นสพ.ประชาชาติธุรกิจ : ธุรกิจ รพ.เอกชนเฟื่อง ทีมแพทย์จังหวัดเชียงรายร่วมทุน 200 ล้าน สร้าง รพ.เชียงรายอินเตอร์ ขนาด 60 เตียง ยึดทำ ต.เวียง อ.เมือง พร้อมเปิดบริการปลายปี' 59 คาดผู้ป่วยจากเมียนมา-สปป.ลาว ข้ามแดนเข้ามารักษาเพิ่มมากขึ้นหลังเปิดเออีซี อิงราคาจากระเบียบ สธ. แบบ DRG เพื่อทำให้ค่ารักษาไม่สูงจนเกินกำลัง
นพ.วัชระ เตชะธีราวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท วัชรศิริเวช จำกัด เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า บริษัทกำลังดำเนินโครงการก่อสร้างโรงพยาบาลแห่งใหม่ชื่อ โรงพยาบาลเชียงรายอินเตอร์ บริเวณชุมชนป่าก่อไทใหญ่ ตำบลเวียง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ติดถนนพหลโยธินสายใน เขตเทศบาลนครเชียงราย บนเนื้อที่รวมประมาณ 16 ไร่ แต่ใช้สำหรับก่อสร้างอาคารโรงพยาบาลประมาณ 1.5 ไร่ โดยมีกำหนดแล้วเสร็จประมาณเดือนตุลาคม 2559 ภายใต้งบประมาณ 200 ล้านบาท
"โรงพยาบาลแห่งใหม่นี้ออกแบบเป็นอาคารทรงยาวสูง 5 ชั้น ขนาด 60 เตียง มีแพทย์ประจำ 5-6 คน รองรับผู้ป่วยนอกได้วันละประมาณ 200 คน ซึ่งถือเป็นโรงพยาบาลขนาดกลางที่เป็นทางเลือกใหม่ให้กับผู้ป่วยที่ประสงค์จะรับการรักษา ในพื้นที่จังหวัดเชียงรายได้อย่างรวดเร็วกว่าในบางช่วงเวลา ซึ่งผู้ป่วยมักไปแออัด กับการรอรับการรักษาจากโรงพยาบาลของรัฐ"
อย่างไรก็ตามในพื้นที่จังหวัดเชียงราย มีโรงพยาบาลเอกชนที่เปิดให้บริการมาก่อนหน้านี้แล้วจำนวน 2 ราย ส่วน โรงพยาบาลของรัฐมีจำนวน 20 กว่าแห่งใน 18 อำเภอ ซึ่งการให้บริการโรงพยาบาลในจังหวัดเชียงรายอยู่ในลักษณะนี้มานานกว่า 10 ปีแล้ว ขณะที่ประชากรและความหลากหลายของประชากรมีมากขึ้น ซึ่งตนเห็นว่าอาจจะไม่เพียงพอ และเป็นที่มาของการจัดตั้งโรงพยาบาลแห่งใหม่นี้ โดยสามารถรองรับผู้ป่วยระดับซีบวกขึ้นไป
นพ.วัชระกล่าวอีกว่า ในอนาคตมีแผนลงทุนสร้างโครงการศูนย์พักฟื้นผู้สูงอายุ บริเวณพื้นที่ด้านหลังรองรับสังคม ผู้สูงอายุที่จะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มชาวต่างชาติที่พำนักในประเทศไทย เช่น ผู้สูงอายุญี่ปุ่น ฯลฯ นอกจากนี้โรงพยาบาลยังจะมีการจัดระบบบริการในราคาที่เหมาะสม โดยอ้างอิงจากระเบียบกระทรวงสาธารณสุข หรือ Diagnosis Related Groups (DRG) ซึ่งจะทำให้ค่ารักษาพยาบาลไม่สูงเกินไป เมื่อเทียบกับภาพลักษณ์ของโรงพยาบาลเอกชนในสายตาของผู้ใช้บริการในช่วงที่ผ่านมา
ขณะเดียวกันยังมีความพร้อมด้าน ห้องผ่าตัด ห้องผู้ป่วยวิกฤต ห้องคลอด ห้องฟอกไต ห้องตรวจผู้ป่วยนอก ห้องตรวจ ผู้ป่วยฉุกเฉิน ห้องรองรับผู้ป่วยใน ห้องกายภาพบำบัด ระบบการตรวจเอ็มอาร์ไอ ซีทีสแกนที่ทันสมัย เป็นต้น หรือกรณีต้องรักษาด้วยแพทย์เฉพาะทาง โรงพยาบาลก็สามารถดำเนินการให้ได้ตามมาตรฐานทางการแพทย์
ทั้งนี้โดยปกติอัตราผู้ป่วยต่อประชากรทั้งหมดอยู่ที่ 1% ต่อวัน ซึ่งกรณีของเชียงรายมีประชากรร่วม 1.2 ล้านคน ก็จะมีผู้ป่วยวันละประมาณ 10,000 คน โดยโรงพยาบาลทั้งรัฐและเอกชนรองรับผู้ป่วยกันเป็นจำนวนมากในแต่ละวัน ขณะที่เอกชนยังเปิดเป็นคลินิกสาขาตามอำเภอชายแดนต่างๆ เพื่อรับผู้ป่วยจากประเทศเพื่อนบ้านด้วย ซึ่งในปัจจุบันอัตราผู้ป่วยที่มาจากประเทศเมียนมา และ สปป.ลาว ที่มีพรมแดนอยู่ติดกับจังหวัดเชียงราย มีสัดส่วน 30% ของผู้ป่วยที่เข้ามารับการรักษาตามชายแดนทั้งหมด ดังนั้นโรงพยาบาลแห่งใหม่นี้ก็สามารถรองรับผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะในอนาคตเมื่อมีการเปิดเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนร่วมกันอย่างเต็มตัว
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า โรงพยาบาลเชียงรายอินเตอร์เกิดขึ้นจากทีมแพทย์ในจังหวัดเชียงราย เช่น นพ.วัชระ เตชะธีราวัฒน์ นพ.พีระ ตรรกพฤฒิพันธ์ เจ้าของคลินิกหมอพีระ บริเวณแยกหมอพีระในอำเภอเมืองเชียงราย และแพทย์หญิงวรนาฎ เตชะธีราวัฒน์ เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีโรงพยาบาลของเอกชนตั้งอยู่แล้ว 2 ราย คือ 1.โรงพยาบาลโอเวอร์บรุ๊ค และ 2.โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ศรีบุรินทร์ โดยทั้ง 2 แห่งต่างมีการขยายสาขาคลินิก หรือโรงพยาบาลผู้ป่วยนอกที่ให้บริการส่งต่อผู้ป่วยหนักเข้ามายังโรงพยาบาลแม่ในอำเภอเมืองด้วย โดยเฉพาะที่ชายแดนไทย-เมียนมา อำเภอแม่สาย และชายแดนไทย-สปป.ลาว อำเภอเชียงแสน
ล่าสุดโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ศรีบุรินทร์ กำลังขยายสาขาไปที่ชายแดนไทย-สปป.ลาว ด้านอำเภอเชียงของ เชื่อมกับถนนอาร์สามเอไทย-สปป.ลาว-จีนตอนใต้ เพื่อก่อสร้างโรงพยาบาลขนาด 6 เตียง ภายในเขตเทศบาลตำบลเวียงเชียงของ ขณะเดียวกันก็มีกระแสข่าวว่า โรงพยาบาลกรุงเทพกำลังจะเข้าไปเปิดกิจการในเขตอำเภอเมืองเชียงรายอีกด้วย
ที่มา : หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 20 - 23 ส.ค. 2558
- 438 views