กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แนะประชาชนช่วงฤดูหนาวไม่ควรอยู่ใกล้พื้นที่มีนกอพยพ เพราะอาจได้รับเชื้อโรคไข้สมองอักเสบโดยมียุงรำคาญและยุงลายเป็นพาหะ พร้อมโชว์นวัตกรรมป้องกันยุง RepelMos สามารถป้องกันการกัดของยุงพาหะได้ทุกชนิดได้นาน 5-7 ชั่วโมง โดยไม่ระคายเคืองต่อผิวหนังและไม่มีกลิ่นรบกวนผู้ใช้
นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า ในช่วงฤดูหนาวจะมีการอพยพของนกจากต่างประเทศเข้ามาในบ้านเราเป็นจำนวนมาก นกเหล่านี้สามารถนำเชื้อโรคได้หลายชนิดทำให้มีการระบาดของโรคในพื้นที่ต่างๆ โดยที่เชื้อไม่ทำให้นกป่วย เช่น โรคไข้สมองอักเสบเจอี (Japanese encephalitis) ไข้สมองอักเสบเวสต์ไนล์ (West Nile encephalitis) ซึ่งโรคดังกล่าวมียุงหลายชนิดเป็นพาหะ โดยเฉพาะยุงรำคาญและยุงลาย ทั้งนี้ในประเทศไทย ยังไม่พบการระบาดของไข้สมองอักเสบเวสต์ไนล์ พบแต่โรคไข้สมองอักเสบเจอี โดยพบครั้งแรกที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 2512 จากนั้นก็พบผู้ป่วยทุกปี แม้จะมีวัคซีนโรคไข้สมองอักเสบเจอีแล้ว แต่ในปี พ.ศ. 2558 ยังพบผู้ป่วยจากโรคไข้สมองอักเสบ (Encephalitis) จำนวน 493 ราย จาก 54 จังหวัด เนื่องจากโรคนี้มีสาเหตุจากเชื้ออื่นด้วยและผู้ใหญ่บางรายไม่ได้ฉีดวัคซีน เชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคไข้สมองอักเสบที่สำคัญมี 2 ชนิด ได้แก่ เชื้อ Japanese encephalitis virus (JEV) และเชื้อไวรัสเวสต์ไนล์ (West Nile Virus , WNV) ไวรัสทั้งสองชนิดจัดอยู่ใน Genus Flavivirus ซึ่งยังไม่มียาฆ่าเชื้อ ทั้งนี้องค์การอนามัยโลก ระบุว่าเป็นเชื้อที่มีแนวโน้มแพร่ระบาดข้ามประเทศได้
นพ.อภิชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จึงต้องเตรียมความพร้อมในการตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการเพื่อให้สามารถตรวจหาเชื้อในกรณีที่จำเป็นได้ ตามแนวทางกฎอนามัยระหว่างประเทศ (IHR 2005) และต้องพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับป้องกันกำจัดยุงพาหะ ตลอดจนประเมินเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาห้องปฏิบัติการของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์มีขีดความสามารถในการตรวจหาเชื้อไวรัสทั้งสองชนิดในผู้ป่วยและยุง โดยการตรวจหาสารพันธุกรรมด้วยวิธี RT-PCR ผลการตรวจตัวอย่างเลือดผู้ป่วยที่ต้องสงสัยติดเชื้อไข้สมองอักเสบเจอี ระหว่างปีพ.ศ. 2543-2558 จำนวน 7,756 ตัวอย่าง พบผู้ป่วยจากไข้สมองอักเสบเจอีประมาณ 20 -122 ราย และจากการตรวจตัวอย่างเลือดผู้ป่วยที่ต้องสงสัยติดเชื้อไข้สมองอักเสบเวสต์ไนล์ ระหว่างปี พ.ศ.2550 - 2556 ยังไม่พบการติดเชื้อจากตัวอย่างทั้งหมดจำนวน 846 ตัวอย่าง อย่างไรก็ตามควรติดตามเฝ้าระวังเชื้อไวรัสทั้งสองชนิดต่อไป
นอกจากนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้พัฒนานวัตกรรมซีโอไลท์ในการกำจัดลูกน้ำยุงลาย และผลิตภัณฑ์สำหรับใช้ทาป้องกันยุง RepelMos สามารถป้องกันการกัดของยุงพาหะได้ทุกชนิดได้นาน 5-7 ชั่วโมง ไม่ระคายเคืองต่อผิวหนัง ไม่มีกลิ่นรบกวนผู้ใช้ และไม่เหนียวเหนอะหนะ นอกจากป้องกันยุงได้แล้วโลชั่นกันยุงรีเพลมอสยังสามารถป้องกันการกัดของริ้นดำ (คุ่น) ริ้นน้ำเค็ม (ปึ่ง) และทากดูดเลือดได้อีกด้วย ผู้ที่สนใจผลิตภัณฑ์สำหรับใช้ทาป้องกันยุง RepelMos นำไปผลิตเพื่อจำหน่ายในเชิงพาณิชย์สามารถติดต่อได้ที่ ดร.อุษาวดี ถาวระ หัวหน้าโครงการวิจัยพัฒนาและประเมินผลิตภัณฑ์ป้องกันกำจัดแมลง โทร 02-951000 ต่อ 99245
“การติดเชื้อจะพบได้ในสัตว์รังโรคหลายชนิด เช่น นก สุกร เป็นต้น แต่เชื้อจะไม่ทำให้สัตว์ เช่น นกป่วย เป็นเหตุให้นกสามารถบินไปที่อื่นพร้อมเชื้อไวรัส เมื่อยุงมากัดคนจะนำเชื้อมาสู่คน ซึ่งโรคไข้สมองอักเสบยังไม่มีรายงานว่ามีการติดต่อของโรคนี้จากคนถึงคนหรือจากนกมาคนโดยตรง ต้องมียุงเป็นตัวนำเชื้อมาสู่คนเท่านั้น ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสเวสต์ไนล์ ส่วนใหญ่แสดงอาการไม่รุนแรง อาการเล็กน้อยที่ปรากฏ ได้แก่ เป็นไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ มีผื่นตามผิวหนัง ต่อมน้ำเหลืองโต แต่ในรายที่มีอาการรุนแรงจะมีอาการปวดศีรษะมาก ไข้สูง คอแข็ง มึนงง เสียการทรงตัว ชัก เป็นอัมพาต เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ไขสันหลังอักเสบสมองอักเสบ และอาจเสียชีวิตได้ (อัตราป่วยตายมีประมาณ 3.15% พบมากในกลุ่มผู้สูงอายุและเด็ก) ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนสำหรับป้องกันโรคไข้สมองอักเสบเวสต์ไนล์ และยังไม่มียารักษาเฉพาะสำหรับผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสทั้งสองชนิด ใช้การรักษาตามอาการและวิธีประคับประคองทั่วไป” นพ.อภิชัย กล่าว
โดยโรคไข้สมองอักเสบเวสต์ไนล์มียุงกว่าสิบชนิดที่นำเชื้อได้ และในประเทศไทยมีรายงานพบยุงที่สามารถนำเชื้อไวรัสไข้สมองอักเสบได้หลายชนิด ที่สำคัญ คือ สกุลยุงรำคาญ (Culex spp.) และยุงลาย (Aedes spp.) โดยเฉพาะยุงลายนอกจากนำไข้เลือดออกและไข้ปวดข้อแล้ว ยุงลาย ยังสามารถนำโรคไข้สมองอักเสบเวสต์ไนล์ได้ด้วย วิธีป้องกันโรค คือ การจัดการแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงพาหะและไม่ควรไปอยู่ใกล้พื้นที่ซึ่งมีนกอพยพอาศัยอยู่ เพราะอาจถูกยุงที่กัดสัตว์นำเชื้อมาสู่เรา หากหลีกเลี่ยงไม่ได้การป้องกันตนเองโดยการใช้สารทาป้องกันยุงหรือผลิตภัณฑ์ไล่ยุง ป้องกันยุงไม่ให้มารบกวน และควรแนะนำผู้ที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงไปฉีดวัคซีนไข้สมองอักเสบเจอี หากพบว่ามีอาการไข้ผิดปกติ ควรรีบพบแพทย์ทันที
- 37 views