กระทรวงสาธารณสุข เผยคนไทยป่วยด้วยโรควัณโรค 113,900 คน เข้าสู่ระบบการรักษาประมาณ 67,000 คน ตั้งเป้าลดการป่วย การตาย การขาดยา และป้องกันการดื้อยาภายในปี 2562
เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2558 นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังตรวจเยี่ยมมอบนโยบายและติดตามการดำเนินงานโครงการวัณโรคดื้อยาในจังหวัดกาญจนบุรี โดยพบผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ปีละประมาณ 900 คน เป็นคนในพื้นที่ 700 คน คนต่างชาติ 200 คน มีปัญหาเชื้อดื้อยาหลายขนาน พบมากที่สุด อ.ท่ามะกา รองลงมาท่าม่วง และพนมทวน สาเหตุจากผู้ป่วยไม่สมัครใจรักษา ทนต่ออาการข้างเคียงของยาไม่ได้ อาศัยไม่เป็นหลักแหล่ง ไม่มีญาติ ทำงานหลายพื้นที่ และปกปิดตัวเองเนื่องจากถูกตีตรา
นพ.โสภณ กล่าวว่า วัณโรคเป็นปัญหาสาธารณสุขระดับโลก องค์การอนามัยโลกรายงานตัวเลขผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ทั่วโลกปีละ 9 ล้านคน เข้าสู่ระบบการรักษา 6 ล้านคน มีปัญหาการดื้อยาประมาณร้อยละ 20.5 เท่านั้น ในประเทศไทยปี 2558 พบผู้ป่วยวัณโรค113,900 คน เข้าสู่ระบบรักษาประมาณ 67,000 คน มีผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาร้อยละ 2 และผู้ป่วยรายเก่าดื้อยาร้อยละ 19 ทำให้ต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาจาก 2-4 พันบาท เป็น 2 แสน -1 ล้านบาทต่อคน ได้กำหนดยุทธศาสตร์ระดับชาติ 5 ปี พ.ศ. 2558-2562 ตั้งเป้าลดการป่วย การตาย การขาดยา และป้องกันการดื้อยาภายในปี 2562
ดำเนินการเน้นหนัก 3 เรื่อง คือ 1.ป้องกันแก้ไขปัญหาวัณโรค โดยค้นหาผู้ป่วยตั้งแต่ยังไม่มีอาการ 2.เมื่อพบแล้วให้นำเข้าสู่ระบบการรักษาต่อเนื่อง การติดตามการกินยาของผู้ป่วยให้หายขาด ยังช่วยลดการแพร่เชื้อไปสู่คนรอบข้างและในชุมชนได้และ3.ตั้งเป้าลดผู้ป่วยรายใหม่ให้ได้อย่างร้อยร้อยละ 20 โดยสร้างกระแสให้ประชาชนเกิดการรับรู้ ตื่นตัว ตระหนักและมีความรู้ในการดูแลสุขภาพเพื่อป้องกันวัณโรค ให้ประชาชนมีทัศนคติที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรควัณโรค และนำไปสู่การลดการรังเกียจตีตราผู้ป่วย อันจะนำไปสู่จุดมุ่งหมายสูงสุด คือ“เมืองไทยปลอดวัณโรค” ซึ่งผู้ป่วยวัณโรคทุกคนจะได้รับการรักษาฟรี
นพ.พนัส โสภณพงษ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี กล่าวว่า จังหวัดกาญจนบุรี ได้ทำงานเชิงรุก ค้นหาผู้ป่วยรายใหม่ โดยการจัดหน่วยเคลื่อนที่และรถเอ็กซเรย์ปอดกลุ่มเสี่ยงในเรือนจำและชุมชน โดยในเรือนจำกาญจนบุรี ตรวจผู้ต้องขัง 3,125 คน พบผิดปกติ 163 คน พบผู้ป่วย 38 คน ส่วนเรือนจำ อ.ทองผาภูมิ ตรวจ 931 คน พบผิดปกติ 55 คน พบผู้ป่วย 4 คน โดยผู้ที่ผลการตรวจผิดปกติจะได้รับการตรวจเพิ่มเติมส่วนผู้ป่วยจะนำเข้าสู่ระบบการรักษา โรคนี้รักษาหายขาดได้ด้วยการกินยาฆ่าเชื้อต่อเนื่อง
ส่วนมาตรการเพื่อลดปัญหาวัณโรคดื้อยาหลายขนาน จะมีทีมสหวิชาชีพบริหารจัดการตามระบบควบคุมวัณโรคแห่งชาติ โดยให้ยาฆ่าเชื้อติดต่อกัน 6-8 เดือน มีพี่เลี้ยงกำกับติดตามอย่างใกล้ชิด แต่หากเป็นเชื้อวัณโรคดื้อยาการรักษาจะยาวนาน 18 เดือนถึง 2 ปี ค้นหาและวินิจฉัยเร็วในกลุ่มเสี่ยงทุกกลุ่ม ผู้สัมผัส, ผู้ป่วยเบาหวาน, ผู้ป่วยเอดส์, ผู้สูงอายุ, ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง, ต่างด้าว และผู้ต้องขัง รวมทั้งบูรณาการงานวัณโรคกับงานอำเภอควบคุมโรคเข้มแข็งแบบยั่งยืนและตำบลจัดการสุขภาพ เพื่อให้ผู้นำชุมชนและท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา ซึ่งขณะนี้สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จ.กาญจนบุรีได้สนับสนุนเงินช่วยเหลือผู้ป่วยวัณโรครายละ 2,000 บาท จำนวน 53 ราย
- 12 views