“หมอเจตน์” ชี้ กองทุนรักษาพยาบาล ขรก. ปี 58 เกินงบ 3 พันล้าน เหตุกรมบัญชกลางสุดที่จะคุม หลังใช้สารพัดมาตรการ ทั้งแผนบันได 9 ขั้น พร้อมเพิ่มร่วมจ่าย แถมคงงบ 6 หมื่นล้านบาท นาน 8 ปี เหตุรพ.ปรับค่ารักษาเพิ่ม อัตราเงินเฟ้อ และความก้าวหน้าเทคโนโลยี เผยที่ผ่านมาเชิญ “ศ.อัมมาร” ให้ข้อเสนอทิศทางลดเหลื่อมล้ำระบบสุขภาพ เชื่อที่สุดต้องร่วมจ่ายบัตรทองเพื่อเพิ่มเงินในระบบ
นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข (กมธ.สาธารณสุข) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวว่า ในการประชุม กมธ.สาธารณสุข สนช. ที่ผ่านมา ได้เชิญ ศ.อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนา (ทีดีอาร์ไอ) มาให้ข้อมูลเกี่ยวกับข้อเสนอแนวทางการปฏิรูประบบสาธารณสุขประเทศ เนื่องจากทีดีอาร์ไอเป็นหน่วยงานที่มีอิทธิพลต่อแนวคิดระบบสุขภาพ จึงอยากฟังทิศทางที่ทีดีอาร์ไอนำเสนอ โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในระบบ เพราะหากจะลดสิทธิประโยชน์ในระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการ มองว่าข้าราชการก็แย่อยู่แล้ว เนื่องจากปัจจุบันการรับบริการรักษาพยาบาลของข้าราชการต้องร่วมจ่ายมากมายเมื่อเปรียบเทียบกับในอดีต แต่หากจะให้เพิ่มสิทธิประโยชน์ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) เท่ากับสวัสดิการข้าราชการก็ทำไม่ได้เพราะงบประมาณไม่เพียงพอ ดังนั้นจะทำอย่างไรเพื่อให้มีทางออกที่เหมาะสม
ทั้งนี้ กมธ.สาธารณสุข มองว่าไม่ว่าอย่างไร ระบบบัตรทองต้องเพิ่มงบประมาณในระบบ ที่ผ่านมาเรามักหลีกเลี่ยงข้อเสนอการร่วมจ่าย แต่หากดูประเทศที่ดำเนินระบบหลักประกันสุขภาพ อย่างประเทศญี่ปุ่นที่เดิมไม่มีการร่วมจ่าย แต่ต่อมาได้กำหนดให้ประชาชนในการเข้ารับบริการต้องร่วมจ่ายร้อยละ 5 และขยับเพิ่มเป็นร้อยละ 10 โดยในปัจจุบันการร่ายจ่ายอยู่ที่ร้อยละ 30 ซึ่งในอนาคตไม่ว่าอย่างไรประเทศไทยคงหลีกการร่วมจ่ายไม่พ้น ทั้งนี้เพื่อให้ระบบมีคุณภาพ และแม้ว่ารัฐจะหางบประมาณมาเพิ่มเติมให้กับระบบบัตรทองได้ แต่จะส่งผลให้กองทุนบัตรทองมีอายุยาวเพิ่มขึ้นเพียงช่วงหนึ่งเท่านั้น ในที่สุดปัญหางบไม่เพียงพอจะวนกลับมา
นพ.เจนต์ กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีที่กองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาล ปีงบประมาณ 2558 นี้ โดยกรมบัญชีกลางคาดการณ์ว่าจะมีการเบิกจ่ายเกินงบที่ตั้งไว้ไป 3,000 ล้านบาท จากที่ตั้งไว้ที่ 60,000 ล้านบาทนั้น มองว่าที่ผ่านมากรมบัญชีกลางได้พยายามควบคุมงบประมาณค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการอย่างที่สุดแล้ว โดยกำหนดเป็นปัญหา 9 ขั้น ประกอบกันได้คงงบเบิกจ่ายกองทุนไว้ที่ 60,000 ล้านบาทต่อเนื่องเป็นปีที่ 8 แล้ว แต่ต้องยอมรับว่าแม้ว่าจำนวนข้าราชการจะลดลง เพราะผู้ที่เข้าทำงานภาครัฐส่วนใหญ่จะเป็นตำแหน่งพนักงานของรัฐเท่านั้น ไม่มีสิทธิรักษาพยาบาลเช่นเดียวกับข้าราชการ แต่ที่ค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลเพิ่มขึ้นจนเกินงบที่ตั้งไว้นั้น เพราะเป็นไปตามอัตราเงินเฟ้อ เทคโนโลยีการรักษา และการปรับเพิ่มค่ารักษาของโรงพยาบาล ซึ่งงบประมาณที่เกินมาตรงนี้ เชื่อว่าจะเป็นปัญหาต่อกรมบัญชีกลางค่อนข้างมากเพราะต้องขอเพิ่มเติมจากงบกลาง
“ระบบสวัสดิการข้าราชการแม้ว่าจะเป็นการจ่ายตามการเบิกจริง แต่ในระยะหลังพบว่ากรมบัญชีกลางเปิดให้ข้าราชการร่วมจ่ายมากขึ้น เพื่อเป็นทางเลือกให้กับข้าราชการเพื่อเลือกรักษาในกรณีที่ไม่ต้องการการรักษาหรือใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ตามราคากลางที่กำหนด อาทิ การเลือกเลนส์ตาที่มีหลายแบบ เป็นต้น ทำให้ปัจจุบันมีการร่วมจ่ายค่ารักษาของข้าราชการเยอะมาก ซึ่งเป็นวิธีแบบค่อยเป็นค่อยไป ทำให้เสียงโวยจากกลุ่มข้าราชการไม่รุนแรง ต่างจากกรณียากูลโคซามีนที่เป็นการสั่งยกเลิกทันที ทำให้มีแรงต้านจากกลุ่มข้าราชการค่อนข้างมาก” นพ.เจตน์ กล่าว
นพ.เจตน์ กล่าวว่า การเปิดร่วมจ่ายในระบบสวัสดิการข้าราชการ ช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้บ้าง แต่ก็ยังไม่ตรงเป้าอย่างที่ภาคประชาชนต้องการให้ลดสิทธิประโยชน์เท่ากับบัตรทอง ประเด็นนี้มองแตกต่างกัน เพราะภาคประชาชนมองว่าเป็นคุณภาพที่แตกต่าง แต่เรามองว่าเป็นเรื่องของความเป็นธรรม ยกตัวอย่างการขึ้นเครื่องบิน แม้ว่าจะมีชั้นธุรกิจ ชั้นประหยัด แต่ทุกคนก็ไปถึงจุดหมายพร้อมกัน ซึ่งถือเป็นเรื่องความเป็นธรรม
ต่อข้อซักถามว่า อธิบดีกรมบัญชีกลางระบุว่า ในปี 2559 นี้ จะคุมงบประมาณค่ารักษาพยาบาลข้าราชการให้อยู่ภายในงบประมาณ 60,000 ล้านบาท มองความเป็นไปได้อย่างไร นพ.เจตน์ กล่าวว่า กรมบัญชีกลางมีหน้าที่ต้องทำให้ได้ ซึ่งคงหนีไม่พ้นการเปิดร่วมจ่ายมากขึ้น ทั้งนี้ห่วงว่าสุดท้ายข้าราชการอาจเบิกค่ารักษาฟรีอะไรไม่ได้เลย เพราะป็นการร่วมจ่ายหมด
- 3 views