“อาจารย์ มข.” เผยผลวิเคราะห์การสำรวจอนามัยและสวัสดิการครัวเรือนจากอัตราการรับบริการผู้ป่วยนอก/ผู้ป่วยใน เพื่อสำรวจความเสมอภาคในการเข้าถึงบริการสุขภาพของคนไทย พบคนจนยังเข้าถึงสิทธิ์ โดยเฉพาะผู้ป่วยใน สะท้อนการใช้สิทธิประกันสุขภาพภาครัฐ คนจนไม่ได้เสียเปรียบคนรวย ยกเว้นการใช้บริการผู้ป่วยนอกที่ รพ.ใหญ่จะกระจุกตัวที่คนรวยมากกว่าคนจน แนะพัฒนาปฐมภูมิเขตเมืองเพื่อให้คนจนเข้าถึงการรักษาผู้ป่วยนอกในเขตเมือง
รศ.ภก.สุพล ลิมวัฒนานนท์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า จากผลการวิเคราะห์เบื้องต้นถึงการใช้บริการสุขภาพภาครัฐและเอกชนของคนไทย โดยใช้ข้อมูลจากการสำรวจอนามัยและสวัสดิการของครัวเรือนล่าสุด เมื่อเดือนเมษายน 2558 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ เพื่อสำรวจความเสมอภาคในการเข้าถึงบริการสุขภาพของคนไทย พบว่าเมื่อเปรียบเทียบการใช้บริการระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าระหว่างกลุ่ม 20% แรกของคนรวยที่สุดในประเทศ กับกลุ่ม 20% แรกของกลุ่มคนจนที่สุดในประเทศ ในส่วนบริการผู้ป่วยนอก การใช้บริการในสถานบริการภาครัฐยังมีลักษณะกระจุกตัวที่คนจนมากกว่าคนรวย โดยเฉพาะระดับปฐมภูมิและทุติยภูมิ คือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) แต่ยกเว้นสถานบริการขนาดใหญ่อย่างโรงพยาบาลจังหวัด โรงพยาบาลศูนย์ (รพศ.) โรงพยาบาลทั่วไป (รพท.) และโรงเรียนแพทย์ ที่การใช้บริการผู้ป่วยนอกจะกระจุกที่คนรวยมากกว่าคนจน
ทั้งนี้ จากการสรุปข้อค้นพบ พบว่า ในระดับประเทศนั้น สมาชิก UC (บัตรทองหรือ 30 บาท) จำนวน 5% ป่วยนอนรักษาใน รพ. (ผู้ป่วยใน) ใน 1 ปีที่ผ่านมา และ 12% ป่วยและใช้บริการผู้ป่วยนอก จากสถานพยาบาลใน 1 เดือนที่ผ่านมา
ทั้งคนรวยและคนจนใช้บริการสุขภาพในภาครัฐเป็นหลัก (ผู้ป่วยใน 4.4%, ผู้ป่วยนอก 9.4%)
คนรวยใช้บริการในสถานพยาบาลของรัฐทุกระดับ และไม่ได้เบียดคนจน
เมื่อใช้บริการในภาครัฐ การไม่ใช้สิทธิ UC มีสัดส่วนน้อย (ผู้ป่วยใน 4%, ผู้ป่วยนอก 2%)
ขณะที่ใน กทม.นั้น ผู้ป่วย UC ที่นอน รพ.รัฐมีการกระจุกตัวของคนรวยโดยมีสัดส่วนสูงกว่าคนจนเล็กน้อย โดยคนรวยที่ไม่ใช้สิทธิ์ UC มีสัดส่วน 43% สูงกว่าคนจนที่ไม่ใช้สิทธิ์ UC 6%
รศ.ภก.สุพล กล่าวต่อว่า จากการวิเคราะห์เหตุผลพบว่า เนื่องจากการรับบริการผู้ป่วยนอกจะเน้นที่ความสะดวกของการเดินทางเป็นสำคัญ และคนจนส่วนใหญ่จะอยู่นอกเขตเมือง จึงเลือกรับบริการใกล้บ้าน ขณะที่โรงพยาบาลขนาดใหญ่จะอยู่ในเขตเมือง ทำให้คนเมืองเข้ารับบริการในโรงพยาบาลใหญ่มากกว่า แต่ในส่วนผลสำรวจผู้ป่วยในอัตราการใช้บริการยังกระจุกตัวที่คนจนมากกว่า เนื่องจากบริการผู้ป่วยในเป็นบริการจำเป็น ดังนั้นไม่ว่าผู้ป่วยอยู่ไกลแค่ไหนยังต้องเดินทางเข้ามารักษา จึงไม่พบการกระจุกตัวของคนรวยในกลุ่มผู้ป่วยในโรงพยาบาลใหญ่เช่นเดียวกับผู้ป่วยนอก นอกจากนี้ผู้ป่วยในที่เป็นกลุ่มคนรวยบางส่วนยังเลือกรับบริการโรงพยาบาลเอกชนแทน หรือรับบริการโรงพยาบาลของรัฐที่ไม่ใช่สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
“ผลสำรวจนี้สะท้อนให้เห็นว่า การใช้บริการในระบบหลักประกันสุขภาพภาครัฐ คนจนไม่ได้เสียเปรียบคนรวย ยกเว้นการบริการผู้ป่วยนอกในโรงพยาบาลใหญ่ จึงต้องพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิในเขตเมืองเพิ่มเติมเพื่อให้คนจนในเมืองเข้าถึงได้ แต่ในภาพรวมของระบบทั้งหมดคนจนก็ยังใช้บริการในระบบมากกว่า” รศ.ภก.สุพล กล่าว
- 119 views