อย.เตือนผู้บริโภค อย่าหลงเชื่อซื้อ “ยาเม็ดสมุนไพรปันจ่อง” โฆษณาอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง พบการเร่ขายยาในพื้นที่จังหวัดพะเยา ตรวจสอบแล้วพบว่า มีการยกเลิกใบอนุญาตผลิตยาแผนโบราณ ตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2552 รวมทั้งไม่พบสถานที่ผลิตยาตามที่ระบุไว้ที่ฉลากแต่อย่างใดแนะผู้บริโภค อย่าตกเป็นเหยื่อ หลงเชื่อซื้อยามารับประทาน เพราะอาจได้รับอันตรายจากการใช้ยา และขอให้ซื้อยาจากร้านที่มีใบอนุญาตขายยาเท่านั้น เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค
นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพะเยา ให้ดำเนินการตรวจสอบ “ยาเม็ดสมุนไพรปันจ่อง” ซึ่งพบการเร่ขายยาในพื้นที่จังหวัดพะเยา และมีการโฆษณาผลิตภัณฑ์ในลักษณะอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง โดยฉลากระบุ เลขทะเบียนยา G 1212/47 ผลิตโดย ชาญเจริญเภสัช เลขที่ 208 ม.1 ต.กองควาย อ.เมือง จ.น่าน 55000 ครั้งที่ผลิต 32 วันเดือนปี ที่ผลิต 3 ม.ค. 2558 สรรพคุณ “แก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย ปวดท้อง ปวดเอว ปวดตามข้อ ตามกระดูก มือชา เท้าชา เท้าบวม บรรเทาโรคเบาหวาน แก้ไอเรื้อรัง แก้หืดหอบ ลดไขมันในเส้นเลือด แก้จุกเสียดแน่นท้อง รักษาโรคกระเพาะอาหาร ลดความดันโลหิตสูง” ซึ่งเมื่อตรวจสอบข้อมูลผลิตภัณฑ์แล้ว พบว่า ผู้ผลิตยาเม็ดสมุนไพรปันจ่อง ได้ดำเนินการขอยกเลิกใบอนุญาตผลิตยาแผนโบราณแล้ว ตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2552 และสำนักยาได้ดำเนินการยกเลิกทะเบียนตำรับยาดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดน่านได้ดำเนินการตรวจสอบสถานที่ผลิตดังกล่าว พบว่า ปัจจุบันไม่ได้เป็นสถานที่ผลิตยาแผนโบราณแต่อย่างใด
รองเลขาธิการ อย. กล่าวต่อว่า อย่าหลงเชื่อคำโฆษณาและซื้อยาดังกล่าวมารับประทาน หากผู้บริโภคจะเลือกซื้อยาสมุนไพรขอให้ซื้อยาจากร้านที่มีใบอนุญาตขายยาเท่านั้น อย่าหลงเชื่อซื้อยาจากแหล่งที่ไม่น่าเชื่อถือ เช่น ตลาดนัด แผงลอย รถเร่ขายยา หรือซื้อยาผ่านทางอินเทอร์เน็ต เฟซบุ๊ค เป็นต้น เพราะอาจได้รับยา ที่มีการลักลอบใส่สารอันตราย และขอให้ผู้บริโภคตรวจสอบข้อมูลรายละเอียดที่ปรากฏบนฉลากผลิตภัณฑ์ ให้ครบถ้วน เช่น ชื่อผู้ผลิต/ผู้นำเข้า ชื่อผู้จัดจำหน่าย วันเดือนปีที่ผลิต เลขที่หรือครั้งที่ผลิต ปริมาณยาที่บรรจุ และที่สำคัญต้องมีเลขทะเบียนตำรับยา ซึ่งสามารถตรวจสอบเลขทะเบียนตำรับยาที่ระบุบนฉลากผลิตภัณฑ์ได้ทางระบบบริการสืบค้นข้อมูลผลิตภัณฑ์ในเว็บไซต์ของ อย.
ทั้งนี้ หากผู้บริโภคพบเห็นแหล่งผลิต/แหล่งจำหน่าย ยาสมุนไพรที่ผิดกฎหมาย แจ้งร้องเรียน ได้ที่ สายด่วน อย. 1556 หรือที่ Email: 1556@fda.moph.go.th หรือตู้ ปณ.1556 ปณฝ.กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือร้องเรียนผ่าน Oryor Smart Application หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศเพื่อ อย.จะดําเนินการปราบปราม และดําเนินคดีตามกฎหมายกับผู้กระทําผิดต่อไป
- 161 views