นสพ.กรุงเทพธุรกิจ : ค้านใช้ ม.44 แก้ปัญหาระบบหลักประกันสุขภาพ นักกฎหมายชี้ผลการตีความของกฤษฎีกาไม่ปิดประตูทำลายระบบ แนะจับมือฝ่ายบริหารหาทางออกร่วมกัน
เมื่อวันที่ 6 ก.พ.59 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดราชดำเนินเสวนา หัวข้อ “กฤษฎีกาตีความ ทำลายระบบหลักประกัน? ผลกระทบและทางออก” โดยมีนักกฎหมายและภาคประชาชนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม
นายศุมล ศรีสุขวัฒนา ที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมายสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า หลังจากที่มีการตรวจสอบการใช้งบประมาณของ สปสช. ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความว่ามีการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติผิดพลาด ผิดกฎหมาย ซึ่งมีการตั้งข้อสังเกตในการตีความหลายประการ เช่น ประเด็นสามารถจ่ายเงินช่วยเหลือชดเชยผู้ให้บริการได้หรือไม่ การจัดสรรเงินค่าเหมาจ่ายรายหัวที่ให้ไปแต่ละโรงพยาบาลใช้เรื่องอื่นๆ ได้หรือไม่ สามารถนำงบประมาณไปให้มูลนิธิหรือองค์กร เช่น ยาบางประเภทที่มีราคาสูงได้หรือไม่ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม หากมีการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 มาตรา 44 ในการแก้ไขปัญหาจริงๆ อาจเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่จะเกิดความไม่ยั่งยืน ตนคิดว่าทางออกที่ดีคือการวางระบบ วิกฤตินี้น่าจะเป็นประโยชน์ จึงอยากให้ทั้ง 2 ฝ่ายเข้าใจบริบท ทั้งคณะกรรมการ สปสช.ต้องทบทวนกระบวนการปัญหาที่ผ่านมา และในส่วนของผู้ตรวจสอบนั้น อยากให้ตระหนักในภารกิจที่จะทำอย่างไรให้เกิดประสิทธิภาพประสิทธิผลการใช้งบประมาณของรัฐเกิดประโยชน์สูงสุด
ส่วนการดำเนินงานของ สปสช.นั้น จะส่งเรื่องไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อทบทวนคำวินิจฉัย เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการจัดบริการให้กับประชาชน และมีแนวโน้มแก้ไขกฎหมายเพื่อให้ครอบคลุมการดำเนินงาน
ด้าน ภญ.ดาริน จึงพัฒนาวดี เภสัชกรจากโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช จ.เลย กล่าวว่า โรงพยาบาลชุมชนที่ถูกกฤษฎีกาตีความว่าเงินที่สนับสนุนให้กับโรงพยาบาลชุมชนนั้น ไม่สามารถนำไปใช้ชำระค่าน้ำ หรือค่าไฟได้ จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานในระบบได้ รวมถึงการบริการสาธารณสุขในชุมชนนั้น ขณะนี้ได้รับความร่วมมือจากอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) แต่ อสม.ต้องได้รับการอบรมและให้ความรู้ด้านต่างๆ
เช่น การตรวจสารบอเร็กซ์, สารอันตรายในยาลูกกลอน ซึ่งทั้งหมดมีค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น และหากโรงพยาบาลในชุมชนเกิดวิกฤตการเงินขั้นสูงสุดระดับ 7 อาจส่งผลกระทบต่อการให้บริการสาธารณสุขกับประชาชนได้ โดยเฉพาะการจัดซื้อยาที่มีราคาแพงและเป็นโรคเฉพาะ เช่น โรคไต เป็นต้น
ขณะที่ น.ส.สุรีรัตน์ ตรีมรรคา ผู้ประสานงานกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า ระบบหลักประกันสุขภาพเป็นกฎหมายที่ประชาชนมีส่วนร่วม กฎหมายถูกร่างขึ้นมาโดยเจตนารมณ์ให้ทุกคนเข้าถึงการบริการสาธารณสุข แต่ที่ผ่านมาไม่สามารถเอาเงินกองทุนไปจ่ายให้กับบุคลากรที่ติดวัณโรคหรืออุบัติเหตุ เพราะกฎหมายหลักประกันสุขภาพไม่ชัดเจน
ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อย่าเพิ่งใช้มาตรา 44 ในการแก้ปัญหา เพราะไม่มีประโยชน์ อยากให้เปิดโอกาสคณะกรรมการ สปสช.ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพจะดีกว่า
ส่วน นายธนพล ดอกแก้ว ประธานชมรมเพื่อนโรคไต และเครือข่ายผู้ป่วย กล่าวว่า ทางเครือข่ายกังวลต่อการตีความของกฤษฎีกา ทั้งการจ่ายเงินให้กับแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะ เช่น วางสายหน้าท้องที่มีจำกัด และต้องทำงานภายในเวลาราชการ ทั้งที่ข้อเท็จจริงผู้ป่วยโรคไตไม่สามารถรอได้ และหากได้รับบริการช้าลงจะเสี่ยงอันตรายต่อชีวิตและกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ดังนั้นเมื่อตัดส่วนของการจ่ายเงินนอกเวลาให้กับแพทย์ที่เชี่ยวชาญดังกล่าวอาจกระทบต่อผู้ป่วย ทั้งนี้ทางกลุ่มมีข้อสงสัยด้วยว่าการตีความกฎหมายของกฤษฎีกามีเงื่อนงำหรือไม่
ขณะที่ นายกิตติศักดิ์ ปรกติ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ปัญหาทั้งหมดเป็นปัญหาวนอยู่กับความเข้าใจการตีความกฎหมาย การบริหารงานให้เป็นไปตามกฎหมาย และหลักพื้นฐานเบื้องต้นต้องใช้อำนาจอยู่บนพื้นฐานของกฎหมาย ซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้มาตรา 44 เพราะทางออกอยู่ใน พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และคณะกรรมการ สปสช. เหตุที่คณะกรรมการกฤษฎีกาไม่ตีความมา เนื่องจากคณะกรรมการ สปสช.ยังไม่ได้กำหนดชัดเจน
“ผมเห็นว่าการตีความนั้นเป็นการวางแนวทางว่า สปสช.จะใช้จ่ายเงินต้องคำนึงถึงกฎหมาย ไม่รั่วไหล และต้องชี้แจงให้ได้ว่าจำเป็นต่อการบริการสาธารณสุขอย่างไร ถ้าอยากให้เรื่องนี้จบ ต้องบริหารงานบนหลักพื้นฐานของกฎหมาย”
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความไม่ได้ปิดประตูตาย ไม่มุ่งไปทำให้ระบบหลักประกันถูกทำลาย แต่อยากให้ระบบนั้นตรวจสอบตัวเอง วางวิธีบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ ดังนั้นบอร์ด สปสช.และฝ่ายบริหารหันหน้าเข้าหากัน ก็สามารถหาทางออกได้
นายกิตติศักดิ์ ระบุด้วยว่า มาตรา 3 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี 2545 เป็นตัวใหญ่สุด แต่การบริหารจัดการบกพร่อง ตนไม่เชื่อว่า สปสช.มีการทุจริต แต่รั่วไหลบ้างเป็นธรรมดา แต่การตีความนี้จะเป็นการเชื่อมโยงทางความคิดในผู้บริหารและสายปฏิบัติชัดเจน และควบคุมในระบบได้ดียิ่งขึ้น เกิดประสิทธิภาพสูงขึ้น ดังนั้นการใช้มาตรา 44 จะทำให้เสียโอกาสเรียนรู้จากข้อเท็จจริง รวมถึงเสียโอกาสการจัดการหลักบัญชีต้นทุน หลักการแพทย์ หลักการตีความกฎหมายด้านการแพทย์ การพัฒนาหลักประกันสุขภาพ
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2559
- 8 views