“รองปลัด สมศักดิ์” แจงกรอบโครงสร้าง สธ. ใหม่ เน้นปรับการทำงานเหมาะสม มุ่งเน้นประชาชนสุขภาพดี เจ้าหน้าที่มีความสุข หลังกรอบโครงสร้างเก่าล้าสมัย ใช้มานาน 15-16 ปี เผยผ่าน อ.ก.พ.สป. แล้ว เตรียมเสนอ อ.ก.พ.สธ.พิจารณา พร้อมจัดทำอัตรากำลังเสนอควบคู่ เชื่อบุคลากร สธ. ร้อยละ 70-80 เห็นด้วย ระบุพยาบาลวิชาชีพขึ้นเป็น ผอ.รพ.สต.ได้อยู่แล้ว แต่ต้องขึ้นในตำแหน่งนักวิชาการ
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ รองปลัดกระทรวงสาธรณสุข เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้มีการปรับโครงสร้างการทำงานในส่วนภูมิภาคเพื่อให้เกิดความชัดเจนในการดำเนินงาน ทั้งในส่วนของโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป (รพศ./รพท.) โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) โดยได้ผ่านการพิจารณาที่ประชุมอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (อ.ก.พ.สป.) แล้ว และอยู่ระหว่างเตรียมที่จะนำเสนอต่อที่ประชุมอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน กระทรวงสาธารณสุข (อ.ก.พ.สธ.) พิจารณา แต่เนื่องจากผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ได้ให้ความเห็นว่า ในการปรับโครงสร้างงานครั้งนี้ สธ.ควรทำเรื่องอัตรากำลังคนไปพร้อมกัน ดังนั้น สธ.คงจะทำตามคำแนะนำ ก.พ. และจะนำเสนอไปพร้อมกับการปรับโครงสร้างกระทรวงสาธารณสุข แต่คงต้องใช้เวลา
สาเหตุที่กระทรวงสาธารณสุขต้องมีการปรับโครงสร้างการทำงานนั้น นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า เป็นเพราะกรอบโครงสร้างการทำงานเดิมของกระทรวงสาธารณสุขใช้มานานถึง 15-16 ปีแล้ว ต้องบอกว่าล้าสมัย จำเป็นต้องมีการปรับปรุงโครงสร้างเพื่อให้เกิดความเหมาะสมกับสถานการณ์ที่ปรับเปลี่ยนไป โดยเน้นว่าเมื่อปรับโครงสร้างแล้ว ชาวบ้านต้องได้ประโยชน์ ยกตัวอย่างเช่น ใน รพช.ให้มีการแยกเป็นกลุ่มงานลงพื้นที่เพื่อดูแลชาวบ้านที่ชัดเจนมากขึ้น ทั้งในงานส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคและฟื้นฟูสมรรถภาพ ตรงนี้ชาวบ้านได้ประโยชน์ ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่เองก็จะมีความก้าวหน้า เพราะมีผลชี้วัดและการประเมินที่ชัดเจน จึงเป็นแบบที่เรียกว่า “ประชาชนสุขภาพดี เจ้าหน้าที่มีความสุข” ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างระบบสุขภาพที่ยั่งยืน” รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าว
ต่อข้อซักถามว่า การปรับโครงสร้างการดำเนินงานใหม่ของกระทรวงสาธารณสุขจะเริ่มเมื่อไหร่ นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ขณะนี้ได้มีการเวียนโครงสร้างไปยังส่วนต่างๆ ในกระทรวงสาธารณสุข และให้มีการเตรียมจัดโครงสร้างในแต่ละกลุ่มแล้ว และพื้นที่สามารถดำเนินการได้ก่อน แต่จะให้ร้อยเปอร์เซ็นคงต้องรอ 3-6 เดือน โดยในด้านกำลังคนนั้น ยังไม่มีการลดหรือเพิ่ม โดยเป็นการหมุนเวียนคนที่มีอยู่และกระจายไปตามกรอบ FTE
ผู้สื่อข่าวถามว่า ในการปรับโครงสร้างการทำงานใหม่นี้ อาจทำให้เจ้าหน้าที่เกิดความกังวลต่อผลกระทบ นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า อยากเรียนว่าการปรับโครงสร้างการทำงานกระทรวงสาธารณสุข คงไม่มีทางทำให้คนทั้งหมดพอใจได้ แต่เชื่อว่าบุคลากรร้อยละ 70-80 น่าจะเห็นด้วย เพราะเป็นการปรับให้เนื้องานมีความชัดเจนมากขึ้น แต่ทั้งนี้เข้าใจว่าทุกคนคงไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป การทำงานจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนเช่นกัน ดังนั้นอยากให้ลองทำงานตามโครงสร้างใหม่ โดยกระทรวงสาธารณสุขจะมีคณะกรรมการประเมิน ซึ่งสะท้อนความเห็นกลับมาได้
“หลังการปรับโครงสร้างระยะหนึ่งคงต้องมีการประเมิน ซึ่งต้องบอกว่า โครงสร้างการดำเนินงานนี้สามารถปรับเปลี่ยนได้ตลอด หากทำแล้วไม่ดีก็สามารถปรับได้ แต่โครงสร้างเก่าเราใช้มานานถึง 15-16 ปีแล้ว จำเป็นต้องปรับให้เหมาะสม” รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าว
นพ.สมศักดิ์ ยังได้กล่าวชี้แจงเพิ่มเติมกรณีที่มีข่าวว่า การปรับโครงสร้างกระทรวงสาธารณสุขครั้งนี้ ได้กำหนดให้พยาบาลวิชาชีพขึ้นเป็น ผอ.รพ.สต. ได้ ว่า การปรับโครงสร้างครั้งนี้ เป็นการปรับเฉพาะการทำงาน ไม่ได้ปรับในส่วนของตำแหน่ง ซึ่งในส่วนของ ผอ.รพ.สต. พยาบาลวิชาชีพสามารถขึ้นตำแหน่งนี้ได้อยู่แล้ว แต่ต้องขึ้นในตำแหน่งนักวิชาการ ไม่ใช่ตำแหน่งพยาบาล ทั้งนี้เพื่อให้ครอบคลุมการดำเนินงานทั้งในส่วนส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค รวมถึงงานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วย.
ส่วนหนึ่งของร่างโครงสร้างที่ผ่าน อ.ก.พ.สป.วันที่ 18 พ.ย.58
- 167 views