นสพ.ไทยโพสต์ : รพ.จุฬาฯ เปิดใช้อาคาร "ภูมิสิริมังคลานุสรณ์" เน้นบริการสุขภาพคนไทยทุกชนชั้น ไม่ว่ายากดีมีจนสามารถเข้าถึงได้ เผยห้องพักคนไข้ในมีตั้งแต่คืนละ 800 จนถึง 12,000 บาท
ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชระสินธุ
ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ วันที่ 13 มกราคมนี้ ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชระสินธุ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และคณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แถลงข่าวเปิดอาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ ว่า ปัจจุบันคนไทยต้องการรับการรักษาพยาบาลที่เข้าถึงง่าย รวดเร็ว และมีการดูแลแบบองค์รวม มีความต้องการดูแลสุขภาพตั้งแต่ระดับปฐมภูมิถึงตติยภูมิ ซึ่ง รพ.จุฬาฯ มุ่งหวังที่จะเป็นสถาบันต้นแบบทางการแพทย์ที่มีคุณธรรม ด้วยคุณภาพมาตรฐานระดับนานาชาติ โดยมีแผนขับเคลื่อนด้วยวิสัยทัศน์จุดเปลี่ยนแห่งมิตรภาพ การบริการสุขภาพของคนไทยทุกชนชั้น สู่มาตรฐานสากล ไม่ว่าจะยากดีมีจน ทุกคนสัมผัสได้ด้วยหัวใจกาชาด ซึ่งการก่อสร้างอาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ถือเป็นหนึ่งในแนวทางการขับเคลื่อน เพราะเป็นรูปแบบของโรงพยาบาลระดับพรีเมียมในราคาที่คนไทยทุกชนชั้นพึงจ่ายได้
ศ.นพ.สุทธิพงศ์ กล่าวว่า อาคารดังกล่าวใช้งบประมาณในการก่อสร้าง 1.6 หมื่นล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 6 ปี มีความสูง 29 ชั้น พื้นที่ใช้สอย 22,475.25 ตารางเมตร มีการจัดระเบียบพื้นที่อย่างเป็นสัดส่วน ทั้งรักษาพยาบาล การเรียนการสอน และที่พักอาศัยบุคลากรทางการแพทย์ ขณะนี้ทยอยเปิดใช้แล้วบางส่วน เช่น ชั้น 19 เป็นหอผู้ป่วยสามัญ ชั้น 28 เป็นห้องพิเศษเดี่ยว ชั้น 7 เป็นหน่วยเอกซเรย์หลอดเลือด รังสีร่วมรักษา เป็นต้น
คาดว่าจะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบภายในปลายปี 2559 ทั้งนี้ อาคารดังกล่าวเป็นการให้บริการเฉพาะผู้ป่วยในที่ได้รับการวินิจฉัยว่าต้องได้รับการนอนรักษาตัว ซึ่งอาคารนี้จะรองรับผู้ป่วยทุกสาขา ยกเว้นแผนกกุมารเวชศาสตร์ เนื่องจากมีตึกผู้ป่วยเป็นของตัวเอง
"อาคารนี้มีเตียงผู้ป่วยรองรับได้ประมาณ 1,100 เตียง ชั้น 15-18 เป็นห้องพักผู้ป่วยที่แบ่งออกเป็น 4 ระดับ คือ
1.ชั้น 15-19 เป็นห้องผู้ป่วยสามัญ ขนาดห้องละ 2 เตียง 4 เตียง และ 6 เตียง
2.ห้องพิเศษธรรมดา
3.ห้องพิเศษเดอลักซ์ จะมีโซฟาสำหรับญาตินอนเฝ้า
และ 4.ห้องภูมิสิริสวีท ซึ่งมีการแยกห้องผู้ป่วยและห้องพักญาติภายในห้องขนาดใหญ่ ซึ่งห้องประเภทนี้จะอยู่ที่ชั้น 28 มี 20 ห้อง และจะขยายเพิ่มอีก 20 ห้องในอนาคต
ราคาห้องพักมีตั้งแต่ 800 บาทต่อคืน จนถึง 12,000 บาทต่อคืน ซึ่งรูปแบบในการจัดห้องจะเน้นความสะดวกสะบาย ความสวยงาม วิวทิวทัศน์ เป็นลักษณะโรงพยาบาลเอกชนชั้นนำ แต่ประชาชนเข้าถึงได้ด้วยอัตราค่ารักษาพยา บาลไม่แตกต่างไปจากเดิม คนทุกชนชั้นสามารถจ่ายได้ ให้บริการไม่แยกผู้ป่วยยากดีมีจน ด้วยหัวใจความเป็นกาชาด" ผอ.รพ.จุฬาฯ กล่าว
ศ.นพ.สุทธิพงศ์ กล่าวว่า อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์เป็นการรวมเตียงผู้ป่วยมาอยู่ในพื้นที่เดียวกัน ทำให้เกิดความสะดวกในการรับการรักษา โดยจะทยอยย้ายเตียงที่กระจัดกระจายตามตึกต่างๆ มาอยู่ในอาคารนี้ ซึ่งตึกที่มีเตียงผู้ป่วยในเดิมนั้น หากเป็นตึกอนุรักษ์ที่ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานมีประมาณ 8-9 ตึก จะอนุรักษ์ไว้เช่นเดิม โดยปรับเป็นพื้นที่ของสำนักงานแทน ไม่มีให้ผู้ป่วยพัก ส่วนตึกอื่นๆ จะทุบทิ้ง โดย 30% จะปรับเป็นพื้นที่สีเขียว มีการสร้างตึกใหม่สำหรับดูแลผู้ป่วยสูงอายุ และเป็นสำนักการแพทย์ เป็นต้น.
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่ 14 มกราคม 2559
ทั้งนี้ การจัดสร้างอาคาร “ภูมิสิริมังคลานุสรณ์” อาคารรักษาพยาบาลรวมเฉลิมพระเกียรติฯ และศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ เป็นโครงการขนาดใหญ่มาก สามารถรองรับผู้ป่วย IPD ได้ถึง 1,332 เตียง
อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์จะช่วยแก้ไขปัญหา นับตั้งแต่ความไม่เป็นหมวดหมู่และปัญหาโครงสร้างอาคารรักษาพยาบาลที่กระจัดกระจายไม่เป็น one – stop service ทำให้เสียเวลาในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย ซึ่งอาจเกิดความเสี่ยงได้ แก้ไขปัญหาความไม่พอเพียงและการกระจายของ “ห้อง ICU” “ ห้องผ่าตัด” ที่เดิมกระจายอยู่ตามตึกต่างๆ ไม่สามารถใช้ทรัพยากรร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้สิ้นเปลืองทรัพยากร และห้องฉุกเฉินยังมีขนาดคับแคบ ไม่สามารถให้บริการได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และห้องพักสำหรับผู้ป่วยไม่เพียงพอ
อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์เป็นศูนย์รวมการบริการทางการแพทย์ที่ครบวงจรภายในที่เดียว “one – stop service” ด้วยความสูง 29 ชั้น มีพื้นที่ใช้สอย 224,752.25 ตารางเมตร มีการจัดระเบียบพื้นที่อย่างเป็นสัดส่วน ( Zoning ) โดยแยกเป็น พื้นที่การรักษาพยาบาล / พื้นที่การเรียนการสอน / พื้นที่พักอาศัย เป็นต้น ปัจจุบันนี้หน่วยงานต่างๆ ที่กระจายอยู่ตามตึกย่อยๆ ภายในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เริ่มทยอยเปิดให้บริการในอาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์แล้ว อาทิ
ชั้น 19 หอผู้ป่วยสามัญ + ระบบการทำความสะอาด
ชั้น 28 ห้องพิเศษเดี่ยว
ชั้น 7 หน่วยเอ็กซเรย์หลอดเลือด รังสีร่วมรักษา
ชั้น 2 ศูนย์การวินิจฉัยด้วยภาพ (Imaging center) ,MRI-เวชศาสตร์นิวเคลียร์
นอกจากความพร้อมในการเปิดให้บริการของอาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ และศูนย์ต่างๆ ในแต่ละชั้นยังมีความพร้อมในเรื่องของความสะอาดและมีระบบความปลอดภัยที่เป็นเลิศ โดยแบ่งประเภทพื้นที่ตามความเสี่ยงตามมาตรฐาน NHS-National Patient Safety Agency จากประเทศอังกฤษ ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ตั้งแต่พื้นที่ที่มี
1).ความเสี่ยงสูงมาก เช่น ห้องผ่าตัด ห้องคลอด ห้องผู้ป่วยติดเชื้อ
2).พื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น แผนกฉุกเฉินแผนกปลอดเชื้อ ห้องแล็บ แผนกเนรสเซอรี่
3).พื้นที่ที่มีความเสี่ยงปานกลาง เช่น ห้องตรวจ แผนกผู้ป่วย ห้องพักผู้ป่วย แผนกจ่ายยา แผนกบริการผู้ป่วยนอก ห้องประชุม
4).พื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น สำนักงาน ห้องพัสดุ พื้นที่รอบนอก ลานจอดรถ
ดังนั้น ผู้มาใช้บริการอาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ทุกชนชั้นจะสัมผัสได้ถึงความทันสมัย ความสะอาด ความปลอดภัย แบบครบวงจรอย่างแท้จริง
สอบถามเพิ่มเติมโทร.02 2564000
- 8349 views