จากการศึกษาพบว่าในกลุ่มผู้ที่อายุ 45-80 ปี นั้นจะพบผู้ป่วยด้วยโรคหลอดเลือดสมอง 1,880 คนต่อประชากรแสนคน นั่นหมายถึงทุกๆ 4 นาทีจะมีผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองรายใหม่ 1 ราย สำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดสมอง ทุกวินาทีมีค่าหมายถึงชีวิต การรู้ทันอาการและความรวดเร็วในการส่งต่อคนไข้ให้ถึงมือแพทย์ คือหัวใจสำคัญในการทำให้คนไข้รอดพ้นจากวิกฤติ มีโอกาสรอดชีวิตและหายเป็นปกติมากขึ้น
สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งโรงเรียนแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข สมาคมวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง จัดตั้งเครือข่ายโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke Fast Track) และโรคหลอดเลือดหัวใจ (STEMI) มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อลดความเสี่ยงในการป่วยเป็นอัมพฤตอัมพาตและเสียชีวิต โดยได้เริ่มโครงการในปี 2551 เป็นต้นมา มีการจัดทำเครือข่าย กระจายไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ
รศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า
รศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า นายกสมาคมประสาทวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้าน ประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า ในพื้นที่เขต 7 ขอนแก่น ซึ่งมี 4 จังหวัด คือ กาฬสินธุ์ ขอนแก่น มหาสารคาม และร้อยเอ็ด มี โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และโรงพยาบาลขอนแก่น เป็นแม่ข่ายร่วมกันจากการทำงานเป็นเครือข่ายต่อเนื่อง 6 ปี ส่งผลให้ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเข้าถึงการรักษาเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยในปี 2551 มีผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่ได้รับยาละลายลิ่มเลือดน้อยมาก เพียงแค่ 0.01 % เท่ากับมีผู้ป่วย 10,000 คน ได้รับยาละลายลิ่มเลือดเพียง 1 คนเท่านั้น แต่ในปี 2556 อัตราการเข้าถึงเริ่มเพิ่มขึ้นชัดแจน และในปี 2557 อัตราการเข้าถึงเพิ่มเป็นร้อย 220% ถือว่าเป็นสัดส่วนการเข้าถึงที่เยอะมาก ขณะที่มีผู้ป่วยที่ได้รับยาละลายลิ่มเลือดเพิ่มเป็น 3.81% หรือ 381 เท่าทั้งประเทศมีโรงพยาบาล 73 จังหวัดสามารถให้ยาละลายลิ่มเลือดได้แล้ว และในพื้นที่ภาคอีสานนั้นทุกจังหวัดสามารถให้ยาละลายลิ่มเลือดได้แล้ว
เครือข่ายการบริการโรคหลอดเลือดสมองและหัวใจ “โรงพยาบาลกมลาไสย จ.กาฬสินธุ์” เป็นอีกหนึ่งเครือข่ายที่มีความเข้มแข็ง ทำงานกันเป็นทีมมีเครือข่าย ที่จับมือร่วมกันตั้งแต่โรงพยาบาลกมลาไสย โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ทุกแห่ง อสม. เทศบาล อบต. และหน่วยกู้ชีพที่จะช่วยนำตัวผู้ป่วยมาถึงโรงพยาบาลได้อย่างรวดเร็ว และใช้ “สุขศาลา” ซึ่งเป็นศูนย์เรียนรู้ที่คนในชุมชนได้ร่วมใจกันตั้งขึ้นเป็นศูนย์กลางในการให้ความรู้ ความเข้าใจกับคนในชุมชน จะได้เป็นเครือข่ายช่วยกันเฝ้าระวัง และเมื่อมีเหตุเกิดขึ้นก็สามารถเรียกรถพยาบาลผ่านสายด่วน 1669 เพื่อนำส่งผู้ป่วยไปถึงโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด
นพ.สุพัฒน์ ธาตุเพชร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า โรงพยาบาลได้ตระหนักถึงความสำคัญของโรคนี้ และได้สร้างบุคลากรให้สามารถคัดกรองอาการของผู้ป่วยให้รวดเร็วที่สุด และได้พัฒนาขีดความสามารถให้แพทย์ของโรงพยาบาลสามารถให้ยาละลายลิ่มเลือดหัวใจในเบื้องต้นได้ ส่วนโรคหลอดเลือดสมองมีระบบการคัดกรองและสามารถส่งผู้ป่วยไปถึงโรงพยาบาลกาฬสินธุ์ได้อย่างรวดเร็ว แต่วิธีที่ดีที่สุดคือประชาชนจะต้องมีความรู้ความเข้าใจในโรคนี้ เมื่อมีอาการ คือ แขน ขาอ่อนแรงครึ่งซีกของร่างกาย ปากเบี้ยว หลับตาไม่สนิท พูดไม่ชัด พูดลำบาก นึกคำพูดไม่ออก ซึ่งเป็นอาการที่เกิดขึ้นแบบรวดเร็ว ทันทีทันใด ไม่มีอาการเตือน พบบ่อยหลังตื่นนอน และขณะทำกิจกรรมให้รีบมาโรงพยาบาลทันที
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เครือข่ายโรคหลอดเลือดสมองและหัวใจ ได้ทำงานในพื้นที่ “เชิงรุก” นั่นคือ “ทีมหมอครอบครัว” นายเกษม ชัยฤทธิ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลธัญญา จ.กาฬสินธุ์ เล่าว่า ทีมหมอครอบครัวของ รพ.สต. จะร่วมกับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ทำหน้าที่ให้ความรู้เรื่องโรคหัวใจและหลอดเลือดแก่ทุกชุมชนใน อ.กมลาไสย และ อ.ฆ้องชัย ขณะเดียวกัน ก็จะทำหน้าที่ตรวจคัดกรองระดับความรุนแรงในกลุ่มผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยงเช่น กลุ่มผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ป่วยความดันโลหิตสูง แล้วนำผลที่ได้ไป “คืนข้อมูล” ให้กับชุมชนเทศบาล และ อบต. ซึ่งมีหน่วยกู้ชีพในท้องถิ่น
นายประยูร เหมพิพัฒน์ นายกเทศมนตรีตำบลดงลิง อ.กมลาไสย ระบุว่าทีมงานกู้ชีพของเทศบาลทุกคนก่อนจะทำงานได้จะต้องได้รับการฝึกอบรมการกู้ชีพจากโรงพยาบาลกมลาไสยก่อน และจะมีการฝึกทบทวนตามมาตรฐานของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ( สพฉ.) ทุกปี เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ป่วยได้อย่างดีที่สุด และทางเทศบาลจะมีประชุมทบทวนแผนการทำงานของหน่วยกู้ชีพกับทางโรงพยาบาลทุกปี เพื่อดูว่ามีสิ่งใดต้องปรับปรุงบ้าง
ข้อมูลจากทีมหมอครอบครัวที่ถูกส่งมาที่ เทศบาล หรือ อบต. จะถูกเก็บไว้เป็นฐานข้อมูล ในกรณีที่ผู้ป่วยหรือญาติโทรเรียกรถกู้ชีพ 1669 เมื่อได้รับแจ้งเหตุ เจ้าหน้าที่ที่ได้รับการอบรมจากโรงพยาบาลแล้ว จะตรวจสอบว่าชื่อของผู้ป่วยที่แจ้งมานั้น ตรงกับข้อมูลผู้ที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจหรือโรคหลอดเลือดสมองหรือไม่ หากเป็นผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูง หรือมีอาการเข้าข่ายเป็นโรคนี้ก็จะให้การ ช่วยเหลือในเบื้องต้นก่อนรีบนำส่ง รพ.กมลาไสยให้เร็วที่สุด
หากผู้ป่วยที่มีอาการ “ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด แขนขาอ่อนแรง” ได้รับยาละลายลิ่มเลือดได้ทันภายในเวลา 4 ชั่วโมงครึ่ง นับตั้งแต่มีอาการเริ่มต้น จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นอัมพาตได้ แต่หากเลย “ช่วงเวลาทอง” นี้ไปแล้วโอกาสที่จะรักษาให้เป็นปกติน้อยมาก ดังนั้นผู้ป่วยจึงต้องถูกนำส่งเข้าสู่ระบบการรักษาโดยเร็วที่สุด อย่างน้อยก็ต้องถึงโรงพยาบาลภายใน 3 ชั่วโมง เพราะในโรงพยาบาลจะต้องมีกระบวนการวินิจฉัยและรักษาอีก 1 ชั่วโมงเมื่อผู้ป่วยมาถึงโรงพยาบาล แพทย์จะพิจารณาว่าสามารถให้ยาละลายลิ่มเลือดได้หรือไม่ หากสามารถให้ได้แพทย์จะเริ่มให้การรักษาทันที
ก่อนหน้านี้ยาละลายลิ่มเลือดมีราคาแพงมาก ทำให้ผู้ป่วยสิทธิหลักประกันสุขภาพ (บัตรทอง) ส่วนใหญ่เข้าไม่ถึงการรักษา แต่ปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง ประกันสังคม หรือสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการก็สามารถได้รับยาละลายลิ่มเลือดได้ จึงเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างในการลดความเหลื่อมล้ำในการรักษาพยาบาล และช่วยให้คนไทยทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น.
- 264 views