ครม.เห็นชอบให้ สปสช.ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางในการบริหารจัดการทะเบียนสิทธิรักษาพยาบาลของประชาชน เพื่อให้ประชาชนทุกคนมีสิทธิรักษา ลดปัญหาสิทธิซ้ำซ้อน คาดว่าช่วยให้รัฐลดค่าใช้จ่ายสุขภาพซ้ำซ้อนลงได้โดย 1,425 ล้านบาท จากผู้มีสิทธิซ้ำซ้อน 475,000 ราย
คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 พ.ย.58 ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม ได้มีมติเห็นชอบตามที่ พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี เสนอการทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางในการบริหารจัดการทะเบียนสิทธิรักษาพยาบาลของประชาชน (National Beneficiary Registration Center) ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีรายละเอียดดังนี้
1.มอบหมายให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ควบคุมดูแล สปสช.ในการทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางในการบริหารจัดการทะเบียนสิทธิรักษาพยาบาลของประชาชน (National Beneficiary Registration Center)
2.เห็นชอบให้หน่วยงานซึ่งดำเนินการจัดทำฐานข้อมูลผู้มีสิทธิรักษาพยาบาลทุกหน่วยงาน จัดส่งข้อมูลผู้มีสิทธิรักษาพยาบาลของบุคลากรหน่วยงานรวมถึงผู้ใช้สิทธิร่วมให้แก่ สปสช.เพื่อทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลในการบริหารจัดการทะเบียนสิทธิรักษาพยาบาลของประชาชน
สาระสำคัญของเรื่อง
นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ รายงานว่า ปัจจุบัน สปสช. ทำหน้าที่บริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติดูแลประชาชนไทยที่ไม่ได้รับสิทธิรักษาพยาบาลจากระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการและบุคคลในครอบครัว ระบบประกันสังคม และสิทธิรักษาพยาบาลอื่นๆ ที่รัฐจัดให้ จึงจำเป็นต้องได้รับข้อมูลผู้มีสิทธิรักษาพยาบาลจากกองทุนและหน่วยงานที่รับผิดชอบการบริหารจัดการสิทธิรักษาพยาบาลที่รัฐจัดให้กับบุคคลกลุ่มต่างๆ เพื่อดำเนินการให้ฐานข้อมูลผู้มีสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลจากรัฐมีความครบถ้วน ถูกต้อง เป็นปัจจุบัน เป็นฐานข้อมูลกลางของประเทศ และ สปสช.สามารถมีข้อมูลในการจัดให้ผู้ไม่มีสิทธิอื่น ได้รับการลงทะเบียนสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ซึ่งกำหนดให้บุคคลทุกคนมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพ
ปัจจุบันการบริหารจัดการข้อมูลสิทธิรักษาพยาบาลที่รัฐจัดให้ยังขาดระบบทะเบียนสิทธิรักษาพยาบาลกลางที่จะใช้อ้างอิงร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ ส่งผลให้รัฐเสียค่าใช้จ่ายในการจัดสรรงบประมาณให้แก่ประชาชนด้วยสิทธิที่อาจซ้ำซ้อนกันระหว่างหน่วยงานรัฐ เช่น ผู้มีสิทธิรัฐวิสาหกิจ อาจได้รับสิทธิหลักประกันสุขภาพด้วย หรือบุคคลในครอบครัวของผู้มีสิทธิรัฐวิสาหกิจ อาจได้รับสิทธิข้าราชการด้วย
ดังนั้น การบริหารจัดการระบบทะเบียนสิทธิรักษาพยาบาลของประชาชนอย่างเป็นระบบ คาดว่ารัฐสามารถลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่ซ้ำซ้อนลงได้เป็นมูลค่าโดยประมาณการ 1,425 ล้านบาท โดยคำนวณจากผู้มีสิทธิซ้ำซ้อน 475,000 ราย อีกทั้งยังสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลดังกล่าวเพื่อการวางแผนด้านค่าใช้จ่ายสาธารณสุขได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ภาครัฐสามารถเห็นภาพรวมของข้อมูลสิทธิรักษาพยาบาล และค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลของหน่วยงานรัฐทุกแห่งของประเทศได้อย่างครบถ้วน
- 16 views