กระทรวงสาธารณสุขไทย ร่วมกับสหรัฐอเมริกา จัดการประชุมประเทศสมาชิกสมัชชาอนามัยโลก องค์กรระหว่างประเทศ ภาคประชาสังคม เพื่อเตรียมความพร้อมและตอบโต้ต่อการระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต  ทั้งการแลกเปลี่ยนเชื้อไวรัส เพื่อพัฒนาวัคซีนตัวใหม่ และทำให้ประเทศสมาชิกสามารถเข้าถึงวัคซีนไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดการระบาดใหญ่ได้

เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2558 ที่โรงแรม เซ็นทารา แกรนด์ เซ็นทรัล เวิลด์ กรุงเทพมหานคร นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุม “ทบทวนกรอบการดำเนินงานเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับรับมือกับการแพร่ระบาดใหญ่ของโรคไข้หวัดใหญ่”เพื่อติดตามการดำเนินงานตามกรอบนี้ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาวิเคราะห์ประเด็นที่มีผลกระทบต่อกรอบการดำเนินงานและความสามารถของประเทศในการตอบสนองต่อการระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่ผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วยผู้แทนจากประเทศสมาชิกสมัชชาอนามัยโลก คณะที่ปรึกษาองค์การอนามัยโลกและองค์กรระหว่างประเทศ ภาคประชาสังคม เครือข่ายห้องปฏิบัติการตรวจพิสูจน์เชื้อและการส่งต่อเชื้อเพื่อนำไปพัฒนาวัคซีนจำนวน 40 ราย

นพ.โสภณ กล่าวว่า กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ขอให้กระทรวงสาธารณสุขไทย ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมครั้งนี้  ทั้งนี้ สืบเนื่องจากการประชุมสมัชชาอนามัยโลกสมัยที่ 60 พ.ศ.2550ได้มีมติให้จัดประชุมระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาลเพื่อพัฒนาการเตรียมความพร้อมและตอบโต้ต่อเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่ทำให้เกิดการระบาดทั่วโลกการระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต แบ่งเป็น 2 ส่วนหลัก ได้แก่ การแลกเปลี่ยนตัวอย่างเชื้อไวรัส ผ่านระบบการเฝ้าระวังและตอบสนองต่อโรคไข้หวัดใหญ่ เพื่อพัฒนาวัคซีนตัวใหม่ และทำให้ประเทศสมาชิกสามารถการเข้าถึงวัคซีนไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดการระบาดใหญ่ได้ โดยองค์การอนามัยโลกได้จัดให้มีคณะที่ปรึกษา ร่วมจัดทำเกณฑ์ต่าง ๆ ในการบริหารจัดการ ทำให้ประเทศที่พบการระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่สามารถเข้าถึงวัคซีนได้อย่างรวดเร็ว

สำหรับท่าทีของประเทศไทยต่อการประชุมครั้งนี้ มีดังนี้

1.สนับสนุนการทบทวนกรอบการดำเนินงาน โดยให้ความสำคัญกับการแลกเปลี่ยนเชื้อไวรัสระบบการขนส่งเชื้อความมั่นคงและความปลอดภัยทางชีวภาพ

2.สนับสนุนการดำเนินการตามนโยบายความร่วมมือการส่งตัวอย่างเชื้อไวรัสตามข้อตกลง

3.สนับสนุนการดำเนินงานตามระบบการเฝ้าระวังและตอบสนองต่อการระบาดใหญ่ของโรคไข้หวัดใหญ่  

4.สนับสนุนการพึ่งพาตนเอง ในเรื่องการผลิตวัคซีนภายในประเทศ เน้นความรวดเร็วและประสิทธิภาพของการตอบโต้ต่อการระบาด  

5.ผู้กำหนดเกณฑ์ในการแบ่งปันผลประโยชน์ในการเข้าถึงวัคซีน ควรให้ความสำคัญกับองค์ประกอบของผู้เชี่ยวชาญที่เป็นกลาง และเป็นผู้แทนส่วนจากหลายภูมิภาค

และ 6.บูรณาการการทำงานในการป้องกันโรคอุบัติใหม่ ภายใต้กรอบการทำงานที่วางไว้