กระทรวงสาธารณสุข ตั้งคณะทำงานร่วม สปสช.ส่งเสริมและป้องกันโรคที่ให้บริการประชาชน 5 กลุ่มวัย พร้อมเร่งดำเนินการป้องกันนมบูดในนมโรงเรียนอย่างเข้มข้น ตั้งแต่ผู้ผลิต ผู้บริโภค และเจ้าหน้าที่ที่ตรวจสอบคุณภาพนมโดยให้ อย.รับผิดชอบในส่วนกลาง และ สสจ.รับผิดชอบในส่วนภูมิภาค
เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2558 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.โสภณ เมฆธน รักษาราชการแทนปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ว่า ในการประชุมครั้งนี้มีการหารือเรื่องหลัก ดังนี้
1.เรื่องนมโรงเรียน จะต้องเร่งดำเนินการให้มีระบบการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างเข้มข้น โดยส่วนกลางได้ให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยารับผิดชอบ ในส่วนภูมิภาคได้มอบให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเป็นผู้รับผิดชอบ ต้องดูแลครอบคลุมทั้ง 3 ส่วน ได้แก่ ผู้ผลิต ผู้บริโภค และเจ้าหน้าที่ที่ตรวจสอบคุณภาพนม ซึ่งต้องดูแลตั้งแต่กระบวนการผลิตตลอดจนถึงการขนส่ง ตลอดจนผู้บริโภคต้องร่วมมือในการสังเกตลักษณะของบรรจุภัณฑ์ และลักษณะของนม ก่อนบริโภคเพื่อป้องกันเรื่องนมบูดและอาหารเป็นพิษในเด็กนักเรียน หากพบนมบูดประชาชนสามารถแจ้งได้ที่สายด่วน 1556
2.การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคที่จะให้บริการกับประชาชนทั้ง 5 กลุ่มวัย ได้แก่ กลุ่มสตรีตั้งครรภ์และเด็กปฐมวัย 0-5 ปี กลุ่มเด็กวัยเรียน 5 – 14 ปี กลุ่มเด็กวัยรุ่น 15-21 ปี กลุ่มวัยทำงาน 15 -59 ปี และกลุ่มผู้สูงอายุและผู้พิการ ทั้งหมด 85 ชุดบริการ ทั้งการฝากครรภ์ การให้วัคซีน การดูแลสุขภาพ และการป้องกันโรค โดยที่ประชุมได้มีมติให้ตั้งคณะทำงานร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)ในการดำเนินงาน
3.เรื่องการพัฒนากำลังคน จากที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติเพิ่มข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขจำนวน 7,547 อัตรา กระทรวงสาธารณสุขได้ประชุมและจัดสรรอัตรากำลังบางส่วนไปยังส่วนภูมิภาคแล้ววานนี้
4.การจัดหลักสูตรการพัฒนาผู้บริหารของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งแบ่งเป็น 5 ระดับ
และ 5.เรื่อง พ.ร.บ.โรคติดต่อฉบับใหม่ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2558 และจะมีผลบังคับใช้ในอีก 6 เดือนข้างหน้า ซึ่งได้มีการเตรียมความพร้อมรับในเรื่องอนุบัญญัติ คณะกรรมการในชุดต่างๆที่จะตั้งขึ้นหลัง พ.ร.บ.ดังกล่าวมีผลบังคับใช้
- 3 views