ ร่วมจัดทำโครงการนำร่องเพื่อพัฒนาระบบและองค์ความรู้การดูแลสุขภาพจากการประกอบอาชีพของแรงงานนอกระบบมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในระดับกระทรวง และเขตสุขภาพ/เขต สปสช. และเชื่อมโยงการจัดบริการอาชีวอนามัยในระดับนโยบายสู่การปฏิบัติในพื้นที่ ให้ได้ตามมาตรฐานที่กำหนด สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ และมีระบบข้อมูลในการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคและภัยสุขภาพจากการประกอบอาชีพ ที่สามารถนำมาใช้เป็นประโยชน์ต่อพื้นที่ รวมทั้งสามารถนำมาประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบายในการพัฒนาและขยายระบบการจัดบริการอาชีวอนามัยให้ครอบคลุมทั่วประเทศ
โดยในระยะแรกจะเริ่มดำเนินการใน 5 กลุ่มเสี่ยงที่สำคัญ ได้แก่
1.กลุ่มเกษตรประเภทเพาะปลูก กลุ่มที่มีความเสี่ยงด้วยโรคพิษสารกำจัดศัตรูพืช รวมทั้งปัญหาโรคกระดูกและกล้ามเนื้อ
2.กลุ่มแกะสลักหิน ที่เสี่ยงต่อโรคปอดฝุ่นหิน
3.กลุ่มคนเก็บและคัดแยกขยะ ทั้งขยะทั่วไปที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ เช่น ท้องเสีย ท้องร่วง ของมีคมบาดทิ่มแทง และขยะอิเล็กทรอนิกส์ ที่มีโอกาสสัมผัสโลหะหนัก เช่น ปรอท แคดเมียม ตะกั่ว เป็นต้น
4.กลุ่มผู้ขับขี่รถแท็กซี่ เฉพาะในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล มีผู้ขับขี่รถแท็กซี่ประมาณ 120,000 คน และมีผู้โดยสารแท็กซี่เฉลี่ย 1.2 ล้านคนต่อวัน ซึ่งในกลุ่มนี้มีความเสี่ยงติดเชื้อวัณโรคและไข้หวัดใหญ่
และ 5.กลุ่มตัดเย็บผ้าและผลิตภัณฑ์จากผ้า ที่เสี่ยงโรคปอดฝุ่นฝ้าย ภูมิแพ้/ระคายเคือง ของมีคมบาดทิ่มแทง
โดยมีเป้าหมายการดำเนินงานในระยะแรกนี้ จำนวน 6.2 แสนราย และขยายให้ครอบคลุมกลุ่มเสี่ยงที่สำคัญ จำนวนประมาณ 10.5 ล้านคน ภายในปี 2563 และครอบคลุมทุกกลุ่มทุกคน (ประมาณ 22.1 ล้านคน) ภายในปี 2564 เป็นต้นไป
นพ.อำนวย กล่าวต่อว่า การลงนามครั้งนี้เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในการดำเนินงานขับเคลื่อนนโยบายการส่งเสริมป้องกันโรคจากการประกอบอาชีพสำหรับกลุ่มแรงงานนอกระบบร่วมกัน รวมทั้งการรักษา และฟื้นฟูสุขภาพ ในระดับนโยบายจนถึงระดับปฏิบัติ อย่างเป็นรูปธรรม ตลอดจนสร้างกลไกการดำเนินงานให้เอื้อต่อการดูแลสุขภาพกลุ่มแรงงานนอกระบบในระดับพื้นที่ ที่เชื่อมโยงและสอดรับแนวนโยบายของรัฐบาล และแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแรงงานนอกระบบ โดยการดำเนินงานแยกเป็น 3 ระยะ ดังนี้
1.ระยะสั้น แรงงานนอกระบบกลุ่มเสี่ยงที่สำคัญ ทั้งกลุ่มเกษตรกร กลุ่มแกะสลักหิน คนเก็บขยะ กลุ่มแท็กซี่ และกลุ่มตัดเย็บผ้า/ผลิตภัณฑ์จากผ้า ได้รับบริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคและภัยสุขภาพจากการทำงาน
2.ระยะกลาง แรงงานนอกระบบทุกกลุ่มอาชีพที่มีความเสี่ยงทางสุขภาพ ได้รับบริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคและภัยสุขภาพจากการทำงาน
และ 3.ระยะยาว แรงงานนอกระบบทุกกลุ่มอาชีพ เข้าถึงบริการอาชีวอนามัยที่มีคุณภาพ
สำหรับการจัดบริการอาชีวอนามัย เพื่อส่งเสริมและป้องกันโรคและภัยสุขภาพในกลุ่มแรงงานนอกระบบ แบ่งออกเป็น 4 ชุด คือ
1.ชุดการตรวจคัดกรอง/ประเมินความเสี่ยงทางสุขภาพและสภาพแวดล้อมในการทำงาน
2.ชุดการป้องกัน ควบคุมโรคและภัยสุขภาพจากการทำงาน
3.การจัดการความเสี่ยงโรคและภัยสุขภาพจากการทำงาน
และ 4.การพัฒนาบุคลากรในโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ภาคประชาชน และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)
หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422
- 5101 views