แนวคิดสุขภาพโลก หรือ Global Health เกิดขึ้นท่ามกลางยุคสมัยที่การติดต่อสื่อสารระหว่างประเทศเจริญถึงที่สุดในศตวรรษที่ 19 ส่งผลให้ปัญหาสุขภาพระหว่างประเทศข้ามพรมแดนได้อย่างรวดเร็ว และทำให้การแก้ปัญหาสลับซับซ้อนมากขึ้น ปัญหาสุขภาพจึงมีมิติที่แตกต่างไปจากเดิมที่เคยจำกัดอยู่แต่ในประเทศนั้นๆ ความหมายของสุขภาพโลก (Global Health) จึงหมายถึงสุขภาพของประชาชนในบริบทของโลกและข้ามเขตแดนของมุมมองและปัญหาของประเทศใดประเทศหนึ่ง โดยการเข้ามามีบทบาทของกลไกนอกภาครัฐอื่นๆ เพิ่มขึ้นด้วย

เป็นที่ทราบกันดีว่า เวลากล่าวถึงสุขภาพในระดับโลก มีองค์กรอย่างน้อยสององค์กรที่มีบทบาทสำคัญนั่นคือ องค์การอนามัยโลก (World Health Organization) ซึ่งก่อตั้งในปี พ.ศ. 2491 และกองทุนสงเคราะห์เด็กแห่งสหประชาชาติ (United Nations Children's Fund หรือ UNICEF) ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2489 ทั้งสององค์กรดำรงอยู่ภายใต้อิทธิพลเชิงนโยบายของสหประชาชาติที่มักจะเอาเรื่องสุขภาพไปโยงกับเรื่องอื่นๆ เช่นเดียวกันกับประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลายที่ให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพโลกเพิ่มมากขึ้นจึงส่งผลให้ประเด็นสุขภาพโลกมีมิติความหมายที่หลากหลาย ได้แก่

(1) สุขภาพโลกในฐานะที่เป็นนโยบายระหว่างประเทศ กล่าวคือ ให้ความสำคัญกับปัญหาสุขภาพที่จะไปกระทบต่อทั้งเรื่องเศรษฐกิจ เสถียรภาพ ประชาธิปไตย และภาพลักษณ์ของประเทศ โรคที่เป็นปัญหา เช่น โรคติดเชื้อ และโรคเอดส์ หน่วยงานที่ให้ความสำคัญกับสุขภาพในมิตินโยบายระหว่างประเทศ ได้แก่ หน่วยงานพัฒนาระหว่างประเทศของประเทศพัฒนาแล้ว เช่น USAID PEPFAR กระทรวงต่างประเทศสหรัฐ DFID ของสหราชอาณาจักร และ JICA ของญี่ปุ่น

(2) สุขภาพโลกในฐานะที่เป็นประเด็นความมั่นคง โดยเฉพาะการต่อสู้กับการก่อการร้ายด้วยอาวุธชีวภาพ การติดเชื้อ และการดื้อยา เช่น โรคไข้หวัดนก การติดเชื้อทางเดินหายใจ การดื้อยาวัณโรค และโรคเอดส์ หน่วยงานที่ให้ความสำคัญกับมิตินี้ ได้แก่ หน่วยงานควบคุมโรคของประเทศพัฒนาแล้ว เช่น US CDC หรือองค์กรเอกชน เช่น NTI

(3) สุขภาพโลกในฐานะที่เป็นการกุศล หมายถึงการแก้ปัญหาความยากจน ความแห้งแล้ง อดอยาก ภาวะทุพโภชนาการ เอดส์ วัณโรค มาลาเรีย หน่วยงานที่ดำเนินการในมิตินี้ ได้แก่ หน่วยงานพัฒนาระหว่างประเทศของประเทศพัฒนาแล้ว เช่น USAID เป็นต้น และหน่วยงานการกุศลภาคเอกชน

(4) สุขภาพโลกในฐานะที่เป็นการลงทุน เพื่อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจที่จะได้จากการพัฒนาสุขภาพอย่างเต็มที่ ประเด็นสุขภาพในกลุ่มนี้คือ โรคเอดส์ มาลาเรีย อนามัยแม่และเด็ก โภชนาการ อาชีวอนามัย การประกันสุขภาพ และหน่วยงานที่ให้ความสำคัญกับประเด็นนี้ คือ ธนาคารโลก IMF ILO และภาคธุกิจเอกชน

(5) สุขภาพโลกในฐานะที่เป็นการสาธารณสุข หมายถึงสุขภาพตามวัตถุประสงค์ที่ว่ามนุษย์ทุกคนบนโลกมีสุขภาพดีอย่างเต็มที่ ประเด็นสุขภาพคือภาระโรค หน่วยงานที่สนใจประเด็นนี้ คือ องค์การอนามัยโลก หน่วยงานที่รับผิดชอบโรคเฉพาะด้าน และองค์กรเอกชน

จะเห็นว่าเมื่อสุขภาพโลกมีหลายมิติ หน่วยงานที่เข้ามาเกี่ยวข้องมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นทั้งภาครัฐและเอกชน หน่วยงานที่เข้าร่วมดำเนินงานก็มีแนวคิดและจุดมุ่งหมายที่ต่างกันไป ทำให้การทำความเข้าใจเรื่องสุขภาพโลกมีความสลับซับซ้อนมากว่าประเด็นสุขภาพเดิมที่เน้นการมีสุขภาพเป็นเป้าหมายหลัก

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากโรคต่างๆที่กล่าวถึง จะพบว่าโรคบางโรค เช่น โรคเอดส์ เป็นปัญหาร่วมที่ได้รับความสนใจและการสนับสนุนมากกว่าโรคอื่นๆ ในขณะเดียวกัน ยังพบว่าองค์กรทางด้านสุขภาพระดับโลกทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกิดขึ้นมากมายในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมานั้นมีทั้งหน่วยงานที่ทำหน้าที่ให้การสนับสนุนทุนและบริหารจัดการทุน หน่วยงานประสานการทำงาน และหน่วยงานปฏิบัติ ส่งผลให้กลไกเกี่ยวกับระบบสุขภาพโลกมีความสลับซับซ้อนมากขึ้นตามไปด้วย

การเปลี่ยนผ่านแนวคิดด้านสุขภาพ และมิติของสุขภาพโลกทำให้บทบาทของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการเปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นกัน กล่าวคือ หน่วยงานระดับโลกด้านสุขภาพที่เคยมีความสำคัญทั้งในเชิงนโยบายและด้านการเงินอย่างองค์การอนามัยโลก หรือองค์การยูนิเซฟกลับมีบทบาทน้อยลงอย่างมากโดยเฉพาะในช่วงตั้งแต่ปีพ.ศ. 2543 เป็นต้นมา ส่วนหนึ่งเกิดจากปัญหาขององค์การอนามัยโลกเอง โดยเฉพาะปัญหาด้านการบริหารจัดการที่ไม่มีประสิทธิภาพ และการดำเนินงานภายใต้อิทธิพลของประเทศพัฒนาแล้ว เนื่องจากระบบงบประมาณต้องพึ่งพาการบริจาคจากประเทศพัฒนาแล้วเป็นหลัก ซึ่งล้วนแต่มีเงื่อนไขบังคับให้ดำเนินการตามแต่ที่ตนเองสนใจ ส่งผลให้เกิดหน่วยงานใหม่ๆ ที่เรียกว่า Global Health Initiative ขึ้นจำนวนมากกว่าร้อยองค์กร โดยหน่วยงานหลักได้แก่ กองทุนโลกด้านเอดส์ วัณโรค และมาลาเรีย (the Global Fund to fight AIDS, Tuberculosis and Malaria), the Global Alliance for  Vaccines and Immunization (GAVI) และ the World Bank Multi- Country AIDS Program (MAP) ซึ่งองค์กรเหล่านี้มีงบประมาณที่หลั่งไหลมาจากหลายทาง

ข้อมูลของธนาคารโลก แสดงให้เห็นว่ามีการให้การสนับสนุนแก่โครงการด้านสุขภาพเพิ่มขึ้นจาก 2.5 พันล้านเหรียญใน พ.ศ. 2533 เป็น 14 พันล้านเหรียญใน พ.ศ. 2548 งบประมาณที่ให้ผ่านหน่วยงานภายใต้องค์การสหประชาชาติ เช่น องค์การอนามัยโลก องค์การยูนิเซฟ UNAIDS และ UNFPA ลดลงจากร้อยละ 32.3 ใน พ.ศ. 2533 เป็นร้อยละ 14 ใน พ.ศ.2550 ในขณะที่งบประมาณที่ให้แก่ Global Fund และ GAVI เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 1 ของเงินช่วยเหลือด้านสุขภาพทั้งหมดใน พ.ศ. 2533 เป็นร้อยละ 8.3 และ 4.2 ในพ.ศ. 2550 ตามลำดับ โดยเน้นการให้ความช่วยเหลือในแบบทวิภาคีมากขึ้น สำหรับกองทุนโลกด้านเอดส์ วัณโรค และมาลาเรียมีงบประมาณสนับสนุนจากประเทศและหน่วยงานต่างๆตั้งแต่ พ.ศ. 2544 จำนวนถึงสองหมื่นล้านเหรียญ นอกจากการเพิ่มการสนับสนุนจากภาครัฐแล้ว หน่วยงานภาคเอกชนก็เพิ่มการลงทุนด้านสุขภาพด้วยเช่นกัน เช่น มูลนิธิบิลและมิลินดาเกตส์ บริจาคเงินจำนวน 6.6 พันล้านเหรียญสำหรับโครงการด้านสุขภาพโลก เป็นต้น

งบประมาณที่เพิ่มขึ้นของหน่วยงานด้านสุขภาพโลกทำให้เกิดผลกระทบหลายประการ ในขณะที่งบประมาณที่เพิ่มขึ้นทำให้การครอบคลุมการบริการและการรักษาพยาบาลขยายมากขึ้น เช่น ผู้ติดเชื้อเอดส์ได้รับยาต้านไวรัสเพิ่มขึ้น การแจกจ่ายมุ้งในโครงการป้องกันมาลาเรียกระจายได้มากขึ้น ขณะเดียวกันก็ได้ก่อให้เกิดปัญหาต่อระบบสุขภาพ เช่น การเพิ่มความไม่เป็นธรรมด้านบริการสุขภาพ เพราะทรัพยากรของระบบบริการที่จำกัดในประเทศกำลังพัฒนาถูกใช้ไปในการแก้ปัญหาบางโรค ทำให้ปัญหาอื่นๆซึ่งมีความสำคัญไม่ได้รับทรัพยากรเพียงพอ หรือ บุคลากรถูกดึงไปทำงานให้กับโครงการที่มีงบประมาณสนับสนุน ละเลยโครงการที่ไม่มีงบประมาณ กลายเป็นการลงทุนในโครงการเฉพาะโรคแต่ไม่ได้พัฒนาระบบสุขภาพทั้งหมด

เก็บความจาก

ประเทศไทยกับระบบสุขภาพโลก โดย รศ.ดร. ชื่นฤทัย  กาญจนะจิตรา

แหล่งที่มา : นายแพทย์สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ (บรรณาธิการ), การสาธารณสุขไทย ๒๕๕๑-๒๕๕๓, สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข, 2554

องค์การระหว่างประเทศเกี่ยวกับสุขภาพอนามัย ใน สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

แหล่งที่มา: http://kanchanapisek.or.th/kp6/sub/book/book.php?book=9&chap=5&page=t9-5-infodetail08.html

ขอบคุณภาพจาก

http://www.ucl.ac.uk/global-health