โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ เป็นโรงพยาบาลศูนย์ขนาด 600 เตียง ปัจจุบันมีจำนวน 756 เตียง มีเนื้อที่ 52 ไร่ 2 งาน 54 ตารางวา นับเป็นโรงพยาบาลแห่งแรกที่สร้างขึ้นด้วยทุนทรัพย์ของชาวบ้านจังหวัดเชียงราย และริเริ่มเงินทุนสะสมของโรงพยาบาลจนกลายเป็นที่มาของเงินบำรุงโรงพยาบาล ตลอดจนส่งเสริมให้นโยบายสร้างโรงพยาบาลทั่วประเทศประสบความสำเร็จตามมา
ย้อนกลับไปเมื่อครั้งก่อตั้งโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ หรือที่ชาวเชียงรายนิยมเรียกว่า “โฮงยาไทย” เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2475 คณะราษฎร์ ได้ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองและมีนโยบายสร้างโรงพยาบาลหัวเมือง โดยประกาศพระราชบัญญัติสาธารณสุข ในปี พ.ศ.2477 ในสมัยของพระยาพหลพลพยุหเสนา ซึ่งเป็นหัวหน้ารัฐบาลคณะราษฎร์ในขณะนั้น เพื่อแสดงเกียรติภูมิของชาติให้ปรากฏแก่ประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นอาณานิคมของชาติตะวันตกตามนโยบาย “อวดธง” ในปี พ.ศ.2479
ด้วยเหตุนี้พระพนมนครารักษ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ซึ่งถือเป็นบิดาแห่งโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ ได้ริเริ่มสร้างโรงพยาบาลประจำจังหวัดเชียงราย โดยได้รับความร่วมมือจากประชาชนชาวเชียงรายนำโดยคหบดี คุณพ่อสีห์ศักดิ์และคุณแม่กิมเฮียะ ไตรไพบูลย์ ได้บริจาคที่ดินจำนวน 19 ไร่ รวมทั้งประชาชนซึ่งมีที่ดินข้างเคียงร่วมบริจาคสมทบให้เป็นจำนวนพอสมควร หลังจากได้รับการอนุมัติให้จัดสร้างโรงพยาบาลจากกระทรวงสาธารณสุข การดำเนินการก่อสร้างยังได้รับเงินบริจาคจากประชาชนในจังหวัดเชียงราย จนเป็นที่มาของคำว่า “ประชานุเคราะห์” ต่อท้ายชื่อโรงพยาบาล
โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ประกอบพิธีเปิดโรงพยาบาลในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2480 (วันศุกร์ขึ้น 11 ค่ำ เดือน 3 ปีฉลู) มีแพทย์ 1 คน คือ นพ.เสม พริ้งพวงแก้ว ผู้อำนวยการโรงพยาบาลในขณะนั้น ในช่วงแรกโรงพยาบาลได้รับการอนุมัติให้เป็นโรงพยาบาลทั่วไปขนาด 50 เตียง และได้เพิ่มจำนวนเตียงตามลำดับ กระทั่งปี พ.ศ.2531 จึงได้รับการอนุมัติให้เป็นโรงพยาบาลศูนย์ขนาด 600 เตียง
วางศิลาฤกษ์ตึกผู้ป่วยนอกหลักแรก พ.ศ.2479
ตึกอำนวยการหลังแรกของโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ พ.ศ.2480
โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์กับ นพ.เสม พริ้งพวงแก้ว ผู้อำนวยการโรงพยาบาลคนแรก
นพ.เสม พริ้งพวงแก้ว นับเป็นบุคคลที่มีคุณูปการต่อวงการสาธารณสุขไทย ในอัตชีวประวัติของท่านกล่าวได้ว่าการย้ายไปเป็นแพทย์ประจำที่จังหวัดเชียงรายของท่านนั้นนับเป็นช่วงชีวิตที่สมบุกสมบันและลำบากที่สุดในการทำงานเลยก็ว่าได้ เนื่องจากการทำงานของท่านไม่เพียงแต่ไปเป็นแพทย์รักษาคนเจ็บป่วยเท่านั้น ครั้งเมื่อย้ายมาประจำที่จังหวัดเชียงรายเมื่อ พ.ศ.2480 ท่านยังได้ร่วมกับข้าราชการ พ่อค้าและประชาชนชาวเชียงรายช่วยกันบุกเบิกก่อตั้งโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์จนเป็นผลสำเร็จแม้จะใช้เวลามากกว่า 10 ปี
จังหวัดเชียงรายเมื่อ 70 กว่าปีก่อนนั้นขาดแคลนนายแพทย์มาก บ้านเมืองและโครงสร้างพื้นฐานก็ยังไม่พร้อม ข้าราชการโดยเฉพาะคณะกรรมการจังหวัดในสมัยนั้นจึงต้องร่วมมือกันทำงานอย่างไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย โดยเฉพาะในช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพาระหว่าง พ.ศ.2484-2488 นพ.เสม ต้องทำงานอย่างหนักเป็นพิเศษเนื่องจากเป็นนายแพทย์ที่ทุกคนต้องพึ่งพา แม้กระนั้นท่านก็ยังสามารถวางรากฐานด้านการแพทย์และสาธารณสุขไว้มาก ทำให้โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์กลายเป็นโรงพยาบาลที่สร้างขึ้นจากเงินบริจาคของประชาชน และเป็นแรงผลักดันให้นโยบายสร้างโรงพยาบาลทั่วประเทศประสบความสำเร็จ
เก็บความจาก
วิชัย โชควิวัฒน, โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ (บรรณาธิการ), รอยเวลา: เส้นทางประวัติศาสตร์สุขภาพ, 2556
ประวัติโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ แหล่งที่มา: http://www.crhospital.org/home/?group=1
มติชนออนไลน์,รำลึกคุณูปการ “หมอเสม พริ้งพวงแก้ว” แพทย์ผู้มากบทบาท “พ่อเสม-หมอตลอดกาล” ของทุกคน, แหล่งที่มา: http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1310112355
ขอบคุณรูปภาพจาก
- 800 views