เครือข่าย ขรก.เผยหลังเข้าพบ ปลัด สธ.หารือแก้ปัญหาเหลื่อมล้ำค่าตอบแทน ชี้ 70% กระจุกตัวที่บางวิชาชีพ แต่ละเลยวิชาชีพอื่น ด้านปลัด สธ.เตรียมตั้งคณะทำงานจากสหวิชาชีพแก้ปัญหา ประชุมเดือนละ 1 ครั้ง พร้อมพิจารณาข้อเสนออื่น ทั้ง ให้ สสอ.สสจ.เป็นหน่วยบริการ กำหนดโครงสร้าง รพ.สต.ให้มีในกฏหมาย การแบ่งพื้นที่กันดารใหม่

นายริซกี สาร๊ะ เลขาธิการชมรมนักวิชาการสาธารณสุข (ประเทศไทย) หรือ ชวส. ในฐานะผู้ประสานงานสมาพันธ์สาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมไทย (สคสท.) และผู้ประสานงานภาคีเครือข่ายข้าราชการพลเรือนไทย กล่าวว่า หลังจากเครือข่ายข้าราชการพลเรือนไทย 34 องค์กร ในจำนวนนี้เป็นบุคลากรสาธารณสุข 32 องค์กรได้ยื่นหนังสือต่อสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.เพื่อให้แก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำเพดานเงินเดือนนั้น

ในช่วงบ่ายของวันดังกล่าว บุคลากรสาธารณสุข 32 องค์กร ที่มีสหวิชาชีพ 8 วิชาชีพจากทั่วประเทศได้เดินทางเข้าพบ นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำของค่าตอบแทน และปัญหาความเหลื่อมล้ำอื่นๆ ในกระทรวงสาธารณสุขต่อไป ซึ่งเดิมนั้นเคยยื่นร้องทุกข์ไว้ตั้งแต่ 15 พ.ค. 58 และได้ยื่นประเด็นเฉพาะเรื่องค่าตอบแทนบุคลากรสาธารณสุข ในวันที่ 27 ส.ค. 58 ในที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนบุคลากรสาธารณสุข ซึ่งมี นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รองปลัด สธ.ในขณะนั้น เป็นประธานที่ประชุม เพื่อให้แก้ไขปัญหาดังกล่าว แต่เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหาร สธ.จึงพบว่ายังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใดจนถึงปัจจุบัน

นายริซกี กล่าวต่อว่า ในครั้งนี้จึงมายื่นข้อเสนออีกครั้งต่อปลัด สธ.คนใหม่ โดยมีสหวิชาชีพด้านสาธารณสุขที่เป็นภาคีมาร่วมด้วย ทั้งวิชาชีพสาธารณสุข (หมออนามัย, ผอ.รพ.สต. และเจ้าพนักงานสาธารณสุข/นักวิชาการสาธารณสุขใน สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ (สสอ.)และ รพ.) พยาบาล นักเทคนิคการแพทย์ นักกายภาพบำบัด นักรังสีการแพทย์ นักสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์ นักกิจกรรมบำบัดและอาชีวบำบัด แพทย์แผนไทย มากกว่า 300 คน เรียกร้องให้มีการแก้ไขประเด็นค่าตอบแทนบุคลากรสาธารณสุขนี้ และขอเชิญชวนวิชาชีพอื่นๆ ในกระทรวงสาธารณสุขอีก 10 กว่าวิชาชีพ ที่ได้รับผลกระทบความเหลื่อมล้ำค่าตอบแทนบุคลากรสาธารณสุข ออกมาขับเคลื่อนไปด้วยกัน

สำหรับการเข้าพบ ปลัด สธ.ครั้งนี้ เรียกร้อง 6 ข้อ ได้แก่

1.ปรับปรุงนิยามของ “หน่วยบริการ” ให้ครอบคลุมไปถึงสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม เท่าเทียม และครอบคลุมแก่บุคลากรสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานในพื้นที่

2.คำนวณกรอบวงเงิน สัดส่วนวิชาชีพ และการคิด activity base อย่างเป็นธรรมเท่าเทียมทุกวิชาชีพ

3.นิยามความหมายของ “พื้นที่กันดาร” และต้องแบ่งระดับความกันดารอย่างไร เพื่อนำหลักเกณฑ์มาใช้ให้ครอบคลุมกับทุกวิชาชีพ เพราะหลักเกณฑ์บางอย่างของประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจ่ายเงินค่าตอบแทน แนบท้ายข้อบังคับกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยการจ่ายเงินตอบแทนเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานให้กับหน่วยบริการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ.2544 (ฉบับที่ 8 แก้ไขเพิ่มเติม) พ.ศ. 2558 และ (ฉบับที่ 9 แก้ไขเพิ่มเติม) พ.ศ. 2558   มีการแบ่งเฉพาะพื้นที่กันดารระดับ รพ.เท่านั้น และแม้จะระบุว่าให้หมายความรวมถึง รพ.สต. ด้วย แต่กลับไม่มีหลักเกณฑ์ใดๆ ที่ชัดเจน และพบว่าหลักเกณฑ์ดังกล่าวไม่ครอบคลุมทุกวิชาชีพ ทำให้ผู้ปฏิบัติงานได้ค่าตอบแทนที่ไม่เป็นธรรม   โดยเฉพาะหน่วยบริการสาธารณสุขที่อยู่ในหมู่บ้าน ตำบล อย่าง รพ.สต.ทำให้ส่งผลต่อขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงาน  ทั้งๆ ที่ทำงานในพื้นที่กันดารอย่างแท้จริง

4.นำความเห็นของ ครม. สำนักงบประมาณ สำนักงาน ก.พ. กระทรวงยุติธรรม กระทรวงการคลัง กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจแห่งชาติ ที่ท้วงติงว่าค่าตอบแทนดังกล่าว ซึ่งใช้งบถึง 3,000 ล้านบาทแต่กลับพบว่ามีความเหลื่อมล้ำมาก จึงควรนำข้อมูลมาประกอบการพิจารณาลดความเหลื่อมล้ำทางวิชาชีพในกระทรวงสาธารณสุขด้วย

5.ลดความเหลื่อมล้ำโดยปรับปรุงอัตราการจ่ายเงินค่าตอบแทนบุคลากรสาธารณสุขให้เป็นธรรมสอดคล้องกัน โดยสหวิชาชีพเห็นพ้องในเรื่องการปรับเกณฑ์ค่าตอบแทนให้สอดคล้องและเป็นธรรมแบบลดหลั่นกันไปตามวิชาชีพและภาระงานอย่างเหมาะสม ควรจะปรับตามระดับพื้นที่กันดารและอายุงานขึ้นไปเรื่อยๆ เช่นเดียวกับแพทย์ โดยให้ยึดโยงค่าตอบแทนกับวุฒิการศึกษาที่มีความแตกต่างในเรื่องจำนวนปีที่ศึกษา (6 ปี, 5 ปี, 4 ปี และ 2 ปี) ความรับผิดชอบ ภาระงาน ทั้งนี้ต้องคำนึงความเป็นธรรม และลดความเหลื่อมล้ำทางวิชาชีพให้มีน้อยที่สุด เพื่อให้การใช้งบประมาณที่เป็นค่าตอบแทนบุคลากรสาธารณสุขซึ่งมีจำนวน 3,000 ล้านบาทอย่างคุ้มค่า โปร่งใส และเฉลี่ยให้กับทุกวิชาชีพตามความเหมาะสม ไม่ใช่เช่นปัจจุบันที่มากกว่า 70% ของค่าตอบแทน ไปกระจุกอยู่กับบางวิชาชีพเท่านั้น

6.เร่งตั้งคณะทำงานจากสหวิชาชีพมาพิจารณาแนวทางแก้ปัญหาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำค่าตอบแทนดังกล่าว โดยคณะทำงานควรควรดำเนินการตามกรอบเวลาในปี 2559 เพื่อให้สามารถเบิกจ่ายในปี 2560 ต่อไป

นายสมคิด เพื่อนรัมย์ ประธานชมรมนักกายภาพบำบัดชุมชน กล่าวว่า ทุกวิชาชีพทุกชมรมต่างเห็นพ้องต้องกันว่า  ค่าตอบแทนบุคลากรสาธารณสุขมีความเหลื่อมล้ำจริงๆ และต้องการมาเสนอแนวทางแก้ปัญหาในเรื่องดังกล่าว เพราะเห็นว่าเป็นปัญหาหลักที่เรื้อรังมานานในกระทรวงสาธารณสุขทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมที่เห็นเด่นชัดมากที่สุด ณ ตอนนี้  ซึ่งหากบุคลากรไม่มีความสุข ไม่มีขวัญกำลังใจในการทำงาน แล้วจะทำงานบริการประชาชนอย่างเต็มที่ได้อย่างไร

นายสมศักดิ์ จึงตระกูล ที่ปรึกษา ชวส. กล่าวว่า ค่าตอบแทนบุคลากรสาธารณสุขถ้าเทียบง่ายๆ ส่วนนี้ถือเป็นโบนัส  จากการทำงานหนักของบุคลากรสาธารณสุขในพื้นที่กันดารทุกวิชาชีพ โดยหลักการแล้วค่าตอบแทนไม่ควรมากกว่าเงินเดือน เพราะเงินเดือนต้องเป็นหลักในการดำรงชีพ ค่าตอบแทนเป็นเพียงแค่ส่วนที่เสริมขวัญกำลังใจให้บุคลากรเท่านั้น   และต้องสอดคล้องเป็นธรรมกับทุกวิชาชีพด้วย

“แต่ปัจจุบันพบว่าบางวิชาชีพได้รับค่าตอบแทนต่อเดือนมากกว่าเงินเดือนหลายเท่าตัว แต่บางวิชาชีพได้รับค่าตอบแทนเพียงแค่ร้อยละ 1-2 ของเงินเดือนเท่านั้น ซึ่งไม่เป็นธรรม ไม่มีที่ไหนในโลกที่ระบบราชการที่ให้ค่าตอบแทนมากกว่าเงินเดือน” นายสมศักดิ์ กล่าว

น.ส.จารุจิตร ประจิตร เลขาธิการสหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทย กล่าวว่า พยาบาลเป็นวิชาชีพที่มีมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งของกระทรวงสาธารณสุข พยาบาลเป็นวิชาชีพที่ทำงานหนัก ทำงานอยู่ในเวรตลอดเวลา ไม่ใช่นอนเวร และเผชิญเหตุต่างๆ ก่อนแพทย์ แต่กลับประสบปัญหาเรื่องค่าเวร ค่าตอบแทน ที่ได้รับน้อยมากเมื่อเทียบกับบางวิชาชีพ และไม่สามารถมีความก้าวหน้าได้ ด้วยข้อจำกัดของกระทรวงสาธารณสุขและ ก.พ.เอง จึงขอเรียกร้องให้กระทรวงสาธารณสุขเร่งแก้ไขปัญหาค่าตอบแทนและปัญหาอื่นๆ ในกระทรวงทั้งระบบ

ทั้งนี้ ในการเข้าพบปลัด สธ.ครั้งนี้ ยังได้มีการยื่นข้อเสนอเพื่อการแก้ไขปัญหาในประเด็นอื่นๆ ของแต่ละวิชาชีพ ดังนี้

1.เรื่องปัญหาการปรับตำแหน่งของวิชาชีพต่างๆ เช่น แพทย์แผนไทย ซึ่งยังใช้คำว่าเจ้าพนักงานสาธารณสุขอยู่

2.ปัญหาการจะนับนักสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์เป็นผู้ให้บริการผู้ป่วย หรือ BACK OFFICE ซึ่งส่งผลต่อการคิดค่าตอบแทน

3.ปัญหาความก้าวหน้าของ ผอ.รพ.สต.ที่เป็นเจ้าพนักงานสาธารณสุขชำนาญงาน และ ผอ.รพ.สต.ที่เป็นนักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ  

4.ปัญหาการบริหารงานบุคคลของจังหวัดชายแดนใต้ โดยปรับเจ้าพนักงานสาธารณสุขเป็นนักวิชาการสาธารณสุข ตาม ว. 16 ของ ก.พ.ที่ส่งให้ ศอ.บต.

5.ปัญหาที่ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งระหว่างวิชาชีพเช่นค่าเวร ค่า OT ต่างๆ ที่มีบางวิชาชีพสะท้อนว่า วิชาชีพตนทำงานอยู่ในเวรมากกว่าดูแลผู้ป่วยเคสต่างๆ มากกว่า แต่ได้รับค่าเวรน้อยกว่าแพทย์หลายเท่าตัว หนำซ้ำผลงานที่นำมาประเมินกลับคิดเป็นภาระงานของแพทย์เท่านั้น ส่งผลให้วิชาชีพต่างๆ ได้รับค่าตอบแทนที่น้อยนิด

6.ปัญหาของ รพ.สต.เรื่องการจัดสรรเงิน hard ship ซึ่งเป็นเงินงบประมาณที่เขตตรวจราชการกันไว้ช่วยเหลือโรงพยาบาล และ รพ.สต.ที่มีงบประมาณจำกัด มีประชากรน้อย ในพื้นที่เสี่ยงภัยต่างๆ ซึ่งเขตมักจัดสรรให้เป็นงบประมาณแต่ละหน่วยงานเป็นงบหลายล้านบาท แต่พบว่าให้จัดสรรไปยัง รพช.เท่านั้น และไม่มีการจัดสรรไปยัง รพ.สต.แต่อย่างใด

ทั้งนี้ นายริซกี กล่าวเสริมว่า ภายหลังจาก นพ.โสภณ ปลัด สธ.ได้รับฟังปัญหาประเด็นหลักเรื่องค่าตอบแทนบุคลากรสาธารณสุข และประเด็นอื่นๆ เช่น ปัญหาความก้าวหน้า ความเหลื่อมล้ำในแต่ละวิชาชีพซึ่งท่านรับฟัง และรับจะดำเนินการสั่งการแก้ไขต่อไป และมีบางข้อสรุปซึ่งเป็นเรื่องที่ดีที่ท่านปลัดรับจะดำเนินการแก้ไขโดยเร็ว ดังนี้

1.การตั้งคณะทำงานมาพิจารณาแก้ไขเรื่องค่าตอบแทนบุคลากรสาธารณสุขให้เป็นธรรมต่อไป

2.การดำเนินการเรื่องโครงสร้าง รพ.สต.ให้มีในกฏหมาย และแนวคิดเรื่องแก้ไขหน่วยงานของ สสอ.และ สสจ.เป็นหน่วยบริการ เพื่อให้เป็นธรรมต่อบุคลากรสาธารณสุขทุกหน่วยงาน

3.บางปัญหาสามารถดำเนินการในพื้นที่ได้เลย หากว่าหลักการมีอยู่แล้ว แต่อาจมีปัญหาในทางปฏิบัติ ซึ่งปลัด สธ.จะติดตามเรื่องให้ และหลังจากนี้เป็นต้นไป ปลัด สธ.จะนัดแกนนำชมรมต่างๆ และตัวแทนแต่ละวิชาชีพในครั้งนี้ เข้าร่วมประชุมกับปลัดและทีมงานเดือนละ 1 ครั้งต่อไป

“สหวิชาชีพบุคลากรด้านสาธารณสุข 8 วิชาชีพขอขอบคุณท่านปลัดโสภณเป็นอย่างสูง ที่เปิดห้องและรับฟังปัญหาจากบุคลากรสาธารณสุขระดับรากหญ้า และเรายังคงมุ่งมั่นที่จะทำงานสนองตามนโยบายกระทรวงสาธารณสุขและรัฐบาลอย่างเต็มที่ต่อไป หากรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขดูแลบุคลากรของตนอย่างเต็มที่ และสามารถลดชนชั้นวรรณะในกระทรวงสาธารณสุขได้อย่างแท้จริง” นายริซกี กล่าว