ผู้แทนธนาคารโลก หนุน “ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” เน้นเพิ่มความสำคัญแก้ปัญหาฝั่งผู้ให้บริการ งบต้องเพียงพอต่อค่าใช้จ่าย ไม่กระทบคุณภาพบริการ “นักเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขโลก” ระบุ รัฐต้องจัดสรรงบจากภาษีอย่างเสมอภาค ดูแลประชาชนทุกระบบอย่างเท่าเทียม ด้าน “นิมิตร์” ยัน ไทยต้องมีระบบหลักประกันสุขภาพระบบเดียว แต่หากมีหลายระบบ ต้องเดินหน้าข้อเสนอ 8 ข้อลดความเหลื่อมล้ำ
เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2558 ในการเสวนา “ความเสมอภาคด้านสุขภาพ : ทฤษฎี ประสบการณ์จากต่างประเทศ และสถานการณ์ในประเทศไทย” ในการประชุมระดับชาติด้านหลักประกันสุขภาพของประเทศไทย ครั้งที่ 1 (พ.ศ. 2558) “หลักประกันสุขภาพ: ความก้าวหน้า ความท้าทาย และความกลมกลืน”
ดร.โทมัส พาลู ผู้จัดการหน่วยประชากร โภชนาการและสุขภาพของธนาคารโลก ประจำภูมิภาคเอเซียตะวันออกและแปซิฟิก (Dr. Toomas Palu. Sector Manager, Health Nutrition and Population; East Asia and Pacific Region The World Bank Thailand) กล่าวว่า ตัวชี้วัดระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ตามหลักการขององค์การอนามัยโลกคือ การเข้าถึงบริการที่จำเป็นด้านสุขภาพ ครอบคลุมประชากร และช่วยป้องกันความเสี่ยงทางการเงินให้กับประชาชน ซึ่งเป็นแนวทางที่ดีสำหรับประเทศต่างๆ ทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม แต่ในหลายประเทศยังดำเนินการได้ยาก โดยประชาชนยังต้องควักเงินในกระเป๋าเพื่อจ่ายค่าใช้จ่ายสุขภาพในสัดส่วนที่สูงอยู่ ยกเว้นประเทศไทยที่ประชาชนมีสัดส่วนการจ่ายค่าใช้จ่ายสุขภาพที่ต่ำ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก
อย่างไรก็ตามเมื่อพูดถึงค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ อยากเน้นไปยังฝั่งผู้ให้บริการมากกว่า โดยรัฐต้องลดปัญหาการเงินให้กับผู้ให้บริการ การเพิ่มงบประมาณ เพราะหากผู้ให้บริการมีปัญหาอาจกระทบถึงคุณภาพบริการที่ดีได้ จึงนับเป็นประเด็นท้าทาย นอกจากนี้ยังต้องดูในส่วนผู้ให้บริการ ไม่แต่เฉพาะจำนวนผู้ให้บริการที่ต้องเพียงพอ แต่รวมถึงการกระจายตัว ความรู้และความสามารถในการปฏิบัติงาน ซึ่งจะทำให้ตอบโจทย์ระบบสุขภาพได้
ศาสตราจารย์ แอนน์ มิลส์ (Anne Mills) ศาสตราจารย์ด้านนโยบายและเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข ภาควิชาสาธารณสุขและนโยบาย มหาวิทยาลัยลอนดอน สหราชอาณาจักร (London School of Hygiene & Tropical Medicine, University of London) กล่าวว่า รัฐบาลควรมีความเสมอภาคในการกระจายงบประมาณที่ได้จากภาษี เพื่อจัดสรรรายหัวประชากรในทุกระบบดูแลสุขภาพประชาชนอย่างเท่าเทียม โดยพยายามหาวิธีการแบ่งสัดส่วนงบประมาณให้ดีขึ้น นอกจากนี้ยังควรดูในเรื่องการจัดการเพื่อปรับให้ระบบมีประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งนี้ไม่เห็นด้วยกับการเปรียบเทียบระหว่างระบบหลักสุขภาพ เนื่องจากปัจจัยทางเศรษฐกจิและสังคมของแต่ละกลุ่มมีความแตกต่างกัน
นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า สิ่งที่อยากได้ที่สุดขณะนี้ คืออยากให้มีระบบหลักประกันสุขภาพระบบเดียว ที่ดูแลสิทธิประโยชน์ที่สำคัญกับชีวิตและทุกคนได้อย่างเสมอภาค ซึ่งคิดว่าทุกคนคงอยากเห็นเช่นกัน เพราะขณะนี้เราอยู่ในระบบที่มีหลายหลักประกันสุขภาพและไม่ว่าจะเป็นระบบประกันสังคม สวัสดิการข้าราชการ และระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ล้วนแต่ใช้เงินจากภาษีที่เก็บจากประชาชนเป็นหลัก แต่รัฐบาลกลับจัดสรรเงินให้แต่ละระบบเพื่อดูแลสุขภาพประชาชนไม่เท่ากัน นับเป็นความอยุติธรรมที่นำมาสู่ความไม่เท่าเทียมกัน และเป็นต้นตอของความเหลื่อมล้ำและยุ่งยากของระบบหลักประกันสุขภาพที่ไม่เท่ากัน
ทั้งนี้หากยืนยันว่า ประเทศไทยยังคงต้องมีหลักประกันสุขภาพหลายระบบ รัฐจะต้องดำเนินการตามข้อเสนอ 8 ข้อ ดังนี้ 1.ทุกระบบหลักประกันสุขภาพได้รับค่าเหมาจ่ายรายหัวเท่ากัน มีการกำหนดสิทธิประโยชน์กลางเพื่อให้ทุกระบบใช้ร่วมกัน 2.การจัดหางบประมาณที่เป็นธรรมกับทุกระบบ ซึ่งปัจจุบันมีเพียงระบบประกันสังคมที่ยังร่วมจ่าย 3.ควบคุมค่าใช้จ่ายค่ารักษาพยาบาลที่เหมาะสม เพราะปัจจุบันแต่ละระบบมีการจ่ายที่ไม่เท่ากัน ส่งผลให้เกิดการปฏิเสธและการเข้าถึงการรักษา 4.มีกติกากำหนดให้ทุกโรงพยาบาลและหน่วยบริการเข้าไปอยู่ภายใต้หลักประกันสุขภาพระบบใดระบบหนึ่งเพื่อการันตีการเข้าถึงการรักษา
5.ต้องมีแผนยุทธศาสตร์กระจายหน่วยบริการ กำลังคนด้านสุขภาพ และการพัฒนาหน่วยบริการให้มีคุณภาพ 6.มีการใช้ข้อมูลเดียวกันเพื่อร่วมบริหารจัดการหลักประกันสุขภาพให้มีประสิทธิภาพที่สุด 7.ให้ทุกระบบหลักประกันสุขภาพมีการดูแลผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการรับบริการสุขภาพ รวมถึงผู้ให้บริการด้วย และ 8.สร้างกระบวนการมีส่วนร่วมทั้งจากองค์การบริการส่วนท้องถิ่น ภาคประชาชน องค์กรภาคประชาน เพื่อร่วมกันคิดพัฒนาเป็นเจ้าของทำให้ระบบสมบูรณ์
“ข้อเสนอนี้เป็นความท้าทายและเชื่อว่าทุกคนอยากเห็นทุกคนเข้าถึงการรักษา เข้าถึงการป้องกันสุขภาพ และผู้ให้บริการมีความสุขในการบริการ จึงควรเดินหน้าเพื่อลดความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นนี้” นายนิมิตร์ กล่าว
- 5 views