สปสช.เผย 7 ปี มีหน่วยรับเรื่องร้องเรียนที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียน 106 แห่งใน 73 จังหวัด ตั้งเป้าปี 59 ครบทุกจังหวัด เพื่อคุ้มครองสิทธิ และเผยแพร่ข้อมูลความรู้ให้ประชาชนเข้าใจในการใช้สิทธิ เป็นช่องทางในการร้องเรียนและแก้ปัญหาให้กับประชาชน กรณีได้รับบริการสาธารณสุขที่ไม่ได้มาตรฐานหรือเกิดความเสียหายจากการรับบริการ ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อจับผิด แต่รับข้อเสนอเพื่อสร้างความเข้าใจทั้งหน่วยบริการและประชาชน
นพ.รัฐพล เตรียมวิชานนท์ ประธานกลุ่มภารกิจงานสาขาเขตและการมีส่วนร่วม สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มาตรา 50(5) สปสช.ต้องมีกลไก “หน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียน” เพื่อคุ้มครองสิทธิ และเผยแพร่ข้อมูลความรู้ให้ประชาชนเข้าใจในการใช้สิทธิ เป็นช่องทางในการร้องเรียนและแก้ปัญหาให้กับประชาชน กรณีได้รับบริการสาธารณสุขที่ไม่ได้มาตรฐานหรือเกิดความเสียหายจากการรับบริการ ทั้งนี้ สปสช.ตั้งใจให้หน่วยรับเรื่องร้องเรียนฯ เป็นกลไกที่เป็นอิสระตามเจตนารมณ์ของกฏหมาย ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพให้มีความมั่นคง ยั่งยืน โดยเฉพาะเรื่องการสร้างความเข้าใจ การพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพ การประสานเชื่อมโยงป้อนข้อมูลการรับบริการกับหน่วยบริการ เพื่อนำไปสู่มาตรฐานการบริการ ด้วยบทบาทและข้อมูลจากการเป็นหน่วยรับเรื่องร้องเรียนฯ ของภาคประชาชน ซึ่งคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุขได้ขึ้นทะเบียนหน่วยรับเรื่องร้องเรียนที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียน เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2552 ตั้งแต่ปี 2552-2558 มีหน่วยรับเรื่องร้องเรียนฯ 106 แห่งใน 73 จังหวัด และในปี 2559 นี้จะมีศูนย์รับเรื่องร้องเรียนครบทุก 77 จังหวัด
นพ.รัฐพล กล่าวต่อว่า สำหรับประเภทเรื่องที่ร้องเรียน แบ่งเป็น มาตรฐานการให้บริการ ไม่ได้รับความสะดวก ถูกเรียกเก็บเงิน ไม่ได้รับบริการตามสิทธิที่กำหนด กรณีได้รับความเสียหายฯ ม.41 การให้ความช่วยเหลืออื่น และมีแผนพัฒนาหน่วยรับเรื่อร้องเรียนที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียน 4 แผนงาน ได้แก่ 1.เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ การรับรู้เข้าถึงสิทธิและการคุ้มครองสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพของประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมาย 2.การพัฒนารูปแบบมาตรฐานการรับเรื่องร้องเรียนของหน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียน 3.การพัฒนาระบบศูนย์ข้อมูลข่าวสารสำหรับหน่วยรับเรื่องร้องเรียนและกระบวนการร้องเรียน และ 4.การร่วมพัฒนาและผลักดันข้อเสนอเชิงนโยบาย ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก
ด้าน นายธนชัย ฟูเฟื่อง ผู้ประสานงานศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน จ.เชียงราย ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยรับเรื่องร้องเรียนฯ 1 ใน 2 แห่งของ จ.เชียงราย กล่าวว่า หน่วยรับเรื่องร้องเรียนฯ นี้ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อจับผิด แต่เป็นการรับข้อเสนอเพื่อสร้างความเข้าใจทั้งต่อหน่วยบริการและประชาชน เน้นการไกล่เกลี่ย ทำความเข้าใจ ที่มาของการก่อตั้งนั้น มาจากการรวมตัวในชุมชนตั้งเป็นเครือข่ายด้านสุขภาพในชื่อ ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน มีภารกิจพัฒนาศักยภาพเครือข่าย ประชาชนเข้าใจสิทธิระบบหลักประกันสุขภาพ การปฏิบัติและการช่วยเหลือในด้านต่างๆ ต่อมาเพิ่มการมีส่วนร่วมในด้านส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค การให้คำปรึกษา สร้างความเข้าใจ เจรจาไกล่เกลีย และส่งต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการใช้สิทธิการช่วยเหลือเบื้องต้นตามมาตรา 41 และยกระดับขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยรับเรื่องร้องเรียนฯ ผลการดำเนินการที่ผ่านมาได้ให้คำปรึกษา เจรจา ไกล่เกลี่ย ลดข้อขัดแย้ง ซึ่งในปี 58 มีผลงานช่วยเหลือประชาชน 12 ราย
- 22 views