เดอะคอนเวอร์เซชั่น : ด้วยจำนวนผู้ป่วยทั่วโลกปีละกว่า 200 ล้านคน โดยที่ราวครึ่งหนึ่งของประชากรโลกอาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยง ทำให้มาลาเรียยังคงเป็นปัญหาใหญ่ มาลาเรียมักระบาดในพื้นที่ยากไร้แถบเขตร้อนและใกล้เขตร้อนโดยมียุงเป็นพาหะนำโรค ซึ่งเมื่อปรสิตเข้าสู่ร่างกายคนแล้วก็จะเข้าไปเพิ่มจำนวนในตับก่อนระบาดเข้าสู่เม็ดเลือดแดง เมื่อปี 2555 ประเมินว่ามีผู้ป่วยมาลาเรียราว 207 ล้านคนและมีผู้เสียชีวิตราว 627,000 คนซึ่งราวร้อยละ 90 ของการเสียชีวิตพบในแถบตอนใต้ของทะเลทรายสะฮาราในแอฟริกา
หญิงสาวชาวเซเนกัลกำลังชุบมุ้งด้วยน้ำยาฆ่าแมลงที่คลินิกแห่งหนึ่งทางภาคเหนือของประเทศเซเนกัล ภาพประกอบโดย Nic Bothma / EPA
อย่างไรก็ดีตัวเลขผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตในอีก 15 ปีข้างหน้าอาจลดลงได้ถึงร้อยละ 90 หากสามารถดำเนินตามวาระการป้องกันและปราบปรามมาลาเรียขององค์การอนามัยโลกและองค์กรโรลแบ็คมาลาเรีย (Roll Back Malaria) อย่างจริงจัง
แนวทางการป้องกันและปราบปรามมาลาเรียของอนามัยโลกและโรลแบ็คมาลาเรียมีสาระสำคัญอยู่ที่กลยุทธ์ทางเทคนิคระดับโลกสำหรับมาลาเรีย และแผนการขับเคลื่อนสำหรับแนวทางปฏิบัติและการสนับสนุนด้านเงินทุนเพื่อเอาชนะมาลาเรียให้ได้ในระหว่างปี 2559 และ 2573 โดยโรลแบ็คมาลาเรียซึ่งก่อร่างขึ้นจากกลุ่มองค์กรระหว่างประเทศจะต่อยอดความสำเร็จของแผนปฏิบัติการมาลาเรียระดับโลกปี 2551 อันเป็นกลยุทธ์ที่ได้จากการหารืออย่างเข้มข้นร่วมกับกลุ่มประเทศและพื้นที่ได้รับผลกระทบจากมาลาเรีย สถาบันระหว่างประเทศ และผู้เชี่ยวชาญอีกจำนวนมาก
แผนปฏิบัติการฉบับใหม่ของโรลแบ็คมาลาเรียมีขึ้นออกมาในช่วงเดียวกับที่อนามัยโลกประกาศยุบและปรับโครงสร้างสำนักเลขาธิการโรลแบ็คมาลาเรียเพื่อเตรียมรับความท้าทายในช่วงหลังปี 2558 ซึ่งการยุบสำนักเลขาธิการก็ทำให้เกิดข้อกังขาว่าแผนปฏิบัติการมาลาเรียระดับโลกจะยังคงเป็นนโยบายหลักของคณะทำงานชุดใหม่หรือไม่ และควรที่กลยุทธ์ใหม่จะต้องนำความสำเร็จของแผนปฏิบัติการปี 2541 มาใคร่ครวญเพื่อที่จะสามารถดำเนินกลยุทธ์ไดอย่างยั่งยืน
การรณรงค์ที่ประสบผลสำเร็จ
แผนปฏิบัติการกลายเป็นกลยุทธ์ด้านมาลาเรียที่โดดเด่นที่สุด โดยได้วางกรอบการปฏิบัติเพื่อประสานความร่วมมือในระดับโลก ทำให้ชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากมาลาเรียมีโรดแม็พสำหรับการพัฒนาและกลยุทธ์เชิงประจักษ์สำหรับการป้องกันและการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยให้ผู้สนับสนุนมองเห็นตัวเลขเงินทุนที่จำเป็นในแต่ละปีเพื่อที่จะบรรลุถึงเป้าหมายระดับโลก และยังรวมไปถึงการป้องกันและการรักษาที่มีประสิทธิภาพตามหลักการประกันสุขภาพถ้วนหน้า
มีการประเมินว่าจนถึงปัจจุบันสามารถลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากมาลาเรียซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีได้แล้วกว่า 6 ล้านคน ซึ่งความสำเร็จนี้ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการรักษาเชิงป้องกันสำหรับทารกและเด็ก ควบคู่กับการใช้มุ้งชุบยากันยุง การพ่นยากันยุงในที่พักอาศัย และการตรวจวินิจฉัยโรคแบบรวดเร็ว ทำให้อัตราตายที่สัมพันธ์กับมาลาเรียลดลงถึงร้อยละ 58 และจนถึงขณะนี้มีประเทศที่เคยประสบปัญหาการระบาดของมาลาเรียสามารถประกาศเป็นประเทศปลอดมาลาเรียแล้วกว่า 100 ประเทศ รวมถึงอาเซอร์ไบจานและศรีลังกา โดยที่อีก 55 ประเทศก็กำลังอยู่ระหว่างเดินหน้าลดอัตราอุบัติการณ์ของมาลาเรียให้ได้ร้อยละ 75 ภายในสิ้นปี 2558
ปัจจุบันเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goal) และเป้าหมายของสมัชชาองค์การอนามัยโลกในการลดอุบัติการณ์ของมาลาเรียลงร้อยละ 75 ภายในสิ้นปีนี้ได้บรรลุ แม้ต้องเผชิญกับอุปสรรคด้านประสิทธิภาพระบบสาธารณสุขของกลุ่มประเทศแอฟริกา โดยมีหลายปัจจัยที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในการลดอุบัติการณ์ของมาลาเรีย ได้แก่
การสนับสนุนด้านเงินทุนที่เพิ่มขึ้นทั้งจากต่างประเทศและในประเทศ
ความแน่วแน่ของภาคการเมืองและผู้นำประเทศ
ความร่วมมือระหว่างหลายภาคส่วนและองค์ความรู้ทางเทคนิค
การดำเนินโครงการในระดับประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ
การมีส่วนร่วมของภาคสังคมและองค์กรด้านศาสนา
และผลลัพธ์จากงานวิจัย
ปัจจัยดังกล่าวทำให้สามารถขยายผลสู่มาตรการป้องกันมาลาเรียที่ได้ผลคุ้มค่า เช่น
มุ้งชุบน้ำยากันยุงที่มีอายุการใช้งานยาวนาน
การพ่นยากันยุงในที่พักอาศัย
การตรวจวินิจฉัยโรคแบบรวดเร็ว
ยาอาติมิซินสูตรผสม
และการรักษาเชิงป้องกันระหว่างตั้งครรภ์
แผนฉบับใหม่
สาระสำคัญของกลยุทธ์และแผนการขับเคลื่อนฉบับใหม่ อยู่ที่การคาดการณ์แนวโน้มความเปลี่ยนแปลงในอนาคต และเพิ่มทรัพยากรที่จำเป็นสำหรับการปราบปรามมาลาเรีย และยังชี้ให้เห็นความจำเป็นในการขยายขอบเขตความร่วมมือให้กว้างขวางยิ่งขึ้น เพื่อที่จะชักจูงให้ภาคส่วนอื่นที่ได้รับผลกระทบจากมาลาเรียเข้ามามีส่วนร่วมลดการแพร่ระบาดและกำจัดโรค ซึ่งอาจทำได้ผ่านการสนับสนุนด้านการจัดหาและการจัดการเครื่องใช้จำเป็น การสำรวจ และความร่วมมือระหว่างบริการสาธารณสุขของรัฐและเอกชน อันจะเป็นประโยชน์ต่อระบบสาธารณสุขในการต่อสู้กับมาลาเรีย
ปัจจุบันเงินทุนที่โรลแบ็คมาลาเรียได้รับการสนับสนุนจากทั่วโลกเพื่อการต่อต้านมาลาเรียโตขึ้นถึง 2000% จากเดิมที่ปีละ 130 ล้านดอลลาร์เป็นปีละ 2,700 ล้านดอลลาร์ ซึ่งแผนการขับเคลื่อนก็ได้ระบุแนวทางปฏิบัติและการสนับสนุนเงินทุนที่จำเป็นเพื่อที่จะบรรลุตามเป้าหมายปี 2573 ตามยุทธศาสตร์ขององค์การอนามัยโลก โดยแผนการขับเคลื่อนได้ตั้งเป้าลดอัตราตายและจำนวนผู้ป่วยมาลาเรียร้อยละ 90 ในปี 2573 เทียบกับตัวเลขในปี 2558 รวมถึงการกำจัดมาลาเรียในกว่า 35 ประเทศ และป้องกันการอุบัติซ้ำของมาลาเรียในประเทศที่ประกาศปลอดมาลาเรียแล้ว
ก้าวต่อไปข้างหน้า
ในห้วงที่เป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษมาถึงจุดสิ้นสุดนี้ จำเป็นที่สำนักเลขาธิการโรลแบ็คมาลาเรียใหม่จะต้องกำหนดให้มาลาเรียเป็นวาระสำคัญทั้งด้านการเมือง สังคม และการคลัง เช่นเดียวกับที่องค์การอนามัยโลกจะต้องเร่งรัดแต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญเข้ามารับผิดชอบงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อผลักดันมาตรการที่จะช่วยให้บรรลุตามจุดมุ่งหมายของแผนปฏิบัติการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่คณะทำงานกำลังระดมเงินสนับสนุนจากทั่วโลกตามเป้าหมายขยายกองทุนให้เติบโตขึ้นอีกสามเท่า ในอีกด้านหนึ่งทั่วโลกต่างคาดหวังว่าโครงสร้างใหม่ของสำนักเลขาธิการโรลแบ็คมาลาเรียจะช่วยประสานผู้มีส่วนได้เสียขับเคลื่อนการปฏิบัติงานในระดับโลก ตลอดจนระดมเงินสนับสนุนได้ตามเป้าเพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายลดอุบัติการณ์ของมาลาเรียให้ได้ร้อยละ 90 ภายในปี 2573
ผู้เขียน คอลลิน โออุมา Program Head of Health Challenges and Systems จากศูนย์วิจัยด้านประชากรศาสตร์และสาธารณสุข มหาวิทยาลัยมาเซโน
ที่มา : www.theconversation.com
- 18 views