ทันตแพทย์จัดฟัน โรงพยาบาลรามาธิบดี แจงอุปกรณ์ “รีเทนเนอร์” เป็นเครื่องมือที่ใช้สำหรับการใส่เพื่อคงสภาพฟันสำหรับผู้ที่จัดฟันแล้ว ใส่เพื่อเป็นการรักษา ทันตแพทย์จัดฟันจะเป็นผู้วินิจฉัยว่าผู้ป่วยมีข้อบ่งชี้ที่ควรใส่รีเทนเนอร์หรือไม่และเป็นผู้ใส่ให้ผู้ป่วย พร้อมเตือนวัยรุ่นไทย เลิกฮิตใส่เป็นแฟชั่นหรือไปรับบริการจากหมอฟันเถื่อน เหตุเสี่ยงสารพัด ถ้าใช้เครื่องมืออุปกรณ์ และวัสดุที่ไม่ได้มาตรฐาน เกิดติดเชื้อโรค และรับสารปนเปื้อนจากลวดที่เป็นสนิมได้ และอาจเกิดเครื่องมือแหลมคมบาดปากเกิดแผลติดเชื้อเป็นอันตรายถึงตายได้
ทพญ.นฤมล ทวีเศรษฐ์
ทพญ.นฤมล ทวีเศรษฐ์ ทันตแพทย์จัดฟันประจำงานทันตกรรม คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และ ที่ปรึกษาสมาคมทันตแพทย์จัดฟันแห่งประเทศไทย กล่าวถึงการใส่ “เครื่องมือคงสภาพฟัน” หรือ “รีเทนเนอร์” ที่ไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมและแพร่ระบาดในกลุ่มวัยรุ่นขณะนี้ว่า การรักษาภายในช่องปาก ไม่ว่าจะเป็นการทำฟันปลอม การจัดฟัน รวมถึงการทำรีเทนเนอร์ จะต้องทำโดยผู้ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทันตกรรมที่เป็นทันตแพทย์เท่านั้น ตาม พ.ร.บ.วิชาชีพทันตกรรม พ.ศ. 2537 มาตรา 28 ซึ่งห้ามมิให้ผู้ใดที่มิได้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม ทำการประกอบวิชาชีพทันตกรรม หรือแสดงด้วยวิธีใดๆ ให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนเป็นผู้มีสิทธิ์ประกอบวิชาชีพดังกล่าวโดยไม่ได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตฯ เนื่องจากช่องปากเป็นอวัยวะที่เชื้อโรคผ่านเข้าสู่ร่างกายได้โดยง่าย หากอุปกรณ์และวัสดุที่ใช้ในปากไม่สะอาดเพียงพอ อาจทำให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายโดยตรงได้ ดังนั้นจึงต้องมีกฎหมายกำหนดที่ชัดเจน
แต่ปัจจุบันด้วยค่านิยมการจัดฟันแฟชั่นในกลุ่มวัยรุ่นที่มองเป็นเรื่องโก้เก๋ มีวัยรุ่นจำนวนมากต้องการทำ จึงมีผู้ประกอบการที่ไม่ใช่ทันตแพทย์ เพียงแต่หวังหาประโยชน์จากวัยรุ่นที่เปิดบริการรับจัดฟันแฟชั่นตามห้างสรรพสินค้า ล่าสุดได้มีการเปิดบริการใส่รีเทนเนอร์ผ่านทางเว็บไซต์ ซึ่งกำลังเป็นแฟชั่นนิยมในกลุ่มวัยรุ่นขณะนี้ด้วย โดยมีเด็กวัยรุ่นจำนวนมากเข้ารับบริการ ซึ่งถือเป็นเรื่องอันตรายมาก
ทพญ.นฤมล กล่าวว่า รีเทนเนอร์เป็นอุปกรณ์ที่ทันตแพทย์จัดฟันใส่ให้ในผู้ป่วยที่ได้รับการจัดฟันเสร็จแล้ว และมีฟันเรียงเรียบสวยงาม ทั้งนี้เพื่อให้ฟันที่ได้รับการจัดคงสภาพแข็งแรงสวยงามต่อไป ไม่ใช่อุปกรณ์ที่คนทั่วไปจะใส่ได้เอง ถ้าไปใส่รีเทนเนอร์เองทั้งๆ ที่ฟันเกจะส่งผลเสียหลายอย่างได้ ปกติในผู้มีฟันเกก็จะมักมีเศษอาหารติดซอกฟันและทำความสะอาดฟันได้ยากอยู่แล้ว การใส่รีเทนเนอร์ที่มีแผ่นพลาสติกไปปิดทับฟันที่เกและเหงือกอาจทำให้เศษอาหารเหล่านั้นยิ่งติดแน่นเข้าไปที่ซอกฟันและเหงือกได้มากขึ้น ทำให้เกิดฟันผุ เหงือกอักเสบ กลิ่นปากตามมาได้ อีกทั้งอาจส่งผลออกแรงดันให้ฟันที่ปกติเกิดเบี้ยวได้
อย่างไรก็ตาม ทั้งการจัดฟันแฟชั่นและการทำรีเทนเนอร์เถื่อน หากในกรณีที่ฟันดีอยู่แล้วเพียงแต่ต้องการทำตามความนิยม ทันตแพทย์จะไม่รับทำ เพราะนอกจากไม่มีประโยชน์แล้วยังมีโทษและเสียเงินเปล่า จึงเป็นช่องทางให้กับผู้ประกอบการหาผลประโยชน์ โดยไม่คำนึงถึงผลเสียต่อผู้รับบริการที่เกิดขึ้นตามมา ซึ่งเป็นสิ่งที่กังวลในวงวิชาชีพทันตแพทย์ ดังนั้นจึงต้องทำความเข้าใจและให้ความรู้กับกลุ่มวัยรุ่น เพื่อให้เข้าใจถึงวัตถุประสงค์ของการจัดฟันและใส่รีเทนเนอร์ รวมถึงอันตรายที่อาจได้รับกรณีรับบริการจัดฟันแฟชั่นและใส่รีเทนเนอร์เถื่อนกับผู้ที่ไม่ใช่ทันตแพทย์
“นอกจากผู้ให้บริการจัดฟันแฟชั่นและใส่รีเทนเนอร์เถื่อนจะเข้าข่ายหมอเถื่อน ผิดกฎหมายแล้ว เครื่องมือ อุปกรณ์และวัสดุยังอาจไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวังมาก อย่างกรณีการใส่รีเทนเนอร์ ลวดที่ใช้จะต้องเป็นลวดสแตนเลสที่ได้มาตรฐาน ไม่เช่นนั้นอาจขึ้นสนิมภายหลังได้ ซึ่งเคยมีในกรณีลวดจัดฟันแฟชั่น กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้เก็บตัวอย่างส่งตรวจพบสารปนเปื้อนที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย พบโลหะหนักหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นสารแคดเมียม ตะกั่วและสารหนู หากนำมาใส่ไว้ในปาก สารปนเปื้อนเหล่านี้ก็จะเข้าสู่ร่างกายเป็นพิษต่อสุขภาพได้ อีกทั้งรีเทนเนอร์ที่ทำโดยทันตแพทย์จัดฟันนั้นจะมีการออกแบบให้เหมาะสมกับสภาพฟันของแต่ละคน แต่ในรีเทนเนอร์เถื่อน ถ้าออกแบบไม่ถูกต้องมีลักษณะแหลมคม อาจทำให้เกิดบาดแผลในช่องปาก จนเกิดภาวะติดเชื้อในภายหลังได้ อย่างที่เคยมีข่าวพบเด็กวัยรุ่นเสียชีวิต 2 ราย จากการใส่ลวดจัดฟันแฟชั่นที่ไม่ได้มาตรฐาน”
ทพญ.นฤมล กล่าวว่า ที่ผ่านมาทั้งสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีความพยายามในการจับกุมผู้ประกอบการเหล่านี้ สำหรับในกรณีของรีเทนเนอร์เถื่อนที่โฆษณาผ่านทางเว็บไซต์ คล้ายกับในกรณีของจัดฟันแฟชั่นที่ทางกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ได้กล่าวถึงการเปิดร้านจำหน่ายสินค้าจัดฟันแฟชั่นทางโซเชียลมีเดียว่า ผู้จำหน่ายอาจมีความผิดตามกฎหมายถึง 3 ฉบับ คือ 1.พระราชบัญญัติวิชาชีพทันตกรรม 2.พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค และ 3.พระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ ซึ่งหากข้อความที่ระบุในโซเชียลมีเดียเข้าข่ายผิดกฎหมาย เช่นการนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จ ทำให้ประชาชนหลงเชื่อในข้อเท็จจริง ซึ่งเป็นการกระทำผิดบนเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ทาง ปอท.ก็สามารถจับกุมผู้กระทำผิดได้
อย่างไรก็ตามแนวทางแก้ไขปัญหาระยะยาวในเรื่องนี้ คือต้องให้ความรู้ความเข้าใจกับกลุ่มวัยรุ่นถึงการจัดฟันและใส่รีเทนเนอร์ว่าเป็นการใส่เพื่อการรักษา ไม่ใช่สิ่งโก้เก๋นำมาเป็นกระแสนิยม รวมถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกรณีรับบริการจัดฟันแฟชั่นและใส่รีเทนเนอร์เถื่อนที่ไม่ได้มาตรฐาน เพราะนอกจากจะซื้อของผิดกฎหมายแล้ว ยังเป็นพิษต่อสุขภาพด้วย
- 1467 views