ภก.พินิต ชินสร้อย รพ.วังน้ำเย็น แนะวิธีส่งเสริมใช้ยาแผนไทย รับ AEC รัฐควรปรับวิธีขึ้นทะเบียน มีหน่วยงานทำวิจัยโดยตรง ระบุเป็นการสร้างคุณภาพและความมั่นใจให้กับยาแผนไทย ต้องเปลี่ยนระบบการขึ้นทะเบียนยาแผนไทยให้มีเอกภาพ รวมทั้งจะต้องมีงานวิจัยรองรับ โดยมีหน่วยงานที่จะทำงานวิจัยในเรื่องดังกล่าว จึงเสนอให้มีการจัดตั้งหน่วยงานยาไทย ที่ทำเรื่องของยาแผนไทยโดยเฉพาะภายใต้การกำกับของ อย. หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความมั่นใจว่ายาแผนไทยมีความปลอดภัย
ทุกวันนี้ยาแผนไทยหรือที่เรียกกันง่ายๆ ว่ายาสมุนไพร หรือยาแผนโบราณได้รับการยอมรับมากขึ้นว่า ให้ผลการรักษาที่มีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับยาแผนปัจจุบันเช่นกัน แต่ในทางส่งเสริมการใช้ยาแผนไทยในโรงพยาบาลต่างๆ ของภาครัฐยังไม่มีมาก และขาดการประชาสัมพันธ์ที่ดี จึงทำให้การใช้ยาแผนไทยจึงอยู่ในวงที่จำกัดเท่านั้น
“ขึ้นชื่อว่ายา ไม่มียาตัวไหนที่จะรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้ครอบจักรวาลและในยาทุกๆ แผนในว่าจะเป็นแผนไทยหรือแผนปัจจุบัน ล้วนแล้วแต่มีข้อดีและข้อเสียด้วยกันทั้งสิ้น” ภก.พินิต ชินสร้อย เภสัชกรชำนาญการ รพ.วังน้ำเย็น อำเภอวังน้ำเย็น จังหวัดสระแก้ว ผู้ที่ศึกษาด้านเภสัชศาสตร์ทั้งยาแผนปัจจุบันและยาแผนไทย กล่าวและระบุว่า การรับรู้และมีความเข้าใจเรื่องการใช้ยาของประชาชนในปัจจุบันมีมากขึ้น เนื่องจากประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารผ่านแหล่งต่างๆ ได้ง่ายขึ้น แต่ในขณะเดียวการเข้าถึงข้อมูลที่ง่ายขึ้นกลับพบว่า มีข้อมูลบางส่วนที่ไม่ถูกต้อง จึงทำให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลเป็นแบบที่ไม่สมบูรณ์และมีการแชร์ต่อข้อมูลที่ผิดๆ ยิ่งทำให้ประชาชนที่รับข้อมูลผิด มีความรู้ความเข้าใจที่ผิดตามไปด้วย
"ดังนั้นประชาชนที่รับข่าวสารข้อมูลจากแหล่งต่างๆ จึงควรดูแหล่งที่มาว่า แหล่งที่มาของข้อมูลนั้นมีความน่าเชื่อถือแค่ไหน"
ภก.พินิต ชินสร้อย
ภก.พินิต กล่าวว่า จากการทำงานด้านเภสัชกรมา พบว่า มากกว่า 40% ของประชากรมีการใช้ยาที่ผิด ซึ่งส่วนมากเป็นผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัด เนื่องจากกลุ่มผู้สูงอายุเหล่านี้มักจะดูโทรทัศน์หรือฟังวิทยุ จึงทำให้ได้รับข้อมูลที่ผิด จากการโฆษณาขายยาที่ไม่ได้มาตรฐานได้ง่าย
เมื่อกล่าวถึงการศึกษาเรื่องการปรุงยาแพทย์แผนไทย ภก.พินิต กล่าวว่า ให้ความสนใจด้านสมุนไพรเภสัชศาสตร์มานานแล้ว เรียกกว่าคลุกคลีมาตั้งแต่เด็กเลยก็ว่าได้ เพราะที่บ้านคุณทวดเป็นหมอแผนโบราณ และคุณยายก็ได้ให้ความสนใจในศาสตร์ดังกล่าวด้วย และตั้งแต่เล็กตนเองก็มีประสบการณ์การใช้ยาสมุนไพรเช่นกัน เพราะสมัยที่เป็นเด็ก เป็นโรคหอบหืด คุณยายมักจะให้พกใบหนุมานประสานกายติดกระเป๋าเสื้อเป็นประจำ เมื่อเกิดอาการหายใจไม่ออกให้นำใบหนุมานประสานกายมาเคี้ยวช่วยบรรเทาอาการได้เช่นกัน นั่นจึงเป็นที่มาที่ทำให้สนใจที่จะศึกษาเรื่องยาสมุนไพรมาโดยตลอด
จากการที่ ภก.พินิต ได้ศึกษาทั้งเรื่องของการปรุงยาทั้งแผนปัจจุบันและแผนไทย ควบคู่กันไปตั้งแต่เรียนเภสัชฯ แล้ว พบว่า ยาแต่ละแผนให้ผลดีแตกต่างกันไป ข้อดีของยาแผนปัจจุบันคือ สะดวก รวดเร็ว ให้ผลเร็ว เหมาะกับการรักษาในภาวะฉุกเฉิน ข้อเสียคือ หากใช้ยาเป็นเวลานานอาจมีผลกระทบต่ออวัยวะภายในร่างกายได้ ส่วนยาแผนไทยแต่ละชนิดจะประกอบด้วยสมุนไพรหลายตัว มีฤทธิ์เสริมกัน ปรับสมดุลในร่างกาย มีโอกาสดื้อยาด้วยมากเมื่อใช้ในระยะเวลาที่นาน เหมาะกับผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่างๆ
ส่วนการปรุงยานั้น ยาแผนปัจจุบันจะมีความยากในเรื่องของการใช้เทคโนโลยีที่มีความยุ่งยากในการใช้เครื่องมือ ส่วนยาแผนไทยการปรุงยาอาจจะต้องใช้ความอดทน และใช้เวลานาน เช่น การต้มยา และมีสมุนไพรหลายชนิดประกอบกันใน 1 ตัวยา
ภก.พินิต กล่าวว่า ในมุมมองส่วนตัวคิดว่า เภสัชกรในปัจจุบัน ควรจะมีความรู้ทั้งเรื่องยาทั้งแผนปัจจุบันและแผนไทยควบคู่กันไป เพื่อจะได้มีคำแนะนำเรื่องการใช้ยาที่ถูกต้องให้กับผู้ป่วยได้ ซึ่งถ้าจะให้ดียิ่งขึ้นควรมีการสนับสนุนให้เกิดการใช้ยาของทั้งสองศาสตร์ควบคู่กันไป ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดีว่าในอนาคตจะมีการปรับหลักสูตรแพทย์ให้มีวิชาแพทย์แผนไทยเป็นวิชาบังคับด้วย นั่นแสดงให้เห็นว่า ภูมิปัญญาของบรรพบุรุษจะคงอยู่ต่อไปได้อีก
ทั้งนี้การใช้ยาแพทย์แผนไทย หรือยาสมุนไพร ส่วนหนึ่งยังไม่เป็นที่ยอมรับของแพทย์แผนปัจจุบันบางท่าน และไม่ได้รับการสนับสนุนให้ใช้ยาแผนไทยเท่าที่ควรนั้น ภก.พินิต มองเรื่องดังกล่าวว่า เภสัชกรคือผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านยา จึงควรมีหน้าที่ที่จะสื่อสารให้แพทย์บางท่านมีความเข้าใจเรื่องยาสมุนไพรมากขึ้น
"และต้องปรับความเข้าใจและทัศนคติของแพทย์แผนปัจจุบันที่มีต่อแพทย์แผนไทย โดยเฉพาะเรื่องของการใช้ยา เพราะเรื่องของความเข้าใจและทัศนคติเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด" ภก.พินิต กล่าว
หากจะกล่าวถึงตลาดยาแผนไทยในอาเซียนแล้ว ภก.พินิต มองว่า ในประเทศเพื่อนบ้านของเราเกือบทุกประเทศล้วนแล้วแต่มีภูมิปัญญาเรื่องยาสมุนไพรทั้งสิ้น อีกทั้งในอนาคตหากมีการเคลื่อนย้ายแรงงานได้เสรี บุคคลเหล่าจะเป็นผู้นำสมุนไพรของเขาเข้าไปในประเทศนั้นๆ มูลค่าของตลาดยาสมุนไพรส่งออกมีมูลค่าหลายพันล้านบาท แต่มักจะไม่ค่อยมีใครให้ความสำคัญการตลาดยาสมุนไพร แต่หากมีการเปิด AEC เมื่อไหร่ตนคาดว่า มาเลเซีย และอินโดนีเซียจะเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวสำหรับประเทศไทย เพราะประเทศเหล่านี้เขาสนับสนุนให้แพทย์ของเขาต้องเรียนพื้นฐานด้านการแพทย์พื้นบ้านของประเทศเขาด้วย
ดังนั้นประเทศไทยจึงจำเป็นต้องมีการปรับตัวให้ทันกับสถานการณ์ปัจจุบัน และพร้อมที่จะก้าวเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียน และสร้างคุณภาพและความมั่นใจให้กับยาแผนไทยคือ จะต้องเปลี่ยนระบบการขึ้นทะเบียนยาแผนไทยให้มีเอกภาพ รวมทั้งจะต้องมีงานวิจัยรองรับ โดยมีหน่วยงานที่จะทำงานวิจัยในเรื่องดังกล่าว จึงเสนอให้มีการจัดตั้งหน่วยงานยาไทย ที่ทำเรื่องของยาแผนไทยโดยเฉพาะภายใต้การกำกับของ อย. หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความมั่นใจว่ายาแผนไทยมีความปลอดภัย
"และเพื่อการส่งเสริมให้มีการใช้ยาแผนไทยมากขึ้น คนไทยต้องปรับทัศนคติของคนไทยเสียใหม่ว่า คนที่ใช้ยาแผนไทยหรือยาสมุนไพร ไม่ใช่คนที่เชย แต่เป็นคนที่รักสุขภาพต่างหาก" ภก.พินิต กล่าวสรุป
- 98 views