การช่วยชีวิตผู้ป่วยในกรณีวิกฤต หากได้รับการการช่วยเหลืออย่างถูกต้อง จะช่วยลดอัตราตายหรือความพิการต่อผู้ป่วยได้เช่นกัน ในประเทศที่พัฒนาแล้ว อาทิประเทศญี่ปุ่นหรือสวีเดน จะมีเครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติ (AED) ติดตั้งตามที่สาธารณะ หรือสถานที่ที่มีผู้คนเป็นจำนวนมาก แต่สำหรับประเทศไทยแล้ว เครื่อง AED ยังมีอยู่แค่ในวงจำกัด
ที่ผ่านมา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาด ได้จัดให้มีการพัฒนาระบบบริการผู้ป่วยวิกฤตแบบครบวงจร ด้วยการติดตั้งเครื่อง AED ตามจุดต่างๆ ทั่วโรงพยาบาล พร้อมเปิดตัวมอเตอร์แล้นท์ หรือรถจักรยานยนต์กู้ชีพ เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ป่วยในภาวะที่การจราจรแออัด
นพ.ธนดล โรจนศานติกุล
นพ.ธนดล โรจนศานติกุล ศูนย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า การปฐมพยาบาลผู้ป่วยวิกฤตอย่างถูกต้อง จะเป็นการลดอัตราตายและความพิการของผู้ป่วยลงได้ ทุกครั้งที่มีการเจ็บป่วยฉุกเฉินขึ้นมาประชาชนมักจะนึกถึงห้องฉุกเฉิน และเพื่อเป็นการพัฒนาศักยภาพของโรงพยาบาล จึงได้เกิดการพัฒนาระบบบริการผู้ป่วยวิกฤตด้วยการรักษาแบบครบวงจรด้วยเครื่องกระตุกหัวใจอัตโนมัติ (AED) ขึ้นมา โดยติดตั้งตามสถานที่ต่างๆ ในโรงพยาบาล ซึ่งในตอนนี้ได้ติดไปแล้ว 9 จุด คาดว่าในปลายปีนี้จะสามารถติดเครื่อง AED นี้ได้ถึง 24 เครื่อง ทั่วโรงพยาบาล
“จากประสบการณ์พบว่า ในโรงพยาบาลบางครั้งมีผู้ป่วยวิกฤตเกิดขึ้นในบริเวณส่วนต่างๆ ของโรงพยาบาล และการปฐมพยาบาลยิ่งเป็นไปได้ยากมากขึ้นถ้าคนที่จะช่วยไม่ใช่แพทย์ พยาบาล และเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น เมื่อมีการติดเครื่อง AED ทางโรงพยาบาลจะมีการฝึกอบรมบุคลากรทุกภาคส่วนของโรงพยาบาลให้สามารถใช้เครื่อง AED นี้ได้ทุกคน ซึ่งทางโรงพยาบาลจะเน้นที่เจ้าหน้าที่ทุกคนสามารถกู้ชีพให้กับผู้ป่วยวิกฤตในเบื้องต้นได้”
นพ.ธนดล กล่าวว่า ในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ จะมีการติดตั้งเครื่อง AED ในพื้นที่สาธารณะที่มีคนเป็นจำนวนมาก เช่น สถานีรถไฟ ห้างสรรพสินค้า แต่สำหรับได้ประเทศไทยเคยได้มีการหยิบยกเรื่องดังกล่าวขึ้นมา แต่สุดท้ายแล้วก็เงียบหายไป
การใช้งานของเครื่อง AED เป็นการใช้งานที่ง่าย เพียงแค่ผู้ช่วยเหลือหยิบอุปกรณ์ที่ติดอยู่ในเครื่องออกมา แล้วปฏิบัติคำแนะนำของเครื่องในแต่ละขั้นตอน และในขณะเดียวกันเมื่อมีการนำตัวเครื่องออกมาใช้ ตัวเครื่องจะส่งสัญญาณออนไลน์ไปยังศูนย์สั่งการ และมีเจ้าหน้าที่ให้คำแนะนำการใช้งานเบื้องต้นผ่านระบบออนไลน์ พร้อมส่งทีมกู้ชีพมายังสถานที่เกิดเหตุได้อย่างรวดเร็ว
นอกจาก ทางโรงพยาบาลจุฬาฯ จะติดตั้งเครื่อง AED แล้ว ปัญหาการจราจรที่ติดขัดของ กทม.โดยเฉพาะพื้นที่ชั้นใน อาทิ พื้นที่ตั้งของโรงพยาบาลจุฬาฯ ทุกทิศทาง ล้วนแต่มีปัญหาเรื่องของการจราจรที่ติดขัด หรือบางครั้งสถานที่เกิดเหตุที่คับแคบ จะเป็นอุปสรรค์ที่สำคัญต่อการนำรถพยาบาลเข้าไปในพื้นที่เกิดเหตุ ทางโรงพยาบาลจึงได้เพิ่มระบบมอเตอร์แล้นท์ หรือที่เรียกง่ายๆ ว่า รถมอเตอร์ไซค์ฉุกเฉิน ขึ้นมา
นพ.ธนดล กล่าวว่า มอเตอร์แล้นท์นี้ จะประกอบด้วย รถมอเตอร์ไซค์ 1 คัน พร้อมอุปกรณ์กู้ชีพ AED และหมวกนิรภัยที่ติดตั้งกล้องวงจรปิด ซึ่งสามารถส่งสัญญาณออนไลน์ไปยังศูนย์สั่งการได้เช่นกัน มอเตอร์แล้นท์นี้จะปฏิบัติหน้าที่ทันทีเมื่อได้รับสัญญาณซึ่งต่อออนไลน์มายังศูนย์สั่งการ และไปยังที่เกิดเหตุโดยเร็ว พร้อมด้วยเครื่อง AED และแพทย์ ในรัศมี 1 กิโลเมตร ภายในเวลา 5 นาที ซึ่งมอเตอร์แลนท์นี้จะเชื่อมต่อสัญญาณในการหาพิกัดสถานที่เกิดเหตุไปยังระบบ EMS รถพยาบาลกู้ชีพชั้นสูง ซึ่งในทั้งสองส่วนนี้ เป็นความร่วมมือระหว่างภาคเวชศาสตร์ฉุกเฉิน พยาบาล ทีมกู้ชีพ โรงพยาบาลจุฬาฯ
ทั้งนี้เครื่อง AED ราคาจะอยู่ที่หลักแสน ส่วนมอเตอร์แล้นท์ จะเป็นรถจักรยานยนต์ทั่วไป ที่อาจจะต้องมีช่องใส่ของใต้เบาะเหมาะขนาดใหญ่ ราคานั้นจะขึ้นอยู่กับญี่ห้อ และรุ่นที่เลือกใช้ ในเบื้องต้น จะให้บริการในบริเวณสถานที่ใกล้เคียงกับโรงพยาบาล
นพ.ธนดล กล่าวว่า ความพร้อมของระบบทีมกู้ชีพ และเครื่อง AED ซึ่งทางทีมกู้ชีพของโรงพยาบาลจะมีการทดสอบความพร้อมในการใช้งานของเครื่องมือ สภาพระบบมอเตอร์แล้นท์ และระบบ EMS รถพยาบาลกู้ชีพขั้นสูงเป็นประจำทุกสัปดาห์ และในส่วนของทีมแพทย์และพยาบาล จะได้มีการทบทวนและปรึกษาเรื่องการรองรับการบริการอย่างต่อเนื่อง และทางโรงพยาบาลจะได้มีการฝึกอบรมบุคลากรทุกระดับในการทำ CPR และการใช้เครื่อง AED
นพ.ธนดล คาดว่า ภายใน 5-10 ปีข้างหน้า เราอาจจะได้เห็นพื้นที่สาธารณะต่างๆ มีการติดตั้งเครื่อง AED เหมือนกับประเทศที่พัฒนาแล้ว
- 135 views