แพทย์โรคหัวใจ รพ.อุดร ชี้ ปัจจัยความสำเร็จลดอัตราตายผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน อยู่ที่จัดระบบการรักษา และสร้างความมั่นใจให้แพทย์ในทุก รพช.กล้ารักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือด ส่งผลช่วยลดอัตราตายผู้ป่วยโรคหัวใจในเขต 8 ได้ต่ำที่สุดในประเทศ
จากกรณีที่ศูนย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลอุดรธานี ได้ให้บริการรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจครบวงจรตลอด 24 ชั่วโมง ดูแลประชากร 7 จังหวัดอีสานตอนบน ให้การรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือดที่โรงพยาบาลชุมชนทุกแห่งเป็นเขตแรกของประเทศ ช่วยลดอัตราตายผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันได้ต่ำที่สุดในประเทศนั้น
นพ.สุมน ตั้งสุนทรวิวัฒน์ หัวหน้ากลุ่มงานอายุรกรรม โรงพยาบาลอุดรธานี กล่าวว่า โรงพยาบาลอุดรธานีได้พัฒนาแนวทางการรักษาผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน จากหลอดเลือดหัวใจตีบมาประมาณ 10 ปี เนื่องจากโรคนี้เป็นโรคที่มีอัตราการตายของผู้ป่วยสูงมากถึงประมาณ 30% แต่หากคนไข้ได้เข้ารับการรักษาด้วยการให้ยาละลายลิ่มเลือด หรือ การรักษาด้วยการการขยายบอลลูนหลอดเลือดหัวใจ ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถให้ยาละลายลิ่มเลือดได้ เนื่องจากอยู่ในภาวะช็อค หรือมีเลือดออกมาก หรือหากผู้ป่วยมีเส้นเลือดตีบหลายเส้นก็จะให้การรักษาด้วยการผ่าตัดบายพาส
นพ.สุมน กล่าวว่า ก่อนหน้านี้พบปัญหาว่า เมื่อคนไข้ไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลแรกรับ แต่โรงพยาบาลนั้นไม่มีแพทย์โรคหัวใจก็จะไม่รับรักษา แต่จะใช้วิธีส่งผู้ป่วยไปที่โรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่มีแพทย์โรคหัวใจและมีศักยภาพในการรักษามากกว่า ทำให้ในบางครั้งผู้ป่วยจะเสียชีวิตระหว่างนำส่ง หรือบางกรณีผู้ป่วยอาการหนักมากแล้วเมื่อมาถึงโรงพยาบาลใหญ่ ทำให้การรักษาไม่ค่อยได้ผลอัตราการตายของผู้ป่วยยังสูงอยู่
“เราเลยมาคิดกันว่าทำไมไม่ทำให้โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) ซึ่งอยู่ตามอำเภอต่างๆ มีศักยภาพการให้ยาละลายลิ่มเลือดได้เหมือนกับโรงพยาบาลประจำจังหวัด จึงได้นำยาละลายลิ่มเลือดไปวางไว้ทุก รพช. แล้ววางระบบเมื่อมีผู้ป่วยให้ให้แพทย์ รพช.ปรึกษามาที่เราทางโทรศัพท์ ผ่านโปรแกรมไลน์ ว่าจะให้การรักษาอย่างไร โดยเมื่อแพทย์ที่ รพช. มีผู้ป่วยที่มาด้วยอาการ เจ็บแน่นหน้าอก และเมื่อตรวจด้วยเครื่องพบคลื่นหัวใจผิดปกติ (EKG) ก็ให้ปรึกษามาที่เรา และให้ยาละลายลิ่มเลือดเลย โรงพยาบาลทุกแห่งมีเครื่องตรวจอีเคจีอยู่แล้ว ซึ่งก็ถือว่าไม่ได้ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการวินิจฉัยมากนัก เมื่อให้ยาละลายลิ่มเลือดแล้วก็ส่งต่อมาที่โรงพยาบาลอุดรธานี” นพ.สุมนกล่าว
นพ.สุมน กล่าวว่า ในช่วงแรกที่จัดระบบการส่งต่อ เมื่อปี 2556 ก็จะให้ รพช.ทุกแห่งส่งผู้ป่วยมาที่โรงพยาบาลอุดรธานี เพื่อให้ยาละลายลิ่มเลือด พบว่าอัตราการตายของผู้ป่วยลดลงจากเดิม 30 % เหลือ 15% แต่เมื่อปรับระบบการส่งต่อผู้ป่วยเป็นแบบใหม่เป็นให้ รพช.ทุกแห่งให้ยาละลายลิ่มเลือดได้ โดยใช้เวลาตั้งแต่ผู้ป่วยมาถึงโรงพยาบาลชุมชนและได้รับยาละลายลิ่มเลือด เพียง 1 ชั่วโมง จากนั้นให้ส่งต่อผู้ป่วยมาที่โรงพยาบาลอุดรธานี เพื่อดูว่าผลการรักษาเป็นอย่างไร จะต้องให้การรักษาด้วยวิธีอื่นเพิ่มเติมหรือไม่ การจัดระบบแบบนี้ทำให้การรักษาได้ผลมากขึ้น และแพทย์ไม่ต้องเร่งรีบมากในการรักษา เนื่องจากได้ให้ยาละลายลิ่มเลือดมาแล้วจากโรงพยาบาลชุมชน ทำให้อัตราการตายของผู้ป่วยลดลงจากเดิม 15 % เหลือ 8% ในขณะที่อัตราการตายของผู้ป่วยโรคนี้โดยรวมทั้งประเทศประมาณ 15%
นพ.สุมน กล่าวว่า ปัจจัยแห่งความสำเร็จในการดำเนินการ คือ การให้ความมั่นใจกับแพทย์ใน รพช.ทุกแห่ง ในพื้นที่ 7 จังหวัดอีสานตอนบน ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ใช่แพทย์เฉพาะทางด้านโรคหัวใจ ว่าเมื่อให้การรักษาแล้วหากเกิดความเสียหายกับผู้ป่วยหรือมีเรื่องฟ้องร้อง แพทย์ที่โรงพยาบาลอุดรธานีจะเป็นผู้รับผิดชอบเอง เพราะเป็นผู้ให้การรักษาโดยตรง หากมีการขึ้นโรงขึ้นศาล แพทย์โรคหัวใจโรงพยาบาลอุดรธานีจะเป็นจำเลยที่ 1 ทำให้แพทย์ รพช.มีความมั่นใจในการรักษามากขึ้น อย่างไรก็ตามตั้งแต่ทำเรื่องนี้มายังไม่มีเรื่องฟ้องร้องแต่อย่างใด ส่วนปัจจัยอันดับรองลงมาคือการที่โรงพยาบาลอุดรธานีพร้อมให้การรักษาตลอด 24 ชั่วโมง เพราะมีแพทย์เฉพาะทางด้านโรคหัวใจ 5 คน ผลัดกันเข้าเวร แต่ละวันมีคนไข้เฉลี่ย 2-3 คน เท่านั้น
นพ.พิศิษฐ์ ศรีประเสริฐ สาธารณสุขนิเทศก์ เขตสุขภาพที่ 8 อุดรธานี กล่าวว่า การดำเนินงานเพื่อดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง และโรคหลอดเลือดหัวใจ ในพื้นที่ 7 จังหวัดอีสานตอนบน ซึ่งถือว่าเป็นพื้นที่ที่มีผลการดำเนินงานดีเด่น (Best Practice) นั้น ได้นำระบบ Service Plan มาใช้ ด้วยการวิเคราะห์ข้อมูลอัตราการป่วย ความชุกของโรค และทรัพยากรบุคคล งบประมาณ ที่เขตมีทั้งหมด แล้วนำมาจัดระบบบริการทางการแพทย์ เพื่อแก้ปัญหาในพื้นที่ ด้วยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และทุกระดับ เพื่อจัดระบบการรักษา การป้องกัน และการฟื้นฟูสภาพผู้ป่วย เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการ ลดอัตราการตาย และความพิการ ด้วยบริการแบบไร้รอยต่อ
นพ.พิศิษฐ์ กล่าวว่า เขตสุขภาพได้วางแผนพัฒนาแนวทางร่วมกัน ทั้งแผนงบประมาณ กำลังคน การกระจายอุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์ และเวชภัณฑ์ เช่น ปัญหาแพทย์มีน้อยจะแก้ปัญหาอย่างไร จะจัดทำเป็นเครือข่ายโดยมีแม่ข่าย (node) เป็นโรงพยาบาลชุมชนที่มีศักยภาพได้หรือไม่ รวมถึงมีการพัฒนาหน่วยให้บริการโรคหลอดเลือดสมอง และหลอดเลือดหัวใจ (stroke unit) ประจำโรงพยาบาลเพื่อให้การทำงานราบรื่น เพราะจะมีทั้งบุคลากร งบประมาณ เพื่อดำเนินงาน ภายใต้ทรัพยาการที่มีอยู่อย่างจำกัด และมีการกำกับ ติดตาม การทำงาน
นพ.พิศิษฐ์ กล่าวว่า หลังจากการให้การรักษาในโรงพยาบาลแล้ว ทางเขตสุขภาพได้วางระบบการส่งกลับผู้ป่วย โดยก่อนส่งผู้ป่วยกลับจะมีการประสานงานระหว่า โรงพยาบาลที่รักษากับโรงพยาบาลชุมชน และ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ในพื้นที่ เพื่อเตรียมความพร้อมว่าคนไข้จะกลับแล้ว ใครจะต้องทำอะไร เพราะผู้ป่วยที่กลับไปอยู่ที่บ้านจะต้องได้รับการฟื้นฟูสภาพ ทีมหมอครอบครัวจะต้องไปดูแลที่บ้านด้วย และมีระบบการฝึกญาติคนไข้ ให้เป็นผู้ดูแลที่บ้าน (care giver) เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ป่วยจะได้รับการดูแลที่ดี.
- 136 views