ราชวิทยาลัยแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว เผย ปัญหาแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวขาดแคลน ชี้ทั้งประเทศมี 6,765 คน แต่ทำงานบริการปฐมภูมิเพียง 700 คน ส่วนใหญ่เลือกเป็นแพทย์เฉพาะทาง เหตุทำงานใน รพ. มีความก้าวหน้าและค่าตอบแทนดีกว่า ระบุภาครัฐควรสนับสนุน เพิ่มแรงจูงใจ มุ่งสร้างระบบรักษาพยาบาลของประเทศที่เข้มแข็ง พร้อมเสนอจัดโครงการฟื้นฟูความรู้แพทย์ที่ได้รับใบอนุมัติบัตรเวชศาสตร์ครอบครัว ดึงกลับทำงานในระบบเพิ่ม
แม้ว่าการเดินหน้านโยบาย “หมอครอบครัว” ที่ผ่านมาจะช่วยสร้างกระแสและกระตุ้นให้หลายฝ่ายเห็นความสำคัญของ “แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว” แต่เป็นเรื่องยากที่จะทำให้จำนวนแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวเพียงพอต่อการดูแลประชากรทั้งประเทศได้ ซ้ำยังมีแนวโน้มขาดแคลนเพิ่มขึ้น ทั้งจากจำนวนผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่พบมากขึ้น รวมไปถึงการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทยที่ต้องการการดูแลจากแพทย์สาขานี้
นพ.สิทธิสัตย์ เจียมวงศ์แพทย์ รองประธานราชวิทยาลัยแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว กล่าวว่า แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวไม่เพียงแต่เป็นผู้ที่มีบทบาทอย่างมากต่อระบบบริการปฐมภูมิ ทำหน้าที่ติดตามดูแลสุขภาพประชาชนตั้งแต่เกิดจนเสียชีวิตเท่านั้น แต่ยังมีความสำคัญต่อระบบสุขภาพในภาพรวมของประเทศ เนื่องจากเป็นผู้ทำหน้าที่วินิจฉัยโรคเบื้องต้นและคัดกรองผู้ป่วยเพื่อส่งต่อรับการรักษากับแพทย์เฉพาะทาง ทั้งในโรงพยาบาลระดับทุติยภูมิและตติยภูมิ ไม่เพียงช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาลลงได้ แต่ทำให้ผู้ป่วยจำเป็นต้องรับการรักษาเฉพาะทางเข้าถึงการรักษาพยาบาลเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยให้ประชาชนที่เจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ ไม่ต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปพบแพทย์ยังโรงพยาบาล ขณะเดียวกันยังเป็นการช่วยประหยัดงบประมาณประเทศ เพราะการบริการในโรงพยาบาลขนาดใหญ่จะมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าโรงพยาบาลขนาดเล็ก ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลชุมชน หรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.)
ทั้งนี้แม้ว่าแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวจะมีบทบาทอย่างมากต่อระบบสุขภาพตามที่กล่าวไว้ข้างต้น แต่กลับเป็นสาขาแพทย์ที่เพิ่งเกิดขึ้นได้ไม่นาน โดยมีการจัดตั้ง “ราชวิทยาลัยแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว” ปี 2545 โดยยกระดับจากวิทยาลัยแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป ต่างจากแพทย์สาขาอื่น ทั้งยังมีแพทย์ที่ให้ความสนใจเข้าอบรมและสอบใบอนุมัติบัตรน้อยมาก เนื่องจากเป็นสาขาแพทย์ที่ต้องลงพื้นที่ทำงานกับชาวบ้านและชุมชนเพื่อติดตามดูแลสุขภาพอย่างต่อเนื่อง ต่างจากแพทย์เฉพาะทางสาขาอื่นที่ทำงานในโรงพยาบาลใหญ่ ขณะเดียวกันยังมีรายได้และค่าตอบแทนไม่จูงใจเท่าที่ควร
อย่างไรก็ตามในช่วงแรกของการจัดตั้ง “ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” หรือ “โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค” ขณะนั้นการประชาสัมพันธ์โครงการได้เน้นนโยบายการรักษาพยาบาลภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ผู้ป่วยต้องผ่านการวินิจฉัยและคัดกรองโดยแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวก่อน ส่งผลให้แพทย์หันมาให้ความสนใจต่อสาขาเวชศาสตร์ครอบครัว โดยได้สมัครเข้าอบรมและสอบใบอนุมัติบัตรตามบทเฉพาะกาลเป็นจำนวนมาก จากปี 2544 มีแพทย์เข้าอบรมและสอบใบอนุมัติบัตรตามบทเฉพาะกาลเพียง 184 คน แต่ในปี 2545 เพิ่มเป็น 1,658 คน และต่อมาในปี 2546 เพิ่มเป็น 2,532 คน ทำให้มีแพทย์ที่สำเร็จการอบรมสาขาแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก
นอกจากนี้ยังมีผู้ที่เข้าอบรมตามหลักสูตรและรับวุฒิบัตรจำนวน 368 ราย ผู้ที่สอบอนุมัติบัตร (หลังบทเฉพาะกาล) ตั้งแต่ปี 2548-2558 อีกจำนวน 165 ราย
“ในช่วงเริ่มโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค มีแพทย์เข้าอบมรมตามบทเฉพาะกาลและสอบอนุมัติบัตรในสาขาเวชศาสตร์ครอบครัวถึง 6,130 คน แต่น่าเสียดายเพราะในจำนวนนี้ ส่วนใหญ่กลับไปทำงานในสาขาพื้นฐานที่เรียนมาและเก็บหนังสืออนุมัติเวชศาสตร์ครอบครัวไว้เฉยๆ ไม่ได้ทำอะไร ซึ่งคาดว่ามีเพียงไม่ถึง 10% ที่เลือกทำงานเป็นแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว นับว่าน้อยมาก ดังนั้นจึงคิดว่าน่าจะมีการจัดโครงการฟื้นฟูความรู้เวชศาสตร์ครอบครัวให้กับผู้ที่ได้รับใบอนุมัติบัตรสาขาเวชศาสตร์ครอบครัวไปแล้ว เป็นการกระตุ้นให้หันกลับมาทำงานด้านนี้ เชื่อว่าน่าที่จะดึงกลับมาได้ประมาณ 20-30% เพราะขณะนี้แพทย์สาขานี้มีจำนวนน้อยมาก และที่ผ่านมาได้เคยนำเสนอแนวคิดนี้ต่อ สธ.และ สปสช.แล้ว” รองประธานราชวิทยาลัยแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว กล่าว
นพ.สิทธิสัตย์ กล่าวต่อว่า จากที่มีแพทย์ที่เข้าอบรมแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวน้อยมาก ดังนั้นในปี 2555-2558 กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และราชวิทยาลัยแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว จึงได้ร่วมมือจัดโครงการอบรมเพิ่มเติม เปิดอบรมอีกจำนวน 1,000 คน แบ่งการอบรมเป้าหมายปีละ 200 คน แต่ปรากฎว่าก็ยังมีแพทย์เข้าอบมรมน้อยมาก รวม 5 ปีมีผู้เข้ารับการอบรมเพียง 66 คนเท่านั้น และแม้ว่าในปี 2558 สธ.และราชวิทยาลัยแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวจะมีการจัดอบรมแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวเพิ่มเติมอีก แต่ก็มีผู้เข้าอบรมเพียงแค่ 36 คนเท่านั้น ทั้งนี้ปัจจุบันประเทศไทยมีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวรวมทั้งสิ้น 6,765 คน โดยมีผู้ที่ทำงานเวชศาสตร์ครอบครัวประมาณ 700 คนเท่านั้น
“การที่มีแพทย์เข้าอบรมและทำงานเวชศาสตรครอบครัวน้อยมาก คงเป็นเพราะส่วนใหญ่ยังไม่เห็นความสำคัญของแพทย์สาขานี้ และเลือกที่จะเรียนต่อเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ผิวหนัง จักษุแพทย์ ศัลยแพทย์ เป็นต้น ซึ่งมีโอกาสทำงานและก้าวหน้าในโรงพยาบาลได้ อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาราชวิทยาลัยฯ พยายามชักจูงโดยให้ผู้ที่เข้าอบรมได้นับปีที่ฝึกทักษะเป็นปีที่ 1 จึงทำให้ใช้เวลาเรียนสาขานี้เพียงแค่ 3 ปี ระยะเวลาเรียนน้อยกว่าในสาขาอื่น ขณะที่ในส่วนการสร้างแรงจูงใจความก้าวหน้าและค่าตอบแทน คงต้องขึ้นอยู่กับกระทรวงสาธารณสุขในการผลักดันเรื่องนี้ รวมถึงการให้ความสำคัญของรัฐบาลในการสนับสนุนระบบบริการปฐมภูมิของประเทศให้มีประสิทธิภาพ” รองประธานราชวิทยาลัยแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว กล่าว
ส่วนจำนวนของแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวที่เพียงพอต่อการดูแลประชากรทั้งประเทศนั้น นพ.สิทธิสัตย์ กล่าวว่า หากจะให้เพียงพอโดยอ้างอิงอัตราแพทย์ต่อประชากรอย่างในประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นต้นแบบการรักษาที่ให้ความสำคัญต่อแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวคงห่างไกล ซึ่งอยู่ที่อัตราแพทย์ต่อประชากร 1:5,000คน โดยในบางพื้นที่อาจอยู่ในจำนวนถึง 1:8,000 คน ซึ่งสำหรับประเทศไทยน่าจะอยู่ที่ประมาณ 1:10,000 คน หรืออาจถึง 1:20,000 คนได้ ซึ่งเป็นเป้าหมายที่วางไว้ แต่เบื้องต้นจากที่มีการดำเนินนโยบายหมอครอบครัวและมีการจัดตั้งทีมหมอครอบครัว 30,000 ทีม ควรให้มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวคอยทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้กับทีมหมอครอบครัวอย่างน้อย 5-10 ทีมต่อแพทย์ 1 คน ซึ่งแม้แต่ตัวเลขนี้ก็ยังเป็นสิ่งที่ยากเพราะด้วยจำนวนแพทย์เวชาศาสตร์ครอบครัวที่ทำงานในพื้นที่นั้นน้อยมาก
นพ.สิทธิสัตย์ ยังได้กล่าวถึงนโยบายทีมหมอครอบครัวของอดีต รมว.สาธารณสุข ที่ผ่านมาว่า เป็นแนวทางที่ดีและมีความชัดเจนต่อการดำเนินนโยบายเวชศาสตร์ครอบครัว ส่งผลให้เกิดการประสานงานและรวมตัวของสหวิชาชีพในการจัดตั้งทีมหมอครอบครัว พร้อมสร้างเครือข่ายการดูแลผู้ป่วยที่รวมไปถึงอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) และท้องถิ่นที่เข้ามาช่วยกันทำงาน นับเป็นทิศทางที่ดีและควรสานต่อเนื่อง โดยเป็นหนึ่งในนโยบายที่ ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุขคนใหม่ ซึ่งได้มอบไว้ช่วงเข้ารับตำแหน่ง ไม่เพียงแต่ทำให้เกิดการบริการระดับปฐมภูมิที่มีประสิทธิภาพ แต่ยังทำให้ประชาชนรู้สึกอุ่นใจ เพราะจะได้มีแพทย์ประจำตัวที่ไว้วางใจได้ คอยให้คำปรึกษาแนะนำการดูแลสุขภาพและรักษาเบื้องต้นตั้งแต่แรกเกิดจนเสียชีวิต ทั้งยังรองรับการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งทุกฝ่ายคงต้องช่วยกันผลักดันให้เพื่อให้ประเทศไทยมีระบบบริการปฐมภูมิที่เข้มแข็ง.
- 95 views