“หมอโสภณ” ศึกษาดูงาน คลินิกชะลอไตเสื่อม “คลองขลุงโมเดล” นวัตกรรมต้นแบบของประเทศไทย ชะลอความเสื่อมของไตในผู้ป่วยเบาหวาน-ความดันโลหิตสูง ภายใต้การดูแลของสหวิชาชีพ ด้วยอาหาร การออกกำลังกายและการใช้ยาที่เหมาะสม เพื่อช่วยยืดเวลาไตวายจนต้องล้างไตออกไปได้อีก 7 ปี ช่วยประหยัดค่าล้างไตทั่วประเทศปีละหมื่นล้านบาท
เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2559) นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นำคณะผู้บริหารจากส่วนกลางและภูมิภาคทั่วประเทศ เยี่ยมชมการดำเนินงาน คลินิกชะลอไตเสื่อม “คลองขลุงโมเดล” อ.คลองขลุง จ.กำแพงเพชร ที่เป็นต้นแบบความสำเร็จในการชะลอความเสื่อมของไตในผู้ป่วยโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง ภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดของทีมสหวิชาชีพ โดยแนะนำด้านอาหาร การออกกำลังกาย และการใช้ยาที่เหมาะสม เพื่อช่วยยืดเวลาไตเสื่อมไปได้อีก 7 ปี ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการล้างไตที่สูงกว่า 5-6 พันล้านต่อปีในผู้ป่วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และมีแนวโน้มจะสูงมากขึ้นไปเรื่อยๆ เพื่อนำรูปแบบไปขับเคลื่อนภายในแต่ละเขตสุขภาพต่อไป ซึ่งการดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานและความดันโลหิตแบบเข้มข้น จะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการล้างไตในผู้ป่วยทุกสิทธิการรักษาทั่วประเทศ ได้ปีละนับหมื่นล้านบาท
ข้อมูลจากสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย คาดการณ์ว่าคนไทยป่วยเป็นโรคไตวายเรื้อรังประมาณ 8 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้ายประมาณ 2 แสนคน และมีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มปีละประมาณ 1 หมื่นคน สำหรับสาเหตุของโรคไตวายเรื้อรัง ร้อยละ 36.6 มาจากโรคเบาหวาน ร้อยละ 26.8 มาจากโรคความดันโลหิตสูง ไม่ทราบสาเหตุ ร้อยละ 22.8
สำหรับจังหวัดกำแพงเพชร มีผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังประมาณ 2 หมื่นคน มีผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายเพิ่มขึ้นปีละ 15-20 % มีบริการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม 382 คน เป็นผู้ป่วยฟอกเลือดฉุกเฉิน 216 คน ล้างไตทางหน้าท้อง 382 คน ซึ่งผู้ป่วยโรคไต 1 คนค่าใช้เฉลี่ยอยู่ที่ 3 หมื่นบาทต่อเดือน ที่สำคัญคือคุณภาพชีวิตต่ำลง เสี่ยงต่อการติดเชื้อแทรกซ้อนและไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ จึงได้เกิดนวตกรรม “คลองขลุงโมเดล” จากการสนับสนุนของกระทรวงสาธารณสุขและสถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์เป็นคลินิกโรคไตเรื้อรังแบบบูรณาการ มีทีมสหวิชาชีพได้แก่ พยาบาล ประเมินอาการ บันทึกข้อมูล ดัชนีมวลกายรอบเอว แพทย์รักษาเพื่อให้ได้เป้าหมายตามคำแนวทางการรักษา เภสัชกรตรวจสอบวิธีการใช้ยาและปรับตามค่าความเสื่อมของไต สอนอ่านฉลาก หลีกเลี่ยงการใช้ยาแก้ปวดกลุ่มเอ็นเสด (NSAID) โภชนากร/นักกําหนดอาหาร สอนการรับประทานอาหารสําหรับโรคไต อาหารโปรตีนตํ่า อาหารลดเค็ม
นอกจากนี้ ยังมีเครือข่ายเยี่ยมบ้านผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง เจ้าหน้าที่สาธารณสุขใน รพ.สต.แห่งละ 3-5 ท่าน ดูแลผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังร่วมกับ อสม.ในพื้นที่รับผิดชอบ ด้วยบันได 4 ขั้น ป้องกันโรคไต ประกอบด้วย
1. ประเมินการรับประทานอาหารผู้ป่วย บันทึกรายการอาหารและให้คําแนะนําการปรุงอาหารให้เหมาะสมกับผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง
2. วัดความดันโลหิต เก็บข้อมูล
3. ตรวจสอบการใช้ยา
4. ติดตามการออกกําลังกาย
ผลการศึกษาพบความเสื่อมของไต ลดลงช้ากว่าอัตราการเสื่อมปกติของไต ช่วยยืดเวลาล้างไตออกไปได้จากเดิม 7 ปี ออกไปเป็น 14 ปี ช่วยลดค่าใช้จ่ายในผู้ที่ต้องล้างไตที่มีประมาณ 1,000 คน โดยค่าล้างไตประมาณ 200,000 บาท ต่อคน ต่อปี ช่วยลดค่าล้างไต 200 ล้านบาทต่อปี
- 741 views