อธิบดีกรมควบคุมโรค แจงกระบวนการพิจารณาวัคซีน เน้นประสิทธิผล คุ้มค่า ทั้งในแง่วิชาการและบริหารจัดการ ยอมรับอาจล่าช้าบ้าง แต่ต้องรอบคอบ เผย อนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน เตรียมเสนอวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกและโรต้าไวรัส บรรจุสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หลังทดสอบได้ผลคุ้มค่า พร้อมแจงไทยฉีดวัคซีนโปลิโอเข็มเดียว ยึดตามคำแนะนำองค์การอนามัยโลก
นพ.อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงการพิจารณาและคัดเลือกวัคซีนในประเทศไทยว่า โรคติดต่อในปัจจุบัน มีทั้งโรคติดต่อทั่วไป และโรคติดต่ออุบัติใหม่ ในจำนวนนี้มีกลุ่มโรคติดต่อที่สามารถป้องกันได้โดยวัคซีน ดังนั้นที่ผ่านมาประเทศไทยจึงมีระบบการคัดเลือกวัคซีนที่เหมาะสมเพื่อบรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติ และกำหนดเป็นสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งใช้สำหรับประชากรในทุกสิทธิการรักษา โดยคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ซึ่งมีอธิบดีกรมควบคุมโรคเป็นประธาน ภายใต้คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ที่มี รมว.สาธารณสุข เป็นประธาน
นพ.อำนวย กล่าวว่า คณะอนุกรรมการชุดนี้จะมีการพิจารณาวัคซีนจำเป็นที่ประชาชนควรได้รับ ซึ่งนอกจากในเรื่องของประสิทธิผลการป้องกันโรค โดยศึกษาจากรายงานวิชาการและการนำร่องเพื่อดูผลของวัคซีนแล้ว ยังต้องพิจารณาในด้านความคุ้มค่าของการให้วัคซีน ซึ่งจะเป็นกระบวนการพิจารณาอย่างรอบคอบและรอบด้าน โดยวัคซีนที่ผ่านการพิจารณาโดยคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ว่ามีความเหมาะสมต่อการให้เพื่อป้องกันโรค จะมีการนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการบัญชียาหลักแห่งชาติ เพื่อดูความเหมาะสมการเข้าถึงยาที่จำเป็น และการพิจารณาของคณะอนุกรรมการด้านสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อพิจารณาในแง่งบประมาณและความเหมาะสมด้านการเงินการคลังของประเทศ ซึ่งต้องดำเนินการไปควบคู่
“ที่ผ่านมาคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคได้ทำการพิจารณา โดยให้มีการศึกษาวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก (HPV) ซึ่งได้ผลแล้วว่ามีประสิทธิผล คุ้มค่า แม้ว่าจะมีราคาแพง แต่สามารถป้องกันมะเร็งปากมดลูกในกลุ่มเสี่ยงได้ และได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติแล้ว โดยอยู่ระหว่างการเตรียมนำเสนอต่อคณะกรรมการบัญชียาหลักแห่งชาติและคณะอนุกรรมการด้านสิทธิประโยชน์ฯ เพื่อบรรจุเป็นสิทธิประโยชน์ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ในปี 2560 นี้ และจะมีการนำเสนอต่อ รมว.สาธารณสุข และปลัดกระทรวงสาธารณสุขต่อไป” อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวและว่า นอกจากนี้ยังมีวัคซีนโรต้าไวรัสที่ผ่านการพิจารณาแล้วว่ามีประสิทธิผลและคุ้มค่า ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการเช่นกัน
ส่วนกรณีที่ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาแสดงความเป็นห่วงการให้วัคซีนเด็กในประเทศ โดยเฉพาะในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินั้น นพ.อำนวย กล่าวว่า ที่ ศ.นพ.ยงออกมาระบุก็มีส่วนถูกว่ากระบวนการพิจารณาที่ช้า เพราะวัคซีนบางตัวต้องใช้เวลาในการพิจารณา อย่างในปี 2560 ตามแผนจะผลักดันทั้งวัคซีน HPV และวัคซีนโรต้าไวรัส แต่ก็ไม่รู้ว่าจะทันการนำเสนองบประมาณขาขึ้นหรือไม่ อาจได้แค่วัคซีน HPV รายการเดียว ขณะที่วัคซีนอื่นๆ อย่างวัคซีนไข้เลือดออกก็ได้รับมอบจาก รมว.สาธารณสุขให้นำมาศึกษาดู และได้มีการตั้งคณะกรรมการพิจารณาแล้ว แต่ทั้งหมดนี้ต้องเป็นไปตามกระบวนการด้วยความรอบคอบ เพราะเรื่องวัคซีนมีเรื่องการตลาดสุขภาพด้วย
ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีวัคซีนโปลิโอ นพ.ยง ระบุว่าแม้ว่าจะมีการปรับเป็นแบบฉีดแล้ว แต่ให้เพียงแค่เข็มเดียว ทั้งที่หลักการควรให้ 2 เข็มนั้น นพ.อำนวย กล่าวว่า เรื่องนี้มีความเห็นที่หลากหลายและเป็นเรื่องทางวิชาการ แต่ทางองค์การอนามัยโลกเองมีการระบุว่า วัคซีนโปลิโอให้อย่างน้อย 1 เข็มก็เพียงพอต่อการป้องกันโรคได้ อย่างไรก็ตามเรื่องกระบวนการวัคซีน เรามีระบบบริหารที่แยกผู้ใช้ ผู้ควบคุมกำกับ การจัดซื้อ โดยกรมควบคุมโรคจะเป็นหน่วยงานหลักด้านวิชาการที่พิจารณาความจำเป็นการให้วัคซีนในระบบ
ต่อข้อซักถามว่า วัคซีนที่ให้เด็กในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามีความครอบคลุมเพียงพอหรือไม่ นพ.อำนวย กล่าวว่า คำว่าเพียงพอหรือไม่อยู่ที่ความเป็นไปได้ในเชิงบริหารจัดการ เชื่อว่าเรายังต้องมีการปรับปรุงการให้วัคซีนต่อเนื่องเพื่อให้ดียิ่งขึ้น ไม่เพียงแต่วัคซีนใหม่ แต่รวมถึงวัคซีนพื้นฐานที่มีการปรับปรุงด้วย ภายใต้ความรอบคอบและเป็นไปได้ของประเทศ ทั้งในแง่หลักวิชาการและบริหารจัดการ อย่างไรก็ตามปัจจุบันไทยเป็นประเทศหนึ่งที่สามารถบริหารจัดการด้านวัคซีนพื้นฐานได้ครอบคลุม ในการให้วัคซีนประชาชนกลุ่มเป้าหมายอย่างที่ควรได้รับและเข้มแข็งมาโดยตลอด
- 47 views