ผอ.รพ.บ้านเหลื่อม ย้ำสาเหตุ แพทย์จบใหม่อยู่ รพช.ไม่ยืด มาทำงานห่างไกลบ้านแล้ว รพ.ยังขาดความพร้อมทางการแพทย์ และค่าตอบแทน แถมภาพรวม รพช.มีปัญหาส่งต่อ รพ.ใหญ่ แนะทางออกต้องแก้ปัญหาเชิงระบบ สอนนักเรียนแพทย์รับรู้และเข้าใจสภาพทำงานจริง สร้างระบบการส่งต่อที่มีประสิทธิภาพ พร้อมชี้ปัญหาโครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบท บางพื้นที่ไม่ตอบโจทย์ ผลลัพธ์ได้เด็กเมืองแฝงเป็นส่วนใหญ่ หลังเรียนจบย้ายทำงานที่อื่น
นพ.อิทธิพล อุดตมะปัญญา
นพ.อิทธิพล อุดตมะปัญญา ผอ.รพ.บ้านเหลื่อม จ.นครราชสีมา กล่าวถึงกรณีที่มีการโพสต์ข้อความถึงสาเหตุที่แพทย์จบใหม่ไม่เลือกอยู่ รพ.ชุมชน (รพช.) ว่า ข้อเท็จจริงเป็นไปตามที่ได้มีโพสต์ข้อความไว้ มองว่าสาเหตุหลักมาจาก การดูแลผู้ป่วยภายใต้ข้อจำกัดต่างๆ ของแต่ละ รพช. ซึ่งขาดความพร้อมในหลายๆ ด้าน เพราะในช่วงการเรียนแพทย์ น้องๆ ส่วนใหญ่จะเรียนใน รพ.ใหญ่ ภายใต้สภาพแวดล้อมที่มีความพร้อมทางการแพทย์ทุกด้าน เรียกว่ามีความแตกต่างกันมาก
รวมทั้งแพทย์จบใหม่ต้องมาทำงานใช้ทุนในต่างพื้นที่ ต่างวัฒนธรรม และไม่สะดวกสบายอย่างเคยเป็นอยู่ ต้องอยู่ห่างไกลบ้าน แพทย์ส่วนใหญ่หลังใช้ทุนแล้วจึงออกไปทำงานที่อื่น หรือบางคนเลือกหาทางเรียนต่อเฉพาะทางเพื่ออยู่ รพ.ขนาดใหญ่แทน ไม่อยากทำงานต่อใน รพช. โดยเฉพาะ รพช.ในชนบท ทุรกันดาร บางส่วนเลือกที่จะลาออก นอกจากนี้ยังมีในเรื่องค่าตอบแทน แม้ว่าปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขจะมีการปรับอัตราค่าตอบแทนที่ดีขึ้นมากเมื่อเทียบกับอดีต แต่หากเปรียบเทียบกับ รพ.เอกชนที่ยังมีความต้องการแพทย์อยู่มาก ก็ยังมีอัตราที่แตกต่างกันอยู่มาก
นพ.อิทธิพล กล่าวว่า นอกจากปัญหาข้างต้นแล้ว ปัญหาการทำงานกับ รพ.ใหญ่ อย่าง รพ.ศูนย์/รพ.ทั่วไป (รพศ./รพท.) ถือเป็นอีกสาเหตุหนึ่ง โดยเฉพาะการส่งต่อผู้ป่วย ซึ่งแม้ว่าที่ รพ.บ้านเหลื่อมจะประสบปัญหานี้ค่อนข้างน้อย แต่ที่ผ่านมาจากการทำงาน รพช.ในหลายพื้นที่และที่ได้แลกเปลี่ยนกับแพทย์ด้วยกัน ต้องบอกว่าภาพรวม รพช.ส่วนใหญ่ยังมีปัญหานี้อยู่มาก
โดยในเรื่องของการส่งต่อนี้ รพ.ใหญ่มักมองว่า ในผู้ป่วยหลายกรณี รพช.น่าจะให้การรักษาและดูแลได้ แต่ด้วยข้อจำกัดในการรักษา ความไม่พร้อมทางด้านทรัพยากร คน เงิน ของ ทำให้ รพช.เลือกที่จะส่งต่อผู้ป่วยแทน ซึ่งปัญหานี้ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มผู้ป่วยฉุกเฉินและผู้ป่วยในที่ต้องได้รับการรักษาโดยเร็ว ขณะที่บางครั้ง รพ.ใหญ่เองไม่เข้าใจ ทั้งนี้อาจมาจากภาระงานและปัญหาความแออัดของผู้ป่วย ทำให้ รพช.ส่งต่อผู้ป่วยไม่ได้ และมีความยุ่งยากในการประสาน จนทำให้เกิดปัญหาขึ้น และแพทย์ รพช.ส่วนหนึ่งก็เลือกที่จะไม่ทำงานที่ รพช. เพราะปัญหานี้ด้วยเช่นกัน
สำหรับปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ส่งผลให้แพทย์ใน รพช.ยังคงขาดแคลน แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีการแก้ไขปัญหาด้วยการผลิตแพทย์เพิ่มขึ้น อีกทั้งยังได้จัดทำโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท เพื่อให้คงแพทย์อยู่ในพื้นที่ ซึ่งเป็นโครงการที่ดี แต่ในการดำเนินโครงการนี้ก็ยังคงมีปัญหาเช่นกัน ผลลัพธ์พบว่า นักศึกษาแพทย์ส่วนใหญ่ในโครงการนี้ มีภูมิลำเนาจริงอยู่ในเขตอำเภอเมืองของจังหวัดต่างๆ สาเหตุอาจเป็นเพราะ ขั้นตอนการสมัครที่มีช่องโหว่ ให้เด็กเมืองแฝงเข้ามาใช้โควตานี้แทนเด็นในชนบท ซึ่งหลังเรียนจบเด็กกลุ่มนี้ก็จะออกจากพื้นที่ไปทำงานที่อื่นเช่นเดิม ไม่ตอบโจทย์โครงการฯ สะท้อนให้เห็นว่าในทางปฏิบัติโครงการนี้ก็ยังมีปัญหาอยู่
นพ.อิทธิพล กล่าวว่า ทางออกของปัญหามองว่านอกจากแก้ไขปัญหาที่ระบบเพื่อสนับสนุนให้แพทย์คงอยู่ในพื้นที่แล้ว ยังต้องปรับในเรื่องการเรียนการสอนแพทย์ ซึ่งต้องให้นักเรียนแพทย์รู้จักพื้นที่และสภาพการทำงานใน รพช.เพื่อให้เกิดความคุ้นชินและเข้าใจสถานการณ์ รวมถึงชาวบ้านในพื้นที่ซึ่งยังต้องการแพทย์ ในฐานะที่เคยเป็นแพทย์ใช้ทุนยอมรับว่าต้องใช้เวลาหลายปี เพื่อปรับตัว เรียนรู้ และเข้าใจสภาพปัญหา จึงสามารถเป็นแพทย์ทำงานใน รพช.มายาวนานได้
“รพ.บ้านเหลื่อมก็ไม่ต่างจาก รพช.อื่นๆ แต่ละปีจะมีหมอจบใหม่หมุนเวียนกันมาทำงาน แต่ทำได้ไม่นาน พอใช้ทุนครบ 1-2 ปี ก็ย้ายออกไป บางคนทำงานไม่ครบปีก็ย้ายหรือลาออกด้วยซ้ำ เพราะด้วยสาเหตุที่กล่าวมาข้างต้นนี้ ทั้งนี้การที่หมอลาออกบ่อยย่อมส่งผลต่อการทำงานดูแลผู้ป่วย เพราะทำให้ขาดความต่อเนื่อง” ผอ.รพ.บ้านเหลื่อม กล่าว
- 54 views