กรมควบคุมโรค เตรียมเปิดตัว“บางโคล่ โมเดล” เขตบางคอแหลม กทม.ต้นแบบป้องกันควบคุมวัณโรคในเมืองใหญ่ พร้อมขยายผลในอีก 5 เมืองใหญ่
นพ.อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า วัณโรคเป็นปัญหาที่สำคัญของโลก ในประเทศไทยพบสูงเป็นอันดับที่ 16 ของโลก โดยองค์การอนามัยโลกคาดประมาณมีผู้ป่วย 120,000 รายในปี 2557 ซึ่งพบว่าเมืองใหญ่เป็นพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่นและมีโอกาสพบโรคได้สูง ปัจจุบันมีผู้ป่วยวัณโรคเข้าถึงการรักษาเพียงร้อยละ 59 จึงต้องมีการค้นหาผู้ป่วยในกลุ่มประชากรที่มีความเสี่ยงสูง ทั้งนี้ก็ไม่ละเลยคุณภาพการรักษาที่ต้องเน้นการมีพี่เลี้ยงในระบบหมอครอบครัวกำกับกินยาให้รับการรักษาต่อเนื่องอย่างน้อย 6 เดือนจนหายขาด
นอกจากนี้ยังพบว่าอัตราป่วยของประชากรกลุ่มเสี่ยงสูง เช่น ผู้สูงอายุมีโอกาสป่วยมากกว่าคนทั่วไป 2-3 เท่า และกลุ่มเสี่ยงอื่นๆ เช่น ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้สัมผัสร่วมบ้าน เด็ก แรงงานย้ายถิ่น แรงงานต่างด้าว เป็นต้น โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และเมืองใหญ่ เนื่องจากวัณโรคเป็นโรคติดต่อทางลมหายใจและสามารถติดต่อจากคนสู่คน เมื่ออาศัยอยู่ในพื้นที่แออัดร่วมกับผู้ป่วยวัณโรค จึงมีโอกาสสัมผัสและแพร่กระจายโรคได้สูงกว่าปกติ รวมทั้งกลุ่มเสี่ยงเหล่านี้ มีความยากลำบากในการมารับการตรวจรักษา ทำให้มีผลต่อการป้องกันควบคุมโรคในภาพรวม
นพ.อำนวย กล่าวว่า กรมควบคุมโรค โดยสำนักวัณโรค ได้พัฒนาโมเดลการควบคุมวัณโรคในเมืองใหญ่ร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายต่างๆ โดยเริ่มจากพื้นที่แขวงบางโคล่ เขตบางคอแหลม สร้างเป็น “บางโคล่โมเดล” ซึ่งจะมีการค้นหาผู้ป่วยวัณโรคในกลุ่มผู้ขับรถสาธารณะ ชุมชนแออัดและสถานประกอบการ โดยมุ่งเน้นการใช้กลไกระบบบริการสาธารณสุขที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพ ร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายทั้งชุมชน องค์กรภาคประชาสังคม และกรุงเทพมหานคร โดยที่จะเสริมสร้างความเข้มแข็งในการเข้าถึงสิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า ประกันสังคม และประกันสุขภาพต่างด้าว โดยการพัฒนาโมเดลควบคุมวัณโรคเมืองใหญ่ (บางโคล่โมเดล) จะมีการประเมินและขยายผลต่อในกรุงเทพฯ ปริมณฑลและ 5 เมืองใหญ่ ได้แก่ เชียงใหม่ ขอนแก่น นครราชสีมา ระยอง
การดำเนินงานป้องกันควบคุมวัณโรค ต้องได้รับความร่วมมือทั้งจากภาครัฐ เอกชนและชุมชน โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือเพื่อพัฒนารูปแบบในการป้องกันควบคุมโรคในเขตกรุงเทพมหานคร ปริมณฑลและเมืองใหญ่ ภายใต้ 4 มาตรการหลักในการทำงาน คือ
1.จัดให้มีระบบการคัดกรอง ค้นหาผู้ป่วยและให้การรักษาผู้ป่วยวัณโรคอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ในชุมชน ถึงสถานพยาบาล
2.มีการพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารในการดูแลผู้ป่วยวัณโรครายบุคคลตั้งแต่ค้นให้พบและจบด้วยการรักษาให้หาย
3.มีการประเมินผลตามเป้าหมายที่วางไว้
และ 4.ให้พื้นที่ ชุมชน และประชาชน มีส่วนร่วมในการป้องกันควบคุมวัณโรคอย่างจริงจัง
“ในโอกาสนี้ ขอแนะนำประชาชนให้สังเกตอาการตนเองว่าเจ็บป่วยด้วยวัณโรคหรือไม่ โดยอาการจะเริ่มจากไอเรื้อรังนานเกิน 2 สัปดาห์ มีไข้ต่ำๆ ในช่วงบ่าย เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลด บางคนยังทำงานได้ปกติ จึงทำให้เชื้อโรคแพร่ไปสู่คนอื่นได้ หากพบผู้ที่มีอาการดังกล่าว ขอให้รีบพาไปพบแพทย์ในโรงพยาบาลหรือสถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรักษาให้เร็วที่สุด เพราะวัณโรคหากพบเร็ว โอกาสรักษาหายสูงและไม่แพร่กระจายเชื้อ” นพ.อำนวย กล่าว
ทั้งนี้ ประชาชนที่มีความสนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักวัณโรค โทร 0-2212-2279 กด 4 หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422
- 15 views