แอดมินเพจ “Med Sci Smoothies” ชี้ ข่าวผลตรวจ HIV พลาด กระทบความน่าเชื่อถือ “วิชาชีพเทคนิคการแพทย์” ยันวิธีการตรวจและยืนยันผลต้องปฏิบัติตามไกด์ไลน์ เผยจากการติดตามข่าวมีการให้ข้อมูลย้อนแย้ง ขอตั้งข้อสังเกตประเด็นสงสัย
ภายหลังจากที่ได้มีการนำเสนอข่าวกรณีความผิดพลาดการยืนยันการตรวจเชื้อเอชไอวีของผู้ป่วยหญิงรายหนึ่ง ซึ่งภายหลังพบว่าผู้ป่วยรายนี้ไม่พบเชื้อเอชไอวี และได้มีการให้ข้อมูลโน้มเอียงชี้ให้เห็นถึงความบกพร่องของการตรวจยืนยันเชื้อ แอดมินเพจ “Med Sci Smoothies” ซึ่งเป็นเพจรวมตัวของนักเทคนิคการแพทย์ จึงขอให้ข้อมูลและข้อสังเกตต่อกรณีที่เกิดขึ้น โดยระบุว่าข่าวที่เกิดขึ้นนี้ได้ส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือต่อวิชาชีพเทคนิคการแพทย์
แอดมินเพจ Med Sci Smoothies กล่าวว่า การออกมาให้ข้อมูลในครั้งนี้ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อชี้ว่าใครผิดใครถูก แต่จากการติดตามข่าวต่อเนื่องผ่านสื่อต่างๆ โดยเฉพาะข่าวจากอินเตอร์เน็ต พบว่ามีข้อย้อนแย้งหลายประเด็นที่น่าติดตาม ทั้งยังมีการให้ข้อมูลที่มุ่งว่าเป็นความผิดพลาดจากการตรวจโดยห้องปฏิบัติการ (แลป) ดังนั้นจึงขอไล่เรียงประเด็นข่าวโดยเปรียบเทียบตามแนวทางการตรวจเชื้อเอชไอวี (Guideline) ของประเทศ และวิเคราะห์จากการมองที่เป็นการมองจากข้อมูลทั้ง 2 ฝั่ง ทั้งในส่วนของผู้ป่วยและวิชาชีพ จึงขอตั้งข้อสังเกตดังนี้
1.การตรวจเชื้อเอชไอวี มีการระบุว่าผู้ป่วยได้ทำการตรวจด้วยวิธี ELISA ในครั้งแรก รวมถึงการตรวจด้วยวิธี Western Blot ในช่วงเวลาต่อมา โดยใช้ 2 วิธีนี้เท่านั้น ซึ่งไม่เป็นไปตามไกด์ไลน์ระดับประเทศที่กำหนดให้ผู้ป่วยจะต้องทำการตรวจ Anti-HIVซึ่งเป็นแอนติบอดี้ หรือภูมิคุ้มกันต่อเชื้อ HIV ก่อน อีกทั้งการตรวจด้วยวิธี Western Blot โรงพยาบาลร้อยละ 99 ในประเทศไทยไม่ใช้วิธีการตรวจนี้แล้ว เนื่องจากมีราคาแพง และมีความไวไม่เท่าการตรวจด้วยวิธีใหม่ๆ ในขณะนี้ อย่างวิธี PCR (Polymerase Chain Reaction) หรือ NATที่มีประสิทธิภาพมากกว่า
ทั้งนี้วิธี PCR หรือ NAT เป็นวิธีการตรวจเอชไอวีที่ใช้กันมากในปัจจุบัน แม้แต่ศูนย์บริจาคโลหิต สภากาชาดไทยยังใช้เป็นวิธีในการตรวจหาเชื้อเอชไอวีในผู้บริจาคโลหิต เนื่องจากเป็นวิธีการตรวจหาพันธุกรรมของเชื้อที่ให้ผลเร็วที่สุดในปัจจุบัน และแม่นยำถึงร้อยละ 99
“วิธีการตรวจทั้ง Western Blot แม้ว่าจะเป็นวิธีการตรวจเอชไอวีที่เป็นมาตรฐาน แต่ปัจจุบันยกเลิกเกือบทุกโรงพยาบาลแล้ว เพราะมีวิธีที่มีประสิทธิภาพดีกว่า แต่หากเป็นเมื่อ 15 ปีที่แล้วก็เป็นไปได้ และทั้ง 2 วิธีนี้ผู้ป่วยต้องทำการตรวจ Anti-HIV ก่อน ประเด็นนี้จึงเป็นสิ่งที่ย้อนแย้งกันและขัดแย้งกับไกด์รายการตรวจ HIV”
2.โรงพยาบาลที่เกิดเหตุ จากการติดตามข้อมูลหากเป็นโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในจังหวัดภูเก็ตที่แอดมินเพจ Med Sci Smoothies คาดว่าผู้ป่วยเข้ารบการตรวจหาเชื้อในครั้งแรกนั้น เท่าที่ทราบโรงพยาบาลดังกล่าวได้ขายกิจการให้กับเครือโรงพยาบาลเอกชนใหญ่แห่งหนึ่งเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นช่วงเวลาหลังเกิดเหตุ ดังนั้นจึงไม่สามารถตรวจสอบระบบการตรวจหาเชื้อเอชไอวี ประวัติคนไข้ย้อนหลัง รวมถึงวิธีการรายงานผลได้ ยกเว้นกรณีที่โรงพยาบาลซึ่งที่ผู้ป่วยเข้ารับการตรวจเชื้อในครั้งแรกได้ทำการโอนถ่ายข้อมูลให้กับโรงพยาบาลที่ซื้อกิจการ ซึ่งทำให้จะสามารถสืบย้อนข้อมูลและทราบข้อเท็จจริงได้
3.การตรวจหา CD4 และปริมาณเชื้อไวรัส ในประเด็นนี้บุคลากรเทคนิคการแพทย์ได้เข้าไปสอบถามหน้าเพจผู้ที่ออกให้ข่าวในเรื่องนี้จำนวนมากว่าผู้ป่วยได้มีการตรวจหา CD4 และปริมาณไวรัสเอชไอวีหรือไม่ เพราะการให้ยาต้านไวรัสทุกครั้งจะต้องทำการตรวจทั้ง 2 รายการนี้ แต่ปรากฎว่าคำถามเหล่านี้ได้ถูกเลี่ยงตอบมาโดยตลอด และจนถึงวันนี้ก็ยังไม่ได้คำตอบ ซึ่งต่อมาได้รับคำตอบซึ่งอ้างว่าเป็นของผู้ป่วยฝากมา แต่กลับยิ่งมีข้อย้อนแย้งหลายประเด็น จึงเป็นประเด็นที่สงสัย
“แต่หากดูข่าวจากหลายสำนักที่นำเสนอข่าวนี้ในครั้งแรก คือผู้ป่วยได้ทำการรักษาหลังทราบว่ามีเชื้อเอชไอวีมาตลอด 4 ปี จึงเชื่อว่าผู้ป่วยก็น่าจะได้รับยาต้านไวรัสมาโดยตลอดเช่นกัน แต่พอดูข่าวที่ให้สัมภาษณ์ต่อทีวีช่องหนึ่ง คนไข้กลับระบุว่า ได้ทำการตรวจ CD4 มาโดยตลอด ซึ่งผล CD 4 ไม่ลดจึงไม่ได้ทานยาต้านไวรัส ประเด็นนี้ก็ขัดแย้งกัน”
4.ขั้นตอนการตรวจหาเชื้อเอชไอวีครั้งแรก หลังทราบผลจะต้องมีการติดตามเพื่อทำการตรวจซ้ำอีกไม่เกิน 1 เดือน เพื่อยืนยันว่าผลเลือดเป็นบวกหรือลบ และหากผลยืนยันครั้งแรกเป็นบวกแพทย์จะยังไม่แจ้งให้ผู้ป่วยทราบเพราะต้องทำการตรวจซ้ำใหม่อีกรอบ และหากผลยังคงเป็นบวกจึงแจ้ง และเริ่มกระบวนการรักษาตาม Guide Line ซึ่งการตรวจยืนยันมีหลายขั้นตอนหลายครั้งมาก กว่าจะยืนยันผลกับผู้ป่วย
นอกจากนี้ยังมีประเด็นอื่นๆ ในข้อมูลที่ไม่ชัดเจน เช่น กรณีจำนวนปีที่ได้รับการตรวจหาเชื้อ เพราะมีการระบุหลายตัวเลขตั้งแต่ 4 ปี 5 ปี และ 7 ปี รวมถึงไม่มีการพูดถึงอาการของสามี ทั้งที่ผู้ป่วยระบุว่าเสี่ยงรับเชื้อจากสามี ทั้งที่สามีเป็นผู้ให้กำลังใจมาตลอด เป็นต้น ส่วนความเป็นไปได้ในการอ่านผลแลปผิดพลาดของแพทย์นั้น ส่วนตัวมองว่าเป็นไปได้ยากในกรณีใช้ระบบ N Health แต่ในกรณีที่เป็นระเบบเก่ามากใช้การแจ้งผลโดยเอกสารก็เป็นไปได้กรณีที่ลายมือหวัด แต่การยืนยันผลก็มีหลายขั้นตอนอีก นอกจากนี้ยังมีการเชื่อมโยงไปยังการผลักดัน พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ซึ่งทั้งวิชาชีพแพทย์และนักเทคนิคการแพทย์ต่างมี พ.ร.บ.ที่ลงโทษซึ่งเขียนอยู่ใน พ.ร.บ.อยู่แล้ว
“กรณีที่เกิดขึ้นนี้บุคลากรเทคนิการแพทย์ให้ความสนใจอย่างมาก เพราะเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อวิชาชีพเทคนิคการแพทย์โดยตรง เนื่องจากการให้ข้อมูลมีการโจมตีไปที่แลป ที่เป็นการทำลายความน่าเชื่อถือวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ ซึ่งเรื่องนี้คงต้องเป็นหน้าที่ของสภาเทคนิคการแพทย์ที่ต้องออกมาเคลื่อนไหวเช่นเดียวกับแพทยสภา เพราะเรื่องนี้วิชาชีพเทคนิคการแพทย์กำลังถูกมองในแง่ลบเพราะถูกโจมตีอย่างเดียว และเรื่องนี้คงต้องติดตามข่าวอย่างใกล้ชิดต่อไป” แอดมินเพจ Med Sci Smoothies กล่าว
- 323 views