ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ ย้ำจุดยืนตั้ง คกก.กลางควบคุมค่ารักษา รพ.เอกชน เหตุมาตรการแก้ปัญหา สบส.ทั้งเว็บไซต์แสดงราคายา ติดฉลากยา ไม่ตอบโจทย์ รพ.เอกชนคิดแพง วอนนายกรัฐมนตรีช่วยเหลือประชาชน แก้ปัญหาความเดือนร้อน ด้าน “นพ.ประทีป สัจจะมิตร” ระบุ การแก้ไขที่ผ่านมาเป็นเพียงปาหี่ ชี้ นายกฯ สธ. สนช. สปช. และแพทยสภา ต้องจริงใจแก้ปัญหา
นางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาค่ารักษาโรงพยาบาลเอกชนว่า เรื่องนี้เริ่มต้นจากที่ภาคประชาชนได้เรียกร้องขอให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาโดยตั้งคณะกรรมการควบคุมค่ารักษาของโรงพยาบาลเอกชน ผ่าน www.change.org และมีประชาชนร่วมลงชื่อถึง 33,000 รายชื่อ ใน 2 สัปดาห์เนื่องจากมีประชาชนได้รับความเดือนร้อนจากการถูกเก็บค่ายาและค่ารักษาที่สูงเกินจริงมาก แต่หน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรวจสอบไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ นอกจากไม่เป็นหนึ่งเดียวแล้วยังไม่มีอำนาจกฎหมายเพียงพอที่จะจัดการปัญหาได้ ซึ่งต่อมาได้มีการตั้งคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหา โดยมีการออกมาตรการก่อนที่ตัวแทนภาคประชาชนจะเข้าร่วมเป็นกรรมการ ซึ่งในส่วนมาตรการระยะสั้นที่กำหนดให้เห็นผลภายใน 1 เดือน คือ 1.รวบรวบข้อมูลค่ายา ค่าบริการทางการแพทย์ และจัดทำเว็บไซต์ 2.เปิดสายด่วนรับเรื่องร้องเรียน และ 3.ทำเรื่องเจ็บป่วยฉุกเฉินฟรีทุกสิทธิ์ให้เป็นจริง
ทั้งนี้หลังผ่านไป 3 เดือน จนกระทั่งหมดวาระ นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สาธารณสุข และ นพ.ศุภชัย คุณารัตนพฤกษ์ ประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหา นอกจากการดำเนินการทั้ง 3 ข้อยังไม่สำเร็จแล้ว ข้อเสนอการตั้งคณะกรรมการกลางเพื่อควบคุมค่ารักษาโรงพยาบาลเอกชน ตามที่ภาคประชาชนเสนอจนถึงขณะนี้ก็ไม่มีการดำเนินการและไม่มีใครอธิบายเหตุผล ประกอบกับคำสัมภาษณ์ รมว.สาธารณสุขคนใหม่ที่เข้ามาทำหน้าที่ซึ่งระบุว่าไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน เพราะคนไทยยังมีระบบหลักประกันสุขภาพเป็นทางเลือก ทำให้ดูแล้วสิ้นหวังมากขึ้น
ส่วนกรณีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพจัดทำเว็บไซต์แสดงราคาค่ารักษาพยาบาล สามารถแก้ไขปัญหาค่ารักษาได้หรือไม่ นางปรียนันท์ กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาต้องมองไปที่ต้นต่อว่าเกิดจากอะไร วันนี้ประชาชนเดือดร้อนจากการถูกเรียกเก็บค่ายาและค่ารักษาที่เกินจริง ไม่ได้เป็นเพราะไม่มีเว็บไซต์ แต่เป็นเพราะมีการคิดราคาที่แพงมาก และไม่มีหน่วยงานกลางที่คอยกำกับตรวจสอบ ทั้งค่ายาและค่ารักษาที่เป็นธรรม แม้ว่าการจัดทำเว็บไซต์เป็นเรื่องที่ดีแต่ก็ยังไม่สามารถตอบโจทย์ปัญหาได้ทั้งหมด และเมื่อดูในรายละเอียดเว็บไซต์แล้วต้องถามว่ามีประชาชนกี่คนที่ดูแล้วเข้าใจ ดังนั้นจึงควรแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด ไม่ใช่ภาคประชาชนขออย่างแต่กลับออกมาตรการอีกอย่าง
นางปรียนันท์ กล่าวว่า ส่วนกรณีมาตรการติดป้ายราคายานั้น ต้องถามว่าแล้วประชาชนจะมั่นใจได้อย่างไรว่า ราคายาใหม่ที่ติดป้ายนั้น เป็นราคาที่เป็นธรรมจริงและไม่มีการเอาเปรียบจนเกินไป เพราะประชาชนไม่มีความรู้ แล้วใครจะทำหน้าที่ตรวจสอบให้ประชาชนเมื่อไม่มีการตั้งคณะกรรมการหลาง ดังนั้นการปิดฉลากราคายาจึงไม่ตอบโจทย์ปัญหาอย่างแท้จริง
“การแก้ไขปัญหาค่ารักษาพยาบาลเอกชน ในฐานะภาคประชาชนที่ติดตามปัญหาต่อเนื่อง ยืนยันว่าต้องมีการตั้งคณะกรรมการกลางที่เป็นหน่วยงานกลางเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ไม่ใช่หน่วยงานราชการเดิมๆ และให้คณะกรรมการกลางชุดนี้เป็นผู้ออกแบบวิธีการแก้ปัคญหาในภาพรวมทั้งหมด ทั้งค่ายา ค่ารักษา รวมไปถึงกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน” ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ กล่าว
ต่อข้อซักถามว่า ในส่วนของภาคประชาชนและเครือข่ายผู้ป่วยจะผลักดันต่ออย่างไร นางปรียนันท์ กล่าวว่า ยอมรับว่าเป็นเรื่องยากมากที่ภาคประชาชนจะผลักดันให้สำเร็จได้ หากระดับนโยบายไม่กล้าแตะต้องโรงพยาบาลเอกชน และเพียงแต่บอกว่าโรงพยาบาลเอกชนเป็นเพียงทางเลือก หรืออีกนัยหนึ่งคือถ้าจนก็อย่าเข้ารักษาโรงพยาบาลเอกชน ไม่ได้ให้ความสำคัญต่อความเดือดร้อนของประชาชน ทั้งที่หลายครอบครัวต้องสิ้นเนื้อประดาตัวจากค่ารักษาที่ถูกเรียกเก็บสูงเกินจริง
“อย่าลืมว่าประชาชนไม่มีอำนาจอะไรอยู่ในมือเลย ในเรื่องนี้จะสู้กับกลุ่มทุนธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนได้อย่างไร และที่ผ่านมาเหมือนทุ่มหินก้อนใหญ่ลงน้ำ กระเพื่อมเพียงชั่วครู่แล้วก็หายไป ขณะที่การแก้ไขปัญหายังไม่สำเร็จ และเครือข่ายผู้เสียหายฯ ก็ยังคงได้รับเรื่องร้องเรียนต่อเนื่อง ทั้งในเรื่องเจ็บป่วยฉุกเฉิน ปัญหาการหาโรงพยาบาลรับส่งต่อไม่ได้ และค่ารักษาโรงพยาบาลเอกชนที่แพงมาก ไม่เพียงเฉพาะคนไทยเท่านั้น ยังมีชาวต่างชาติร้องเรียนเข้ามา และเชื่อว่า ทั้ง สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค แพทยสภา หรือแม้แต่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพเอง คงได้รับเรื่องร้องเรียนเหล่านี้ไม่น้อยเช่นกัน”
นางปรียนันท์ กล่าวว่า ขอวิงวอนถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อช่วยแก้ปัญหานี้ให้กับประชาชน โดยขอให้ดำเนินการดังนี้ 1.การตั้ง คกก.กลางเพื่อควบคุมค่ายาและค่ารักษาโรงพยาบาลเอกชน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย 2.เร่งแก้ไขปัญหากรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน ให้สามารถเข้าได้ทุกที่ฟรีทุกสิทธิ์ใน 72 ชม.ได้จริง เนื่องจากขณะนี้ประชาชนที่เข้ารักษาตรงตามเงื่อนไขแต่กลับถูกเรียกเก็บค่ามัดจำ ถูกบังคับให้เซ็นรับสภาพหนี้ ให้จ่ายล่วงหน้าแต่เบิกคืนได้ไม่ครบ ทั้งที่กลไกรัฐควรช่วยดูแลและจัดการกลไกการเงินการคลังให้มีประสิทธิภาพ ไม่ให้เกิดการเกี่ยงงอนจากโรงพยาบาลเอกชน และ 3.รัฐควรปฏิรูปคณะกรรมการแพทยสภาที่มาจากการเลือกตั้ง ให้มีประชาชนเป็นตัวแทนเข้าไปคานอำนาจ เหมือนหลายประเทศทั่วโลกที่มีปัญหาด้านวิกฤตศรัทธาต่อองค์กรวิชาชีพ เพื่อลดปัญหากลุ่มทุนธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนที่เข้าไปกุมอำนาจในระดับนโยบาย ที่มุ่งเน้นแต่ด้านธุรกิจแต่ละเลยการพัฒนาโรงพยาบาลของรัฐบาล
ด้าน นพ.ประทีป สัจจะมิตร หนึ่งในตัวแทนภาคประชาชน ซึ่งเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาค่ารักษาโรงพยาบาลเอกชน กล่าวว่า การดำเนินการแก้ปัญหาที่ผ่านมามองว่าเป็นแค่การเสแสร้งของภาครัฐที่เหมือนกับจะจริงจังแต่ในที่สุดก็เป็นแค่ปาหี่ และทุกอย่างเงียบหายไป ขณะที่มาตรการต่างๆ ที่ออกมาก็ไม่ได้ประโยชน์กับประชาชน เพราะไม่สามารถควบคุมค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชนได้ ถือว่าได้ประโยชน์น้อยมาก และยังคงเป็นการผลักภาระกับประชาชน ดังนั้นทางออกจึงต้องดำเนินหน้ามาตรการตามที่ภาคประชาชนเรียกร้อง คือการจัดตั้งคณะกรรมการกลางเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบโรงพยาบาลเอกชนว่ามีการคิดค่าใช้จ่ายถูกต้องและเป็นธรรมหรือไม่ ซึ่งจะควบคุมค่ารักษาพยาบาลและแก้ไขปัญหานี้ได้
“เท่าที่ดูขณะนี้ ภาคประชาชนคงได้แต่สวดมนต์ภาวนาขอฟ้าดิน เพราะทั้งนายกรัฐมนตรี กระทรวงสาธารณสุข แม้แต่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และแพทยสภา ล้วนไม่ใส่ใจต่อปัญหานี้ และต่างไม่กล้าแตะโรงพยาบาลเอกชน เพียงแต่บอกว่าโรงพยาบาลเอกชนเป็นแค่ทางเลือกในการเข้ารับการรักษาเท่านั้น จึงได้แต่ภาวนาว่าท่านเหล่านี้จะมีความกล้าและจริงใจที่จะทำในสิ่งที่ควรเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน”
- 25 views