ภาพรวมสถานการณ์แรงงานข้ามชาติ
กว่า 25 ปี แล้วที่กองทุนประกันสังคมไทยได้ก่อตั้งขึ้นมาและถูกออกแบบสิทธิประโยชน์มาเพื่อดูแลผู้ประกันตนคนไทยที่ทำงานให้มีหลักประกันทางสังคมที่ดีตามมาตรฐานความคุ้มครองแรงงานสากล ซึ่งแน่นอนว่าไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อดูแลแรงงานข้ามชาติ เนื่องจากในห้วงเวลาดังกล่าวนั้นแรงงานข้ามชาติมีเพียงจำนวนหนึ่งเท่านั้นเอง
ในปัจจุบันเป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่าแรงงานข้ามชาติ 3 สัญชาติมีจำนวนหลายล้านคนที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย ได้แก่ แรงงานจากประเทศกัมพูชา ลาว และพม่า จนกลายเป็นกำลังแรงงานที่สำคัญมากในตลาดแรงงานของประเทศไทย โดยเฉพาะงานบางประเภทที่นับวันคนไทยจะทำน้อยลงมากยิ่งขึ้น เช่น กรรมกร คนงาน เด็กปั๊มน้ำมัน ช่างตัดเย็บเสื้อผ้า พนักงานเสิร์ฟ คนรับใช้ในบ้าน ฯลฯ แรงงานเหล่านี้บางส่วนยังทำงานประเภท 3D คือ เป็นงานที่เสี่ยงอันตราย สกปรก และลำบาก เพื่อแลกกับค่าจ้างที่ต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของแรงงานในประเทศไทยเป็นอย่างมาก เช่น งานในล้งแปรรูปอาหารทะเล[1] งานในโรงงานห้องเย็นแช่แข็งอาหารทะเล ในเรือประมงทะเล ในเรือกสวนไร่นา เป็นต้น
แรงงานทั้งหมดนี้มีความเสี่ยงต่อการเข้าสู่กระบวนการค้ามนุษย์ และการถูกเอารัดเอาเปรียบอย่างสูงจากนายจ้าง ทั้งนี้ในกลุ่มที่มีสถานภาพที่ผิดกฎหมาย ยิ่งทำให้ไม่สามารถเข้าถึงกลไกคุ้มครองทางสังคมและสิทธิขั้นพื้นฐานในการดำเนินชีวิตได้อย่างแท้จริง มีข้อมูลเชิงประจักษ์ที่แสดงถึงการแสวงประโยชน์จากการใช้แรงงานข้ามชาติอย่างผิดกฎหมาย เช่น
มีขบวนการรับจ้างนำพาแรงงานข้ามชาติจำนวนมากข้ามแดนเข้ามาทำงานในประเทศไทยอย่างผิดกฎหมาย
การออกใบอนุญาตทำงานปลอมโดยกลุ่มมิจฉาชีพในรูปแบบเป็นนายจ้างรับจ้าง ทำให้เกิดการคิดค่าใช้จ่ายในการจัดขึ้นทะเบียนที่สูงเกินจริง
มีเจ้าหน้าที่ที่อยู่ในกระบวนการนายหน้าค้าแรงงานข้ามชาติเรียกรับผลประโยชน์ โดยเฉพาะในพื้นที่ซึ่งมีการขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติเป็นจำนวนมากนั้น มีการประเมินว่ามีมูลค่าการจ่ายเงินสินบนให้กับเจ้าหน้าที่เป็นจำนวนเงินสูงถึง 50 ล้านบาทต่อเดือน (กฤตยา อาชวนิจกุล และ กุล ภาวจนสาระ, 2552, น.41)
สำนักบริหารแรงงานข้ามชาติ กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน (เมษายน, 2558) ระบุว่าประเทศไทยมีแรงงานข้ามชาติ 3 สัญชาติจากประเทศพม่า ลาว กัมพูชา อย่างน้อยรวมทั้งสิ้น 2,874,651 คน โดยแบ่งเป็น
แรงงานข้ามชาติ พม่า ลาว กัมพูชา ที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติแล้วรวม 981,568 คน
แรงงานข้ามชาติ พม่า ลาว กัมพูชา ที่นำเข้าตามบันทึกข้อตกลงการนำเข้าแรงงานถูกกฎหมาย (MOU) รวม 266,848 คน
แรงงานข้ามชาติ พม่า ลาว กัมพูชา ที่จดทะเบียนรอบใหม่ ผ่านศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (one stop service) เมื่อปี 2557 และอยู่ในระหว่างรอการพิสูจน์สัญชาติ รวม 1,626,235 คน
และยังไม่นับรวมแรงงานข้ามชาติที่ไม่ได้เข้าสู่ระบบจดทะเบียนที่สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย (TDRI) และหน่วยงานที่ทำงานเกี่ยวข้องคาดการณ์ว่าน่าจะมีจำนวนอีกหลายแสนคน ซึ่งส่วนใหญ่มีสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา
ทั้งนี้ในกลุ่มที่เข้าเมืองถูกต้องตามกฎหมายคนเข้าเมือง คือ มีหนังสือเดินทาง และใบอนุญาตทำงานตามกฎหมายว่าด้วยการทำงานของคนต่างด้าว รวมถึง กลุ่มแรงงานข้ามชาติที่นำเข้าตามบันทึกข้อตกลงการนำเข้าแรงงานถูกกฎหมาย (MOU) กับ กลุ่มที่หลบหนีเข้าเมือง และได้รับการผ่อนผันให้อยู่ในประเทศไทยและสามารถทำงานชั่วคราวได้ตามมติคณะรัฐมนตรี หากผ่านกระบวนการพิสูจน์สัญชาติและมีหนังสือเดินทางชั่วคราว (หรือเอกสารรับรองบุคคล) กับใบอนุญาตทำงานแล้ว แรงงานในกลุ่มหลังนี้ต้องเข้าสู่ระบบประกันสังคมมาตรา 33 ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533
สำนักงานประกันสังคม[2] ระบุว่า ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2558 มีจำนวนผู้ประกันตนต่างชาติในระบบประกันสังคมในมาตรา 33 ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2433 รวมทั้งหมด 492,240 คน ประกอบด้วย พม่า 305,181 คน กัมพูชา 90,643 คน ลาว 12,501 คน และอื่นๆ 83,915 คน
การจ้างแรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่า ลาว และกัมพูชาที่มีสถานะเป็นผู้หลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมาย อาศัยมติคณะรัฐมนตรีเพื่อยกเว้นกฎหมายสำคัญ 2 ฉบับ คือ พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 และพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 โดยอนุญาตให้มีการจ้างผู้หลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมายจากทั้งสามประเทศ ให้อาศัยอยู่และทำงานในประเทศไทยเป็นการชั่วคราวระหว่างรอการส่งกลับ โดยรัฐบาลไทยและรัฐบาลประเทศพม่า ลาวและกัมพูชา ได้ทำบันทึกข้อตกลงการนำเข้าแรงงานถูกกฎหมาย (MOU) ในปี พ.ศ. 2546 ต่อมาในปี พ.ศ. 2547 มีนโยบายการจัดการแรงงานข้ามชาติทั้งระบบ โดยให้แรงงานข้ามชาติที่ทำงานในประเทศไทยทั้งหมดที่มีและไม่มีเอกสารอนุญาตทำงาน รวมทั้งครอบครัวและผู้ติดตาม ขึ้นทะเบียนรายงานตัวต่อกระทรวงมหาดไทย และได้เอกสารประจำตัว หรือ ทร.38/1 มีเลข 13 หลัก สำหรับผู้ที่ประสงค์จะทำงานให้ขออนุญาตทำงานกับกระทรวงแรงงาน โดยต้องตรวจสุขภาพ ต่ออายุใบอนุญาตทำงาน และทำประกันสุขภาพทุกปี โดยอาชีพที่อนุญาตให้แรงงานข้ามชาติกลุ่มนี้ทำงานได้ตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา มีสองอาชีพใหญ่ คือ งานกรรมกร และงานคนรับใช้ในบ้าน
แนวทางการปฏิรูประบบประกันสังคมไทยสำหรับแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่า ความหลากหลายของสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น และสถานะของแรงงานข้ามชาติที่ซับซ้อนเป็นประเด็นหลักสำคัญที่จะต้องปฏิรูประบบประกันสังคมไทยสำหรับแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพราะจากสถานการณ์ดังกล่าวนั้นมิอาจแก้ได้ด้วยกระบวนการภายในประเทศเพียงอย่างเดียว หากแต่จะต้องอาศัยความร่วมมือจากประเทศต้นทางของแรงงานข้ามชาติด้วย เพื่อให้การจ้างงานของแรงงานข้ามชาติอยู่ในระบบการจ้างงานที่ถูกกฎหมายและได้รับความคุ้มครองทางสังคมอย่างเหมาะสม
ปัจจุบัน การจัดทำข้อตกลงด้านการประกันสังคมระหว่างประเทศ หรือ SSA (Social Security Agreement) ของสำนักงานประกันสังคมนั้นยังไม่มีความเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน มีแต่เพียงการแก้ปัญหาเป็นรายกรณีตามข่าวที่ปรากฏในสื่อต่างๆ แสดงให้เห็นถึงการทำงานขององค์กรที่ยังไม่พร้อมกับการสร้างกลไกความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อให้เกิดความคุ้มครองด้านประกันสังคมทั้งกับคนไทยที่ไปทำงานในต่างประเทศและแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย ทั้งนี้อาจเนื่องด้วยความไม่เป็นอิสระขององค์กรและขาดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงในการบริหารองค์กรจากผู้ประกันตน ซึ่งเป็นข้อจำกัดสำคัญในการจัดหาบุคลากรที่มีความรู้และประสบการณ์ด้านการจัดทำข้อตกลงระหว่างประเทศมาร่วมดำเนินงาน ทำให้มิติความร่วมมือด้านการประกันสังคมระหว่างประเทศของประกันสังคมไทยดูเลือนลางและไร้อนาคต
จาก ร่างรัฐธรรมนูญ[3] ฉบับวันที่ 22 สิงหาคม 2558 ที่อยู่ระหว่างการรอให้สภาปฏิรูปแห่งชาติลงมติรับรองนั้น มีสาระสำคัญอยู่มาตราหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการสร้างกลไกความร่วมมือด้านการประกันสังคมระหว่างประเทศ นั่นคือ มาตราที่ 183 ที่ได้กล่าวถึงเงื่อนไขที่เปิดช่องให้รัฐไทยสามารถทำสัญญาข้อตกลงกับนานาประเทศหรือกับองค์การระหว่างประเทศไว้อย่างชัดเจน โดยต้องผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาและเปิดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนด้วยเนื่องจากเป็นกรณีที่กระทบต่อสังคมอย่างกว้างขวาง ซึ่งการจัดทำข้อตกลงระหว่างประเทศด้านการประกันสังคมนั้น ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงเป็นช่องโอกาสที่เหมาะสมของสำนักงานประกันสังคมเพราะจะมีแนวทางในการดำเนินการทำ SSA ได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ดังนั้นการเตรียมการทั้งในส่วนของบุคลากรและเครือข่ายความร่วมมือระหว่างประเทศด้านการประกันสังคมจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องเร่งเตรียมดำเนินการโดยด่วน เพื่อให้เกิดระบบความคุ้มครองทางสังคมให้กับคนไทยที่ไปทำงานในต่างประเทศและแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยอย่างเป็นธรรมและมีประสิทธิภาพ นี่คือความท้าทายของผู้บริหารองค์กรนี้ที่จะต้องกล้าตัดสินใจว่าจะก้าวเดินจากแดนสนธยาออกมาช่วยพี่น้องแรงงานได้รวดเร็วเพียงใด
ข้อมูลงานวิจัยของ ทรงพันธ์ ตันตระกูล[4] พบว่า การพัฒนาระบบประกันสังคมสำหรับแรงงานข้ามชาติของประเทศไทย ควรดำเนินการสร้างความร่วมมือในรูปแบบระหว่างประเทศในด้านประกันสังคมด้วย เพื่อให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมการทำงานที่เปลี่ยนไป เพราะในปัจจุบันระบบการประกันสังคมที่ใช้ดูแลแรงงานที่มีการเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศนั้น จะดำเนินการผ่านข้อตกลงระหว่างประเทศด้านประกันสังคม ในสามรูปแบบ ซึ่งสามารถนำมาผสมผสานกันวิธีการกันได้ อันได้แก่ 1) การนับรวมเงื่อนไขการประกันสังคม (Totalization) เพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ประกันตนควรทำข้อตกลงแบบการนับรวมเงื่อนไขประกันสังคม เพราะทำให้เกิดความต่อเนื่องในการได้รับการคุ้มครองสูงสุด อย่างไรก็ตาม การนับรวมเงื่อนไขดังกล่าวจำเป็นต้องอาศัยการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดของสำนักงานประกันสังคมทั้งสองประเทศ และการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารแรงงานของรัฐ ซึ่งอาจก่อให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างประเทศ และที่สำคัญประกันสังคมไทยนั้น ต่างไปจากการส่งออกสิทธิประโยชน์ คือเป็นเพียงการกำหนดวิธีการดำเนินการให้แรงงานได้สิทธิประโยชน์ตามจริงเท่านั้น ขอบข่ายการดำเนินการจึงอยู่ในชั้นการปกครอง 2) การส่งออกสิทธิประโยชน์ (Export Benefit) กรณีที่ประกันสังคมอยู่ในระหว่างที่ดำเนินการเพื่อให้เกิดความร่วมมือในรูปแบบการนับรวมเงื่อนไขการประกันสังคม (Totalization) จึงควรดำเนินการให้มีการส่งออกสิทธิประโยชน์ที่ผู้ประกันตนไทยพึงได้รับจากกองทุนประกันสังคมของต่างประเทศ แน่นอนว่าประเทศที่มีระบบประกันสังคมที่ดี และมีประสบการณ์ในการทำข้อตกลงระหว่างประเทศด้านประกันสังคมมาแล้ว ย่อมทำให้การเจรจาประสานงานเป็นไปได้โดยง่าย เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ แคนาดา ญี่ปุ่น 3) การยกเว้นกฎหมายประกันสังคมบางประการ (Detachment) ในบางประเทศที่ยังไม่อยู่ในวิสัยจะทำข้อตกลงด้านประกันสังคมได้ เช่น ระบบประกันสังคมของประเทศเหล่านั้นแตกต่างจากประเทศไทยมากเกินไป หรือระบบประกันสังคมในประเทศเหล่านั้นยังมีข้อจำกัดในการทำข้อตกลง หรือโครงสร้างพื้นฐานของรัฐนั้น หรือการปราศจากความสัมพันธ์ทางการทูต เป็นต้น ในกรณีเหล่านี้ หากมีแรงงานไทยไปทำงานในประเทศเหล่านั้น จึงควรให้มีการทำข้อตกลงยกเว้นกฎหมายประกันสังคมในสิทธิประโยชน์ระยะยาว เช่น กรณีชราภาพ กับประเทศเหล่านั้นไว้เสียก่อน เพราะมีแนวโน้มที่แรงงานไทยจะเสียเปรียบในการติดตามสิทธิประโยชน์ต่างๆ
เมื่อมีการพัฒนาระบบรูปแบบการนำเข้าแรงงานข้ามชาติที่เอื้อต่อการเข้าถึงหลักประกันทางสังคมแล้ว ในขณะเดียวกันก็จำเป็นต้องพัฒนาระบบประกันสังคมให้สอดคล้องร่วมด้วย โดยเฉพาะการพัฒนารูปแบบการจ่ายเงินสมทบและการจ่ายสิทธิประโยชน์ที่เหมาะสมให้แก่แรงงานข้ามชาติที่มาทำงานในประเทศไทย อาจทำได้โดยกระบวนการดังต่อไปนี้
สำหรับแรงงานข้ามชาติที่มาทำงานในประเทศไทย หากประเทศต้นทางสามารถทำข้อตกลงนับรวมเงื่อนไขประกันสังคมกับประเทศไทยได้ย่อมเป็นวิธีการแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุด แต่หากยังไม่สามารถทำได้ ประเทศไทยก็ควรดำเนินการให้เกิดการส่งออกสิทธิประโยชน์ที่มีประสิทธิภาพ โดยอาจทำเป็นข้อตกลงระหว่างประเทศด้านประกันสังคม เพื่อกำหนดสิทธิหน้าที่ แต่หากว่าประเทศต้นทางยังมีลักษณะที่ไม่เอื้อต่อการทำข้อตกลงระหว่างประเทศด้านประกันสังคม เช่น โครงสร้างพื้นฐานของรัฐยังไม่รองรับการทำข้อตกลงด้านระบบประกันสังคม หรือไม่มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ประกันสังคมไทยอาจทำข้อตกลงเพื่อยกเว้นไม่ให้แรงงานสัญชาติของประเทศนั้นๆ ผูกพันอยู่ในบังคับของระบบประกันสังคมก็ได้ เพื่อประโยชน์ของแรงงานข้ามชาติและการบริหารจัดการด้านประกันสังคมของไทย
ทั้งนี้ไม่ใช่การกีดกันการเข้าสู่ระบบประกันสังคม เพราะการประกันสังคมจะเกิดผลดีก็ต่อเมื่อมีการสะสมเงินสมทบอย่างต่อเนื่องและยาวนานและเกิดผลประโยชน์ในอนาคต ดังนั้น หากความสัมพันธ์ระหว่างแรงงานในประเทศไทยและประเทศต้นทางยังคลุมเครือไม่ชัดเจน ย่อมไม่ค่อยเป็นธรรมหากมีการบังคับให้คนเหล่านั้นต้องจ่ายเงินสมทบเข้าระบบประกันสังคมไทย อย่างไรก็ตามการให้บริการพื้นฐานระหว่างที่แรงงานเหล่านั้นอยู่ในประเทศไทยก็เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องปฏิบัติโดยคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน
โดยสรุปในกรณีแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย ควรได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมตามมาตรฐานที่นานาชาติปฏิบัติกันในปัจจุบัน คือ ไม่มีการแยกการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติออกจากแรงงานสัญชาติไทย และการให้ความคุ้มครองทางสังคมด้วยมาตรฐานเดียวกัน บนพื้นฐานความคิดนี้ แรงงานข้ามชาติที่เป็นสมาชิกกองทุนประกันสังคมสมควรได้รับการคุ้มครองแบบเดียวกับแรงงานไทยทุกประการ ทั้งด้านการจ่ายเงินสมทบและการจ่ายสิทธิประโยชน์
อย่างไรก็ตามมีประเด็นที่ต้องพิจารณาเป็นพิเศษ ในเรื่องสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพของแรงงานข้ามชาติที่ควรได้รับการรับรองความต่อเนื่องของการสะสมเงินสมทบกรณีชราภาพระหว่างประเทศต้นทางกับประเทศไทย หรือมิเช่นนั้นก็ให้มีการส่งออกสิทธิประโยชน์ให้ถึงผู้ประกันตนตามสิทธิตามธรรมดาที่พึงได้รับ เว้นแต่มีเหตุจำเป็นตามผลประโยชน์ของผู้ประกันตนที่เป็นแรงงานข้ามชาติเอง เช่น เป็นการพ้นวิสัยที่จะนับรวมเงื่อนไขการประกันสังคม (Totalization) หรือพ้นวิสัยที่จะส่งออกสิทธิประโยชน์แก่ผู้ประกันตน จึงจะมีการยกเว้นการเก็บเงินสมทบและการจ่ายสิทธิประโยชน์บางประการ (Detachment) แก่ผู้ประกันตนที่เป็นแรงงานข้ามชาติ
ส่วนประเด็นการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติในมาตรฐานเดียวกับแรงงานไทยนั้น มีความเห็นไม่ลงรอยกันอย่างกว้างขวาง ซึ่งในประเด็นนี้เห็นว่าตามแนวปฏิบัติของนานาชาติและกฎหมายภายในของประเทศไทย ไม่ได้แยกสัญชาติในการให้การคุ้มครองทางสังคมแก่แรงงานแต่อย่างใด อีกทั้งแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยก็มิได้มารับประโยชน์เพียงฝ่ายเดียว แต่มีการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุน มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจและมีการเสียภาษีให้กับประเทศไทยเฉกเช่นแรงงานไทย จึงไม่มีเหตุที่สมควรให้เกิดการเลือกปฏิบัติด้านประกันสังคมกับแรงงานข้ามชาติ รวมทั้งการให้ความคุ้มครองแรงงานข้ามชาติกรณีที่ได้รับอันตรายอันเนื่องมาจากการทำงาน ซึ่งอยู่ในความดูแลของกองทุนเงินทดแทนก็ควรให้ความคุ้มครองแรงงานข้ามชาติเช่นเดียวกับแรงงานไทยด้วย
ดังนั้น แนวทางในการปฏิรูประบบประกันสังคมสำหรับแรงงานข้ามชาติในระยะกลางที่รัฐไทยควรดำเนินการ คือ
ควรดำเนินการพัฒนามาตรฐานระบบความคุ้มครองทางสังคมและการจัดทำ SSA กับประเทศเพื่อนบ้านกลุ่ม CLMTV (กัมพูชา ลาว พม่า ไทยและเวียดนาม)
พัฒนาระบบกลางสำหรับการบริหารจัดการเคลื่อนย้ายแรงงานระหว่างประเทศในกลุ่ม CLMTV และ ASEAN
การจัดทำ SSA กับประเทศที่มีแรงงานไทยไปทำงานเป็นจำนวนมาก เพื่อให้ดูแลแรงงานไทยให้ได้รับความคุ้มครองทางสังคมจากระบบประกันสังคมระหว่างสองประเทศ อย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม
ส่วนแนวทางในการปฏิรูประบบประกันสังคมสำหรับแรงงานข้ามชาติในระยะยาวที่รัฐไทยควรดำเนินการ คือ การจัดทำ SSA กับประเทศที่มีแรงงานไทยไปทำงานที่นอกเหนือจากกลุ่มระยะกลาง ซึ่งต้องเป็นประเทศที่มีการเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามชาติระหว่างกันอยู่แล้วหรือมีความต้องการส่งออกสิทธิประโยชน์ระหว่างสองประเทศด้วย เพื่อให้ดูแลแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติให้ได้รับความคุ้มครองทางสังคมจากระบบประกันสังคมอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม
บทสรุป
จากที่ได้กล่าวมาตั้งแต่สถานการณ์ปัญหาของนายจ้างกับการจ้างงานแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย มีความเกี่ยวโยงกันอย่างซับซ้อนระหว่างแรงงานข้ามชาติ กับ นายจ้าง นายจ้างรับจ้าง และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องมากมาย ก็ยังมีประเด็นปัญหาต่อเนื่องที่สำคัญในเรื่องแรงงานข้ามชาติคือการเข้าไม่ถึงหลักประกันทางสังคมของประเทศไทย อันได้แก่ 1) ปัญหาจากข้อจำกัดในระดับนโยบาย 2) ปัญหาจากระบบการเข้าถึงสิทธิ 3) ปัญหาจากข้อจำกัดจากสิทธิประโยชน์ตามมาตรา 33 ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม 4) ปัญหาจากนายจ้าง และ 5) ปัญหาจากตัวแรงงานข้ามชาติ จึงต้องมีการปฏิรูประบบประกันสังคมสำหรับแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยรัฐบาลไทยจะต้องไปพัฒนาระบบการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติให้ง่ายต่อการเข้าถึงและการใช้บริการ การปรับปรุงยกร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้อง การจัดตั้งหน่วยงานกลางเพื่อทำหน้าที่ในการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ การพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติทั้งในด้านของความรู้และการให้บริการ และในท้ายที่สุดการพัฒนาระบบประกันสังคมสำหรับแรงงานข้ามชาติที่สอดคล้องกับรูปแบบการนำเข้าแรงงานข้ามชาตินั้น จะต้องสร้างข้อตกลงความร่วมมือระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนย้ายแรงงาน ในสามรูปแบบโดยสามารถเลือกมาใช้แบบผสมผสานได้ อันได้แก่ 1) การนับรวมเงื่อนไขการประกันสังคม (Totalization) 2) การส่งออกสิทธิประโยชน์ (Export Benefit) และ 3) การยกเว้นกฎหมายประกันสังคมบางประการ (Detachment) เพื่อให้เกิดรูปแบบการนำเข้าแรงงานข้ามชาติสามสัญชาติต่อการเข้าถึงหลักประกันสังคมของประเทศไทยที่เหมาะสม เป็นไปตามมาตรฐานสากลและมีความเป็นธรรม ตามหลักสิทธิมนุษยชนและหลักธรรมาภิบาล
ผู้เขียน : ทรงพันธ์ ตันตระกูล อาจารย์ประจำ สาขาวิชาบ้านและชุมชน ภาควิชามนุษยสัมพันธ์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
เอกสารอ้างอิง
กฤตยา อาชวนิจกุล และกุล ภาวจนสาระ. (2552). รายงานการวิจัย เรื่อง การจ้างแรงงานข้ามชาติตาม พรบ. การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 กับการจัดทำบัญชีรายชื่ออาชีพสำหรับคนต่างชาติ (น.41). สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล.
ทรงพันธ์ ตันตระกูลและคณะ. (2555). การพัฒนาระบบประกันสังคมสำหรับแรงงานต่างด้าวและแรงงานไทยที่ไปทำงานต่างประเทศ. เชียงใหม่: สำนักงานประกันสังคม.
คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ. (2558). ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย. [ออนไลน์], 22 สิงหาคม 2558, แหล่งที่มา http://www.parliament.go.th.
สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว กระทรวงแรงงาน. (2558). จำนวนคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงานคงเหลือทั่วราชอาณาจักร เดือนเมษายน พ.ศ. 2558. [ออนไลน์], 1 พฤษภาคม 2558, แหล่งที่มา http://wp.doe.go.th/wp/images/statistic/sm/58/sm0458.pdf.
[1] เป็นสถานที่แปรรูปสัตว์น้ำเบื้องต้น
[2] สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว กระทรวงแรงงาน. (2558). จำนวนคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงานคงเหลือทั่วราชอาณาจักรเดือนเมษายน พ.ศ. 2558. [ออนไลน์], 1 พฤษภาคม 2558, แหล่งที่มา http://wp.doe.go.th/wp/images/statistic/sm/58/sm0458.pdf.
[3] คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ. (2558). ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย. [ออนไลน์], 22 สิงหาคม 2558, แหล่งที่มา http://www.parliament.go.th/ewtcommittee/ewt/draftconstitution/download/article/article_20150824155735.pdf
[4] ทรงพันธ์ ตันตระกูล และคณะ. (2555). การพัฒนาระบบประกันสังคมสำหรับแรงงานต่างด้าวและแรงงานไทยที่ไปทำงานต่างประเทศ. เชียงใหม่: สำนักงานประกันสังคม.
- 53 views