นสพ.มติชน : เผยสมุนไพร 'หมามุ่ย' ช่วยเสริมสมรรถภาพทางเพศ ผลทดลองในสัตว์เพิ่มความถี่ในการผสมพันธุ์ได้ และยังลุ้นใช้รักษาโรคพาร์กินสันได้ แถมเอาไปทำขนมกินเล่นเคลือบคาราเมล สามารถกินได้ง่ายขึ้น
หลังจากกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เตรียมแจกสูตรเครื่องดื่มสมุนไพรเพื่อสุขภาพ โดยเฉพาะเครื่องดื่มชูกำลังทั้งหญิงชาย "น้ำผัวหลง-เมียหลง" เสริมสมรรถภาพทางเพศ กระชับคืนความสาว ความหนุ่ม ภายในงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ วันที่ 2-6 กันยายนนี้ ที่ศูนย์แสดงสินค้า อิมแพค เมืองทองธานี ซึ่ง ได้รับความสนใจและติดตามว่าจะมีการเผยแพร่สูตรสมุนไพรอื่นๆ ด้วยหรือไม่นั้น
เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม ภก.ณัฐดนัย มุสิกวงศ์ เภสัชกรปฏิบัติการ โรงพยาบาล (รพ.) เจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี เปิดเผยว่า ในงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร นอกจากจะนำสมุนไพรต่างๆ มาจัด แสดงและให้ความรู้แก่ประชาชนแล้ว ในงานจะนำเมล็ดหมามุ่ยมาให้ความรู้ในแง่ต่างๆ เพราะนอกจากจะช่วยเสริมสมรรถภาพทางเพศแล้ว ยังมีสรรพคุณอื่นๆ อีก สำหรับในเรื่องเสริมสมรรถภาพทางเพศนั้น พบว่าจากการทดลองในสัตว์ เมล็ดหมามุ่ยช่วยเพิ่มความถี่ในการผสมพันธุ์ได้ ซึ่งขณะนี้ รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร ก็มีการทำเป็นยาบำรุงกำลังท่านชายชื่อ "ยาแฮงคนชาย" ซึ่งมีเมล็ดหมามุ่ยเป็นส่วนผสมหลัก นำมาคั่วให้สุก เพราะหากไม่สุกจะเกิดสารพิษขึ้นได้ จากนั้นนำมาตำให้ละเอียด แล้วผสมกับ "ตำยาน" ที่นำมาตำให้ละเอียดเช่นกัน และนำไปชงดื่มจะช่วยเพิ่มสมรรถภาพของท่านชาย บำรุงกำลัง ทำให้ร่างกายสดชื่น และกระปรี้กระเปร่า แต่ไม่ควรกินมากเกินไป เพราะจะส่งผลให้ใจสั่น และมีผลต่อความดันโลหิตสูง ปริมาณที่แนะนำคือ ไม่ควรเกิน 5 กรัมต่อวัน
ภก.ณัฐดนัย กล่าวอีกว่า ส่วนอีกสรรพคุณ คือ ใช้ในการรักษาโรคพาร์กินสันได้ ที่ผ่านมาประเทศอินเดียมีการวิจัยเรื่องนี้ เนื่องจากโรคพาร์กินสันเกิดจากความเสื่อมของสมองส่วนที่ควบคุมการหลั่งของสารสื่อประสาทโดปามีน ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหว โดยพบว่าสารพิษอนุมูลอิสระมีส่วนในการทำลายเซลล์สมองที่ควบคุมการหลั่งของโดปามีน ผู้ป่วยจึงมักมีอาการมือสั่น และมักเป็นข้างเดียว เดินช้าลง แขนไม่แกว่ง ทรงตัวไม่สม่ำเสมอ เคลื่อนไหวร่างกายลำบาก ในรายผู้สูงอายุอาจทำให้เกิดการหกล้มและนำไปสู่ภาวะกระดูกหักได้ จากการศึกษาพบว่าเมล็ดหมามุ่ยมีสารแอลโดปา (L-Dopa) ซึ่งเป็นสารตั้งต้นของสารโดปามีน ดังนั้นโดยหลักหากเพิ่มสารโดปามีนได้ ก็อาจบรรเทาอาการสั่นของภาวะพาร์กินสันได้ จึงถือว่าเป็นความหวังในการนำมารักษาโรค พาร์กินสัน ส่วนประเทศไทยก็อยู่ระหว่างการวิจัยเรื่องนี้เช่นกัน โดย รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศรร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) กำลังศึกษาความเป็นไปได้ของการรักษาโรคพาร์กินสันด้วยเมล็ดหมามุ่ย คาดว่าไม่เกิน 1 ปี จะทราบผลการทดลองในสัตว์ทดลอง
ภก.ณัฐดนัย กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ รพ. เจ้าพระยาอภัยภูเบศรยังนำเมล็ดหมามุ่ยมาทำในรูปแบบของขนมกินเล่น โดยนำมาแช่น้ำแล้วต้มให้สุก จากนั้นจึงเคลือบคาราเมลเพื่อให้สามารถกินได้ง่ายขึ้น เนื่องจากเมล็ดหมามุ่ยมีลักษณะคล้ายถั่ว เพราะเป็นแป้ง แต่มีความแข็งกว่ามากทำให้กินได้ยาก จึงต้องใช้วิธีดังกล่าวจึงช่วยให้กินได้ง่ายขึ้น ทั้งนี้ เนื่องจากนำมากินเป็นลักษณะของอาหารจึงไม่ได้มีข้อห้ามใดๆ แต่อย่างที่ทราบว่า หากกินมากเกินไปจะทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น ดังนั้น หากมีอาการมึน ปวดหัวก็ไม่ควรกินต่อ
วันเดียวกัน นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า จากกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้รับเรื่องร้องเรียนให้ดำเนินการตรวจสอบยาสมุนไพรที่แอบอ้างใช้เลขทะเบียนตำรับยานำเข้าของผู้อื่น โดยฉลากยาระบุสถานที่จัดจำหน่าย ไอแอนน์ กรุ๊ป จ.ขอนแก่น อย.จึงได้ประสานความร่วมมือกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ขอนแก่น เพื่อดำเนินการตรวจสอบสถานที่จัดจำหน่าย ผลการตรวจสอบพบว่าสถานที่ดังกล่าวไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยยาแต่อย่างใด นอกจากนี้ ยังพบ "ยาสมุนไพรจีนมังกรทอง 55" หรือ "ยาสมุนไพรจีนหลงถัง 55" ทะเบียนยาเลขที่ K39/57 ซึ่งเป็นเลขทะเบียนยาปลอม ยังไม่มีการขึ้นทะเบียน ผลการตรวจวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์พบว่ามีส่วนผสมของสารสเตียรอยด์ เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค สสจ.ขอนแก่น จึงส่งเรื่องให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีในประเด็นขายผลิตภัณฑ์ที่ใช้ทะเบียนยาปลอม และขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาต
นพ.ไพศาล กล่าวอีกว่า ขอเตือนผู้บริโภคอย่าหลงเชื่อคำโฆษณาและซื้อยาดังกล่าวมากิน เนื่องจากยาสมุนไพรที่ตรวจพบส่วนผสมของ สารสเตียรอยด์ถือว่ามีความผิด เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค ยากลุ่มสเตียรอยด์จัดเป็นยาควบคุมพิเศษ ต้องใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น เป็นยาที่มีผลกระทบต่อระบบต่างๆ ในร่างกายแทบทุกระบบ มีผลข้างเคียงสูง เป็นอันตรายถึงชีวิต หากผู้บริโภคจะเลือกซื้อยาสมุนไพร ขอให้ซื้อยาจากร้านที่มีใบอนุญาตขายยาเท่านั้น อย่าหลงเชื่อซื้อยาจากแหล่งที่ไม่น่าเชื่อถือ เช่น ตลาดนัด แผงลอย รถเร่ขายยา หรือซื้อยาผ่านทางอินเตอร์เน็ต เฟซบุ๊ก เป็นต้น เพราะอาจได้รับยาที่มีการลักลอบใส่สารสเตียรอยด์ และขอให้ผู้บริโภคตรวจสอบข้อมูลรายละเอียดที่ปรากฏบนฉลากผลิตภัณฑ์ให้ครบถ้วน เช่น ชื่อผู้ผลิต/ผู้นำเข้า ชื่อผู้จัดจำหน่าย วันเดือนปีที่ผลิต เลขที่หรือครั้งที่ผลิต ปริมาณยาที่บรรจุ และที่สำคัญต้องมีเลขทะเบียนตำรับยา ซึ่งสามารถตรวจสอบเลขทะเบียนตำรับยาที่ระบุ บนฉลากผลิตภัณฑ์ได้ทางระบบบริการสืบค้นข้อมูลผลิตภัณฑ์ในเว็บไซต์ของ อย. http://www.fda.moph.go.th/ หรือสายด่วน 1556
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 21 สิงหาคม 2558
- 4176 views