ทำไมชนบทขาดแคลนแพทย์ ทำไมแพทย์ Intern (แพทย์จบใหม่ที่ต้องใช้ทุน) ไม่อยากอยู่ใน รพช.ค่าตอบแทนใช่แรงจูงใจหลักหรือไม่ ลองอ่านทัศนะจาก Apichaya Sukprasert ที่ได้โพสต์ใน Facebook ส่วนตัวเมื่อวันที่ 26 พ.ย.ที่ผ่านมา ที่มีคนกดไลค์และแชร์มากมาย ซึ่งได้สะท้อนถึงสาเหตุที่ทำให้เพื่อนหมอที่อยู่ในชนบทเป็นทุกข์ ข้อมูลที่ได้มาจากการสัมภาษณ์เพื่อนหมอด้วยกันเพื่อทำการเขียนบทความในประเด็นดังกล่าวเผยแพร่ในวารสารฉบับหนึ่ง และการโพสต์ใน Facebook ก็เพื่อสะท้อนแง่มุมบางด้านที่ไม่สามารถนำไปเขียนในบทความวิชาการนั้นได้

เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2558 Facebook/Apichaya Sukprasert ได้โพสต์ทัศนะสะท้อนปัญหาการขาดแคลนแพทย์ในชนบท ซึ่งมีผู้กดไลค์กว่า 1,500 และแชร์กว่า 450 สำนักข่าว hfocus เห็นว่ามีประโยชน์ต่อการอธิบายว่าทำไมชนบทจึงยังคงขาดแคลนแพทย์ และทำไมแพทย์จึงไม่อยากอยู่ในโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) จึงขอนำมาเผยแพร่ต่อ ซึ่ง Apichaya Sukprasert ระบุว่า สิ่งที่นำมาเขียนนั้นเป็นสาเหตุส่วนใหญ่ของความทุกข์ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่มีความสุขที่ได้เป็นแพทย์ใน รพช.และสิ่งที่เขียนเพื่อต้องการให้ทราบปัญหาและแก้ไขให้ตรงจุดนั่นเอง

“เมื่อสักครู่ ได้อ่านแชร์จากอาจารย์ท่านหนึ่งเรื่องปัญหาการขาดแคลนแพทย์ในชนบท เลยอยากเขียนสิ่งที่อาจเป็นประโยชน์ในการมองปัญหา

เมื่อต้นปีที่ผ่านมาเรามีโอกาสเขียนบทความเกี่ยวกับแพทย์ชนบทลงนิตยสาร ในการเขียนครั้งนั้น เราสัมภาษณ์เพื่อนอินเทินจากทุกภูมิภาค โดยเราได้สัญญาว่า จะไม่มีใครในโลกนี้นอกจากเรารู้ว่า เพื่อนๆ เหล่านั้นเป็นใคร และเรารักษาสัญญาที่ให้ไว้เป็นอย่างดี ในงานครั้งนั้นเราได้ข้อมูลเชิง descriptive มาเยอะมาก และหลายๆ คนก็มาพร้อมอารมณ์ที่รุนแรงมาก โดยส่วนตัวแม้ methodology ในการเลือกคนสัมภาษณ์จะไม่ค่อย randomized แต่คิดว่าselection bias ค่อนข้างน้อย เลยตกใจกับคำตอบพอควร

บทความนั้นเราเขียนแบบแนววิชาการ ก็พยายามจะไม่ใส่อารมณ์เข้าไป และมองหลายๆ มุมค่ะ

แต่วันนี้เราโพสต์ลงเฟซบุคตัวเอง เราก็จะขอเขียนใหม่ เขียนอย่างที่เราอยากจะเขียนเพื่อบอกคนอื่นๆ แทนเพื่อนทุกคนที่เราสัมภาษณ์มา เป็นการตอบแทนที่อุตส่าห์ไว้ใจเรา พูดความในใจให้เรารับรู้

ในการสัมภาษณ์ สิ่งที่ทำให้เพื่อนๆ หมอชนบทเป็นทุกข์มากอย่างเด่นชัด ประกอบด้วย 3 เรื่อง

1.คิดถึงบ้าน

-ขอข้ามข้อนี้ไป มันตรงไปตรงมา

2.ปัญหากับโรงพยาบาลใหญ่

-ที่รุนแรงที่สุด คงจะเป็นเรื่องการรีเฟอที่ทำได้ยาก และทำร้ายจิตใจมาก เริ่มจากด้านวิชาการ เมื่อไหร่ที่ รพท.แห่งนั้น หรือแม้แต่ รพศ.คิดว่าตัวเองดูไม่ได้ เขาจะปฏิเสธ และให้ รพช.หาที่รีเฟอต่อเอง ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่ามันสมควรไหม บางคน try referข้ามเขตแทบทุกจังหวัดรอบด้าน แต่ในเมื่อ รพท. รพศ. ที่เป็นแม่ข่ายเขาไม่รับ แล้วแม่ข่ายอื่นซึ่งก็คงต้องรับลูกข่ายตัวเองก่อนตามหลัก จะมารับลูกข่ายชาวบ้านไปเป็นภาระทำไม

บางค่ำคืนมันเลยเหมือนฝันร้าย หมอ รพช. บางคนก็บีบ bag จนคนไข้ตายจากไปโดยยังหา รพศ.ที่ไหนมารับไม่ได้เลย เรื่องนี้น่าจะเป็นกับทุกจังหวัดที่เป็นระบบ consult ก่อนรีเฟอ-ระบบ รพศ.มีสิทธิ์ปฏิเสธ

ที่ถามมา เคสที่แย่ที่สุด ที่พูดตรงกันว่าเป็นฝันร้ายหมอ รพช.คือ เคส preterm ที่หา nicu ไม่ได้ ตามมาด้วยเคส severe head injury ที่ รพท.-รพศ.แต่ละที่ มักเกี่ยงกันรับ บ้างก็ว่าไม่มีนิวโรศัลย์ บ้างก็มีแต่บอกเป็น multiple trauma ให้ส่งที่สูงกว่า ส่วนที่สูงกว่าก็บอกว่า ทำไมไม่ส่ง รพ.ก่อนหน้านี้ ซึ่งเรื่องแบบนี้เข้าที่ประชุมรีเฟอของจังหวัดประจำ แต่ไม่มีใครทำอะไรได้ หรือไม่อยากทำก็ไม่รู้ เพราะคนตายก็ตายแล้วกันไป มีเรื่องเล่าว่า เคยถึงขั้นมีอินเทินลุกขึ้นถามสตาฟว่า พี่จะให้ผมบีบ bag รอตายที่ไหนช่วยเขียนในไกด์ไลน์ด้วยนะครับ

-ด้านการทำร้ายจิตใจ อย่างที่เขียนไว้ กู มึง อีหน้าโง่ นี่ธรรมดามาก บางครั้งตอนโทรรีเฟอรู้สึกเหมือนไปขอส่วนบุญ แต่ก็ต้องทน เลียแข้งเลียขาเข้าไว้ เพื่อให้คนไข้ได้รีเฟอ บางคนก็บอกว่า เกิดมาพ่อแม่ยังไม่เคยทำกับเราขนาดนี้ โดยที่คนทำ บางครั้งก็เป็นสตาฟ บางครั้งก็เป็นฟิกซ์วอร์ดซึ่งอายุเท่าๆ กัน ดีกรีความดูถูกเหยียดหยามก็จะลดหลั่นกันไป ตอนไปสัมภาษณ์ เพื่อนก็บอกมาว่า ไม่รู้สึกว่าเป็นลูกข่ายแม่ข่าย ไม่รู้สึกว่าเป็นทีมเดียวกัน บางครั้งไม่รู้สึกว่าเป็นคนเหมือนกันด้วยซ้ำ ทำไมถึงกดเราต่ำขนาดนี้ แต่ทุกครั้งก็ต้องทนไป คิดอยู่ในใจว่า สักวันถ้าเป็นสตาฟจะไม่ทำแบบนี้

ตรงนี้อยากเรียนอาจารย์/พี่สตาฟว่า จะทำอะไรขอให้คิดให้ดี เพราะทุกการกระทำที่ทำไป คนที่ต่ำกว่าเค้าจดจำเสมอ ตอนสัมภาษณ์ก็มีคนที่คิดแค้นมากๆ หาทางแก้แค้นก็มี ซึ่งวิธีการแก้แค้น ก็อาจจะเป็นการไปเรียนให้สูงกว่า หรือไปอยู่ รพ.ที่สูงกว่า แล้วรับรีเฟอให้มันยาก ด่ากลับแรงๆ เมื่อเวลานั้นมาถึง ตรงนี้เราเอง no comment แต่เราสมเพชระบบมากๆ ที่ทำไมมันถึงอยู่ด้วยการสร้างความแค้นไปเรื่อยๆ แบบนี้

-เราก็ไม่รู้ว่า อาจารย์/สตาฟจะทราบไหม มันมีความรู้สึกแตกแยกขึ้นมากมาย ระหว่าง รพช.ทั้งประเทศ กับเหล่า รพท.-รพศ.-รรพ.และถ้าต่อไป มันถูกจุดชนวนด้วยปัจจัยอื่นอีกล่ะ?

เสริม- เรารู้มาว่า ปัญหาเหมือนรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ การแบ่งชนชั้นของหมอในปัจจุบัน มันเริ่มมาตั้งแต่สมัยตั้งระบบอินเทิน 30+ ปีก่อน มีการกด รพช.ต่ำตั้งแต่ยุคนั้น เราไม่ทราบเรื่อง รู้แต่ว่า หมอผู้ใหญ่หลายๆ รพช.ก็ยังจำเรื่องนั้นได้ดี อินเทินหลายๆ คนก็รู้เรื่องนี้ และ top up ด้วยความแค้นดังที่กล่าวไป

3.ปัญหาคอรัปชั่น

-นอกจากศึกนอกแล้ว ศึกในก็ยังมี และอาจเป็นเหตุอันดับ 1 ที่ทำให้อินเทินลาออก เรื่องที่เรารับรู้มา เพื่อนๆ ไม่ต้องกังวล เรายังปิดปากเงียบเสมอ และสำหรับ ผอ.ที่คอรัปชั่นก็ไม่ต้องกังวล เราไม่อยากท้าความตาย เราแค่สัมภาษณ์หาสาเหตุความสุขความทุกข์เพื่อนๆ เฉยๆ และเราก็รู้นิดหน่อยๆ น้อยกว่าอินเทินที่หนีพี่มาแน่ๆ

-มีทุจริตหลายอย่างเลยทีเดียว รายละเอียดก็จะข้ามไป เพราะคนให้ข้อมูลก็กลัวตาย แต่อินเทินยืนยันว่า มีตั้งแต่ระแคะระคาย ถูกใช้เป็นเครื่องมือ ถูกใส่ชื่อแทน ในโครงการที่ดูแปลกๆ เทน้ำพริกละลายแม่น้ำ มีนอกมีในต่างๆ และพอรู้ก็มีทั้งคนโดนขู่เบาๆ ไปจนถึงขู่ว่าจะหายตัวไปเฉยๆ บางคนหนีออกมาแล้ว แต่มีคนที่คิดจัดการ ผอ.เหมือนกัน ก็ไม่รู้ว่าต่อไปจะเป็นอย่างไร โดยทั่วไป รพช. มีเงินไม่มาก รายการคอรัปชั่นอาจจะแค่ระดับนิดๆ หน่อยๆ เพื่อนๆ เลยยังอยู่รอดปลอดภัยกันอยู่ ทุกคนก็ระวังตัวกันด้วยนะ

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ไม่ได้ระบุว่ามาจากใคร ภาคไหน ปีไหน มันเป็น overall ของกลุ่มที่เราสำรวจ ณ ขณะนั้น ดังนั้นไม่ได้เจาะจง ว่าใคร หรือเหตุการณ์ไหนๆ ทั้งสิ้นค่ะ

ก็พยายามเขียนเท่าที่มีข้อมูล อาจจะ explicit กว่าที่ลงนิตยสาร แต่ว่าไม่ครบเท่า และไม่มีการ quote คำพูด (ในนิตยสารมี) สำหรับสเตตัสนี้ คงเอาไปใช้อะไรทางวิชาการไม่ได้ เพราะเรายอมรับว่ามีการใส่อารมณ์ และไม่ใส่ที่มาแบบชัดเจน แค่อยากเอามา rewrite ไม่ให้มันหายไปเฉยๆ ก็เท่านั้นเองค่ะ

โดยรวม ทุกคนมีความสุขมากนะตอนอยู่ รพช. และคงไม่ลืมชั่วชีวิต แต่เส้นทางชีวิตนั้นอาจแตกต่างกัน

สิ่งที่นำมาเขียน คือ most common cause of "ความทุกข์" แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่มีความสุขนะ 

ส่วนเราเอามาเขียนก็เพราะอยากให้ทราบปัญหาที่น่าจะจริงที่สุด และอยากให้เกิดความรู้สึกอยากปรับปรุงค่ะ

ไม่แน่ใจว่า จริงๆ แล้วมันสัมพันธ์โดยตรงกับการลาออก หรือการหนีไปจาก รพช.ของแพทย์ยุคใหม่หรือไม่ แต่มันเป็นความทุกข์ 3 อย่างแรกสุด ที่รุนแรงและฮิตที่สุดของชาว รพช.ค่ะ”

ที่มา : ขอบคุณ Facebook/Apichaya Sukprasert