เปิดผลสำรวจปัจจัยที่มีผลต่อการเลือกสถานที่ปฏิบัติงานของบัณฑิตแพทย์จบใหม่ พบ ปัจจัยด้านสังคมและวิชาชีพมีนัยสำคัญต่อการตัดสินใจเลือกสถานที่ปฏิบัติงานมากกว่าปัจจัยด้านตัวเงิน ระบุข้อเสนอเพิ่มความเข้มงวดสัญญาใช้ทุนและโทษปรับ อาจไม่ใช่คำตอบ หากยังไม่แก้ปัญหาที่มาจากปัจจัยด้านสังคมและวิชาชีพ
กระทรวงสาธารณสุขปฐมนิเทศและเลือกสถานที่ปฏิบัติงานของแพทย์ ทันตแพทย์และเภสัชกร ที่สำเร็จการศึกษาในปีการศึกษา 2557 เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2558
เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำของการจัดสรรแพทย์ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาระบบสาธารณสุขของประเทศ งานวิจัย “ปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจเลือกสถานที่ปฏิบัติงานของบัณฑิตแพทย์จบใหม่:การสำรวจระดับประเทศ” โดยเจตน์ รัตนจีนะ และคณะ จึงได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจของบัณฑิตแพทย์จบใหม่ในการเลือกสถานที่ปฏิบัติงานเป็นแพทย์ใช้ทุน เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่าปัญหาการขาดแคลนและความเหลื่อมล้ำในการจัดสรรแพทย์มีสาเหตุมาจากการที่แพทย์พยายามหลีกเลี่ยงโรงพยาบาลรัฐในพื้นที่ชนบทโดยเฉพาะกลุ่มบัณฑิตแพทย์จบใหม่
แนวทางแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านการจัดสรรแพทย์ในเขตชนบทของไทยยังคงอาศัยสัญญาบังคับใช้ทุนระยะเวลา 3 ปี ซึ่งมีอัตราโทษปรับที่ต่ำเมื่อพิจารณาจากค่าใช้จ่ายในการศึกษาแพทย์ตลอดระยะเวลา 6 ปี รวมถึงการจัดสรรกำลังในส่วนท้องถิ่น และการจูงใจด้วยเบี้ยเลี้ยงพิเศษ
อย่างไรก็ดีตัวเลขการลาออกของบัณฑิตแพทย์จบใหม่ที่สูงอย่างน้อย 1 ใน 3 ก็ชี้ให้เห็นความล้มเหลวของมาตรการดังกล่าวว่าไม่สะท้อนปัญหาที่แท้จริง
ดังนั้นงานวิจัยนี้จึงมีขึ้นเพื่อศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจของบัณฑิตแพทย์จบใหม่ต่อการเลือกสถานที่ปฏิบัติงานเป็นแพทย์ใช้ทุนอย่างครอบคลุม
งานวิจัยนี้มีรูปแบบเป็นการศึกษาวิจัยเชิงพรรณนาและการวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงสำรวจจากภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยดำเนินการสำรวจระดับประเทศของบัณฑิตแพทย์จบใหม่ 751 รายจาก 12 สถาบันผลิตแพทย์ในประเทศไทย ในการประชุมเพื่อจัดสรรแพทย์ใช้ทุนกระทรวงสาธารณสุขเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2555 ผู้เข้าร่วมการวิจัยทุกรายตอบแบบสอบถามด้วยตนเอง ซึ่งแบบสอบถามได้พัฒนาจากการทบทวนวรรณกรรมจากบทความวิชาการที่เกี่ยวข้อง ความเห็นของนักศึกษาแพทย์และศิษย์เก่าบนเว็บไซต์กระดานสนทนา และการสัมภาษณ์บัณฑิตแพทย์จบใหม่
ทั้งนี้ แบบทดสอบประกอบด้วย 3 ส่วนคือ
1) ข้อมูลส่วนตัวของแพทย์
2) ปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจในการเลือกสถานที่ปฏิบัติงานเป็นแพทย์ใช้ทุนโดยเป็นคำตอบให้เลือก 5 ระดับ (1-ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง, 2-ไม่เห็นด้วย, 3-ไม่มีความเห็น, 4-เห็นด้วย และ 5-เห็นด้วยอย่างยิ่ง)
และ 3) สถานที่และระยะเวลาที่ตั้งใจปฏิบัติงานเป็นแพทย์ใช้ทุน
จากแบบสอบถาม 751 ชุด มีแบบสอบถามได้รับการตอบกลับรวม 373 ชุด (ร้อยละ 49.93) โดยร้อยละ 60 ของผู้ตอบแบบสอบถามเป็นเพศหญิงและมีอายุเฉลี่ย 24 ปี
ครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสอบถาม (191/373) สำเร็จการศึกษาจากสถาบันในเขตกรุงเทพฯ และเกือบครึ่งหนึ่ง (179/373) เกิดในเขตกรุงเทพฯ
ข้อมูลจากแบบสอบถามชี้ว่า ปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจในการเลือกสถานที่ปฏิบัติงานเป็นแพทย์ใช้ทุนได้ประกอบด้วย 5 ปัจจัยหลัก ได้แก่
1) เงื่อนไขของการทำงาน (ภาระงาน ความถี่ของเวร และขนาดโรงพยาบาล)
2) คุณภาพชีวิต (สิ่งแวดล้อม อาหาร สิ่งบันเทิง และค่าครองชีพ)
3) ปัจจัยพื้นฐาน (เช่น ธนาคาร และเครือข่ายการสื่อสาร)
4) โอกาสในการพัฒนาตนเอง (โอกาสศึกษาต่อ ชื่อเสียงของแพทย์ประจำโรงพยาบาล ความคุ้นเคยกับแพทย์ประจำโรงพยาบาล)
และ 5) การปรับตัว (ระยะห่างจากบ้าน ความต้องการของบิดามารดาและญาติ และความคุ้นเคยพื้นที่)
ข้อมูลจากแบบสำรวจนี้ สะท้อนทัศนคติของบัณฑิตแพทย์จบใหม่ต่อการเลือกสถานที่ปฏิบัติงานเป็นแพทย์ใช้ทุน ซึ่งเป็นที่น่าสนใจว่าข้อมูลการสำรวจไม่พบว่าปัจจัยด้านตัวเงินมีบทบาทต่อการตัดสินใจของบัณฑิตแพทย์จบใหม่
ขณะที่พบว่า ปัจจัยด้านสังคมและวิชาชีพกลับมีนัยสำคัญต่อการตัดสินใจเลือกสถานที่ปฏิบัติงานเป็นแพทย์ใช้ทุนมากกว่า ซึ่งอาจเป็นคำตอบว่าเหตุใดการศึกษาการตัดสินใจเลือกสถานที่ปฏิบัติงานที่ผ่านมาโดยเน้นหนักไปที่ปัจจัยด้านตัวเงินเป็นหลักจึงไม่ได้ผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจ
แต่กระนั้น ปัจจัยด้านตัวเงินก็ยังคงเป็นปัจจัยที่มักหยิบยกมากล่าวถึงเสมอในการหารือประเด็นการจัดสรรแพทย์ แม้เริ่มมีข้อมูลทยอยออกมาชี้ให้เห็นบทบาทของปัจจัยที่ส่งผลต่อการจัดสรรแพทย์ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับตัวเงิน เช่น สภาพแวดล้อมการปฏิบัติงานและที่อยู่อาศัย และความก้าวหน้าด้านวิชาชีพ
แนวทางแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านการจัดสรรแพทย์มักเน้นสัญญาบังคับใช้ทุนระยะเวลา 3 ปีโดยมีโทษปรับกรณีละเมิดสัญญา การจัดสรรกำลังในส่วนท้องถิ่น และการจูงใจด้วยเบี้ยเลี้ยงพิเศษ ซึ่งการเพิ่มความเข้มงวดในสัญญาและโทษปรับก็มักเป็นตัวเลือกแรกที่นำมาหารือเมื่อเกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านการจัดสรรแพทย์ โดยที่ตัดประเด็นอื่นออกไปจากการกำหนดมาตรการแก้ไขที่เหมาะสม
อนึ่ง ระเบียบวิธีการวิจัยแบบผสมที่นำมาใช้ในการศึกษานี้ไม่เพียงช่วยให้พบปัญหาหลายประการในบริบทการสาธารณสุขของประเทศไทย หากยังนำไปสู่กรอบการทำงานที่ครอบคลุม ซึ่งจำเป็นต่อการกำหนดนโยบายและมาตรการเชิงสังคมที่ครอบคลุม เพื่อส่งเสริมการจัดสรรแพทย์ให้มีประสิทธิภาพ โดยวิธีวิจัยเชิงคุณภาพสามารถช่วยในการระบุประเด็นที่จะนำมาขยายสำหรับการเก็บข้อมูลและวิเคราะห์เชิงปริมาณได้
ข้อมูลจากงานวิจัยนี้ได้ชี้ให้เห็นปัจจัยหลักทั้ง 5 ประการที่มีผลต่อการตัดสินใจของบัณฑิตแพทย์จบใหม่ในการเลือกสถานที่ปฏิบัติงาน ซึ่งปัจจัยเหล่านี้มีประโยชน์ต่อการจัดสรรแพทย์อย่างครอบคลุมเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในการจัดสรรแพทย์ต่อไป
หมายเหตุ : ติดตามอ่านรายงานละเอียดงานวิจัยฉบับเต็มได้ที่ จุฬาลงกรณ์เวชสาร ปีที่ 59 ฉบับที่ 2 มีนาคม - เมษายน 2558
- 43 views