อาการเวียนหัว แขนขาอ่อนแรงหรือชาครึ่งซีก พูดไม่ชัด ตามพร่า มัวมองเห็นไม่ถนัด มีภาพซ้อนไม่ใช่เรื่องเล็กๆ เพราะสัญญาณเหล่านี้อาจทำให้พิการหรือเสียชีวิตได้หากไม่รีบรักษา แพทย์ชี้เบาหวาน ไขมัน ความดันโลหิต ต้นเหตุหลักแนะลดปัจจัยเสี่ยง หวาน มัน เค็ม เหล้า บุหรี่ ป้องกันได้
นพ.สงคราม โชติกอนุชิต
นพ.สงคราม โชติกอนุชิต อาจารย์ประจำสาขาวิชาประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่าโรคหลอดเลือดสมองเกิดจากภาวะสมองขาดเลือด การตีบ แตกของหลอดเลือดในสมอง จนเกิดการทำลายหรือการตายเนื้อสมอง ทำให้สมองทำงานผิดปกติ เป็นผลทำให้เกิดอาการตามตำแหน่งที่ขาดเลือดไปเลี้ยง ความรุนแรงขึ้นอยู่กับลักษณะการทำลายของเนื้อสมอง ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธีและทันเวลาจะเกิดอัมพฤกษ์อัมพาตรุนแรงถึงขั้นพิการและเสียชีวิตได้ โดยโรคนี้พบได้ทั้งชายและหญิงอายุ 44 ปีขึ้นไปที่มีประวัติป่วยด้วยโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และมีพฤติกรรม สูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ
อาการของผู้ที่มีโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดในสมอง ได้แก่ปวดศีรษะ มึนงง และหน้ามืดบ่อย เดินเซ ทรงตัวไม่ได้ มีอาการเพลีย ชา และอ่อนแรงครึ่งซีกใดซีกหนึ่ง ตาพล่ามัว มองเห็นไม่ชัดเจนหรือมีภาพซ้อน พูดจาไม่ชัดเจน จับไม่ได้ภาษา หากอาการรุนแรงอาจเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายหากมีอาการรุนแรงมากอาจทำให้เสียชีวิตอย่างเฉียบพลันจากภาวะสมองขาดเลือด ซึ่งหากผู้ป่วยมาพบแพทย์ด้วยอาการดังกล่าวภายใน 3-4 ชั่วโมง เบื้องต้นแพทย์จะให้ยาละลายลิ่มเลือดเพื่อช่วยให้เลือดไหลไปเลี้ยงสมองได้อย่างทันท่วงที ส่วนในผู้ป่วยทั่วไปการวินิจฉัยโรคหลอดเลือดในสมอง จะดูจากประวัติการรักษาเพื่อคัดกรองความเสี่ยง ประกอบกับการตรวจร่างกาย เพื่อหาสาเหตุของหลอดเลือดตีบด้วยการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง (ซีที สแกน )การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (เอ็ม อาร์ ไอ) สามารถบอกตำแหน่งที่เกิดหลอดเลือดสมองตีบหรือแตกจากภาพเอกซเรย์ได้อย่างชัดเจน เพื่อให้แพทย์สามารถวางแผนการรักษาได้ถูกวิธี โดยการรักษาอาจมีทั้งการให้ยาลดอาการตีบตันของหลอดเลือด หรือการผ่าตัดซึ่งขึ้นอยู่กับความรุนแรงและตำแหน่งที่เกิดโรค
นพ.สงคราม กล่าวว่า ผู้ป่วยที่เป็นอัมพฤกษ์อัมพาตจากภาวะสมองขาดเลือดชีวิตจะเปลี่ยนไปอย่างไม่ทันทีตั้งตัว สำหรับผู้ดูแลผู้ป่วยกำลังใจเป็นเรื่องสำคัญโดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีภาวะความพิการไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้หรือช่วยเหลือตัวเองได้น้อย ผู้ป่วยจะรู้สึกท้อแท้ สิ้นหวัง คนดูแลต้องหมั่นสร้างความสุขให้กับผู้ป่วย บอกให้ผู้ป่วยได้คิดและทำตามเพื่อให้สมองได้มีการพัฒนาซ่อมแซมในส่วนที่ถูกทำลายไป ส่วนทางร่างกายต้องใช้กิจกรรมบำบัดโดยอาศัยนักกายภาพบำบัดที่มีความรู้เข้ามาช่วยในเรื่องของการลุก ยืน เดิน นั่ง อย่างถูกวิธีเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย
อย่างไรก็ตามโรคหลอดเลือดสมองแม้จะอันตรายแต่เป็นโรคที่สามารถป้องกันได้โดยผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ต้องดูแลตัวเองและควบคุมโรคเพื่อป้องกันภาวะการอุดตันของไขมันในเส้นเลือดและเส้นเลือดตีบ รวมถึงการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ การงดดื่มเหล้า งดสูบบุหรี่ การหลีกเลี่ยงอาหารประเภทไขมัน แป้ง น้ำตาล หันมากินอาหารประเภทผัก ผลไม้และหมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
เนื่องในวันโรคหลอดเลือดสมองโลก (World Stroke Day)ปี 2558 ซึ่งตรงกับวันที่ 29 ต.ค.58 นี้ ศูนย์โรคหลอดเลือดสมองศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กำหนดจัดกิจกรรม “เดิน วิ่งปั่น ป้องกันอัมพาต ครั้งที่ 1”ขึ้นในวันที่ 18 ต.ค.58 โดยกิจกรรมปั่นจักรยาน ระยะทาง 30 กิโลเมตรไป-กลับ เส้นทางเริ่มจาก หน้าอาคารโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ ขึ้นคู่ขนานลอยฟ้าไปทางพุทธมณฑลขาออก เวลา 05.30-08.30 น. ส่วนเดิน วิ่ง รอบโรงพยาบาลศิริราช ระยะทาง 3.5 กิโลเมตรเวลา 06.00 น. ภายในงานมีนิทรรศการให้ความรู้มากมาย โดยเริ่มรับสมัครตั้งแต่วันที่ 15-30 กันยายน 2558 ค่าสมัครเข้าร่วมกิจกรรม ปั่นจักรยาน ท่านละ 400 บาท และกิจกรรมเดิน วิ่ง ท่านละ 300 บาท รายได้ส่วนหนึ่งนำไปพัฒนาศูนย์หลอดเลือดสมอง โรงพยาบาลศิริราช สนใจสอบถามโทร0-2414-1010 หรือดาวน์โหลดใบสมัครได้ที่ www.si.mahidol.ac.ch
นอกจากนี้ในวันที่ 19-20 ตุลาคม 2558 จะมีการเสวนาให้ความรู้และกิจกรรมสันทนาการมากมาย อาทิ เสวนาโรคหลอดเลือดสมอง การตรวจสมรรถภาพร่างกายประเมินความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดสมองและกายภาพบำบัด ตลอดจนการสาธิตการดูแลผู้ป่วย สาธิตการทำอาหารสุขภาพ และเพลิดเพลินกับมินิคอนเสิร์ต ณ โถงชั้น 1 อาคารศิริราช 100 ปี สมเด็จพระศรีนครินทร์
- 515 views