นักกายภาพบำบัด เป็นอีกวิชาชีพหนึ่งในแวดวงสาธารณสุข แต่ในทางกลับกันนักกายภาพบำบัดเป็นอีกอาชีพหนึ่งที่สังคมไม่ค่อยได้พูดถึงว่า นักกายภาพบำบัดมีความสำคัญอย่างไรต่อผู้ป่วย และเราจะรู้จักกับนักกายภาพบำบัดก็ต่อเมื่อเรามีอาการเจ็บปวดทางร่างกายที่แพทย์ลงความเห็นว่า อาการของผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการบำบัดจากนักกายภาพบำบัดเท่านั้น
ภาสกร สายสุริย์
ภาสกร สายสุริย์ นักกายภาพบำบัด 5 รพ.สมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา สภากาชาดไทย เล่าว่า คนที่จะมาเป็นนักกายภาพบำบัดที่เป็นวิชาชีพเฉพาะได้ต้องเรียนในคณะเทคนิคการแพทย์ สหเวชศาสตร์ สาขากายภาพบำบัด ปัจจุบันมี 13 มหาวิทยาลัยที่เปิดสอนในสาขากายภาพบำบัด
บทบาทของนักกายภาพบำบัดในโรงพยาบาลมีด้วยกัน 4 บทบาท คือ 1.ส่งเสริม เจ้าหน้าที่กายภาพบำบัดมีหน้าที่ดูแลเจ้าหน้าที่ บุคลากร และประชาชนให้มีการดูแลสุขภาพได้ด้วยตนเอง เข่น ส่งเสริมให้ประชาชนออกกำลังกาย 2.การป้องกัน นักกายภาพบำบัดจะต้องทำงานในเชิงรุก มากกว่าการตั้งรับด้วยการรักษา ซึ่งการป้องกันจะมีความสำคัญมากกที่สุด เพราะเป็นการป้องกันไม่ให้ประชาชนเจ็บป่วย ซึ่งจะช่วยลดจำนวนผู้ป่วยที่จะมารับบริการที่โรงพยาบาลอีกด้วย 3.การรักษา ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัยและส่งต่อมาว่าผู้ป่วยต้องได้รับการทำกายภาพบำบัดเพื่อรักษาอาการเจ็บป่วย โดยนักกายภาพบำบัดจะเป็นผู้ออกแบบการรักษาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย และ 4. การฟื้นฟู ในกลุ่มที่ฟื้นฟูส่วนมากจะเป็นผู้ป่วยที่มีเรื่องของโรคหลอดเลือดสมอง ที่จำเป็นต้องได้รับการบำบัดฟื้นฟูผ่านอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อให้ผู้ป่วยมีร่างกายกลับมาเป็นเหมือนปกติ
สำหรับเครื่องมือที่ใช้ในการทำกายภาพบำบัดได้แก่ เครื่องออกกำลังกายในรูปแบบต่างที่ คลื่นความถี่ Short wave และ เครื่องเลเซอร์สแกน ปัจจุบันประเทศไทยมีประมาณ 4-5 เครื่อง
ภาสกร กล่าวว่า ปัจจุบันนักกายภาพบำบัดที่ รพ.สมเด็จพระบรมราชเทวีฯ ให้การรักษาผู้ป่วยมากถึง 90-100 คนต่อวัน ต่อนักกายภาพบำบัดทั้งหมด 8 คน เฉลี่ยนักกายภาพบำบัด 1 คน ต้องดูแลผู้ป่วย10 คน ใช้เวลาในการรักษาประมาณ 20 นาทีต่อคน ซึ่งถือเป็นงานที่หนัก นอกเหนือจากงานในโรงพยาบาลแล้ว นักกายภาพบำบัดยังต้องออกทำงานเชิงรุกเป็นทีมสหวิชาชีพ เพื่อติดตามดูผู้ป่วยหลังจากที่ออกจากโรงพยาบาลไปแล้วตามโครงการใกล้บ้านใกล้ใจ โดยใช้เวลาเยี่ยมบ้านผู้ป่วยประมาณ 2-3 ครั้งต่อเดือน และมีการแนะนะปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับผู้ป่วย โดยประสานงานกับ อบต.ให้เข้ามาช่วยดูแลและส่งเสริมการปรับปรุงสภาพแวดล้อม
ทั้งนี้ อาการป่วยที่จำเป็นต้องได้รับการทำกายภาพบำบัด ได้แก่ กลุ่มผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อและกระดูก ร้อยละ 80 และกลุ่มผู้ป่วยระบบประสาทกล้ามเนื้อ ร้อยละ 10 กลุ่มระบบหัวใจและทรวงอก ร้อยละ 10 ซึ่งการทำกายภาพบำบัดจะเข้าไปช่วยให้ระบบการทำงานของปอดและการหายใจดีขึ้น เนื่องจากคนผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัด ผู้ป่วยส่วนมากจะมีการหายใจที่สั้นลง เนื่องจากเป็นผลมาจากการเจ็บแผลผ่าตัดทำให้หายใจสั้นลง เราจึงต้องมาฟื้นฟูในส่วนนี้
ภาสกร กล่าวว่า หัวใจที่สำคัญของการทำหน้าที่นักกายภาพบำบัด คือ เป็นอีกวิชาชีพหนึ่งที่เราสามารถได้พูดคุยกับผู้ป่วย เรา ต้องรักษาผู้ป่วยทั้งทางร่างกายและจิตใจ โดยทางนักกายภาพบำบัดจะตั้งโปรแกรมในการรักษา ซึ่งเราอาจจะไม่ได้ทำหน้าที่ในการรักษาอย่างเดียว แต่เราจะจะทำหน้าที่เป็นทั้งหมอและเพื่อนให้กับผู้ป่วย
การเป็นนักกายภาพบำบัด มีข้อดี คือ เราสามารถทำทั้งหน้าที่ของการรักษาและเพื่อน คือ ดูทั้งกายและใจ ซึ่งทำให้ผู้ป่วยเขาไม่ได้เป็นแค่ผู้ป่วย เรายังได้ทำหน้าที่ของการเป็นที่ปรึกษาให้กับผู้ป่วยได้เหมือนเป็นคนในครอบครัว ซึ่งบางครั้งที่เราสามารถรับทราบปัญหาของผู้ป่วยได้ จะทำให้เราเข้าใจผู้ป่วยมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่จะมีความเครียดมากกว่าผู้ป่วยแบบอื่นๆ ผู้ป่วยกลุ่มนี้จำเป็นต้องได้รับกำลังใจในการทำกายภาพบำบัดอย่างมาก ส่วนนักกายภาพบำบัดจะต้องรักษาให้ผู้ป่วยกลับมาหายเป็นปกติ หรือมีสภาพที่เกือบเหมือนปกติได้ ทั้งนี้การพูดคุยจะทำให้ผู้ป่วยมีกำลังใจมากขึ้น และทางโรงพยาบาลยังได้มีการปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมต่อการทำกายภาพบำบัด เช่น มีซีดีธรรมะเปิดให้ผู้ป่วยได้ดูหรือฟัง เพื่อเป็นการผ่อนคลายให้กับผู้ป่วย
“เราจะต้องพูดคุยกับผู้ป่วยให้เขายอมรับกับความจริงที่เกิดขึ้น อย่าไปโทษโชคชะตา ให้ผู้ป่วยอยู่กับปัจจุบัน และเราจะทำหน้าที่ในการรักษาให้ดีที่สุด ทั้งนี้ผู้ป่วยที่เข้ารับการทำกายภาพบำบัดจะมีสภาพร่างกายที่ดีถึงร้อยละ 80-90 ซึ่งทั้งนี้ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ผู้ป่วยฟื้นฟูร่างกายได้ดีขึ้นหรือไม่จะต้องขึ้นอยู่กับอาการของโรค อายุของผู้ป่วย และการทำกายภาพบำบัดอย่างต่อเนื่องของผู้ป่วยหรือไม่”
ภาสกร เล่าว่า มีกรณีหนึ่งที่ประทับใจตนเองมาก คือ ได้ทำการรักษาผู้ป่วยคนหนึ่ง ซึ่งทางเราก็ไม่ได้จำว่าเขาเป็นใคร มีอยู่วันหนึ่งตนได้ไปเดินซื้อของที่ร้านสะดวกซื้อ มีคนไข้พูดตนเองว่า “หมอๆ จำผมได้หรือเปล่า นี่ถ้าวันนั้นไม่มีหมอ คงไม่มีเขาในวันนี้” สิ่งที่ตนเห็นในตอนนั้นคือ สายตาที่ปริ่มไปด้วยน้ำตาและขอบคุณ ทำให้เขาเปลี่ยนชีวิต ทำให้ตนเองรู้สึกภูมิใจที่สามารถช่วยเหลือคนอื่นได้ให้มีชีวิตกับมาเป็นเหมือนเดิมได้
ทุกวันนี้ ภาสกร มีปรัชญาในการทำงานของเขาว่า เราต้องรู้หน้าที่และบทบาทของนักกายภาพบำบัดคืออะไร ให้ทำหลักในวิชาชีพ บอกกับตนเองเสมอว่า จะต้องรักษาผู้ป่วยให้ดีที่สุดให้เหมือนญาติของเรา เมื่อผู้ป่วยกลับมามีสุขภาพดี เราจะรู้สึกภูมิใจ ที่สามารถทำให้เขาเปลี่ยนชีวิตได้
- 1068 views