นสพ.ประชาชาติธุรกิจ : ธุรกิจยาเอกชน หวั่นประชาชนเข้าถึงยายากขึ้น หลัง อย.ออกมาตรการเข้มงวดซื้อยาแก้ปวด ยาแก้ไอ-แก้แพ้ ป้องกันนำไปผสมเพื่อเสพ ทั้งจำกัดการขาย แจ้งชื่อผู้ซื้อ และจัดทำบัญชีการขยาย ชี้เพิ่มภาระเกินจำเป็น แนะควรยกระดับยาทรามาดอลเป็นยาเสพติดให้โทษ และควบคุมผู้นำเข้าวัตถุดิบผลิตเพื่อป้องกันลักลอบผลิตและขาย
ขอบคุณภาพจากประชาชาติธุรกิจ
องค์กรธุรกิจยาเอกชนทั่วประเทศ ประกอบด้วยสมาคมเภสัชชุมชนแห่งประเทศไทย สมาคมร้านขายยา ชมรมร้านขายยาแห่งประเทศไทย สมาคมไทยอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบัน และเภสัชพาณิชยสมาคม ร่วมแถลงวันที่ 7 สิงหาคม 2558 กรณีประกาศของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข ให้ร้านขายยาทั่วประเทศแสดงบัญชีรายชื่อผู้ซื้อยาเพื่อรายงานต่อ อย. ส่งผลกระทบต่อธุรกิจยาหลายภาคส่วน
เภสัชกรประสิทธิ์ วงศ์นิจศีล อดีตประธานชมรมร้านขายยาแห่งประเทศไทย กล่าวว่าการแก้ปัญหาการด้วยการออกประกาศ อย. กำหนดให้รายงานการขายส่งยา การจำกัดปริมาณการขาย และจัดทำบัญชีการขาย โดยให้ระบุชื่อ-สกุลผู้ซื้อนั้น ทางองค์กรธุรกิจด้านยาเห็นว่าแก้ปัญหาได้ระดับหนึ่งเท่านั้น ขณะเดียวกันก็เป็นการเพิ่มภาระให้กับผู้ซื้อและผู้ขายยา ดังนั้น จึงได้ประชุมเพื่อหาทางออก โดยเสนอแนวทางดังนี้
ขอบคุณภาพจาก voice tv
1.เนื่องจากตัวยาแก้ปวดทรามาดอล (Tramadol) เป็นตัวยาหลัก ที่ผู้นำไปใช้ในทางที่ผิด ทำให้มึนเมา เคลิบเคลิ้ม ในขณะที่ยาน้ำเชื่อมแก้แพ้ แก้ไอ เป็นเพียงส่วนผสมเพื่อช่วยกลบรสขมของยาดังนั้น อย.ควรจัดการปัญหายาทรามาดอล ด้วยการยกระดับให้เป็นยาเสพติดให้โทษ หรือจำกัดช่องทางการจำหน่ายให้อยู่เฉพาะในร้านยาคุณภาพ ที่ผ่านการรับรองจากสภาเภสัชกรรมเท่านั้น และอาจพิจารณาทบทวนมาตรการความเข้มงวดในการควบคุมยาน้ำเชื่อมแก้แพ้ แก้ไอ ให้ประชาชนเข้าถึงได้สะดวกขึ้น ซึ่งสถานการณ์ขณะนี้ไม่มีแนวคิดยกระดับการควบคุมน้ำเชื่อมแก้แพ้ แก้ไอ ให้เป็นยาควบคุมพิเศษ ดังนั้น มาตรการทำบัญชีรายชื่อ จะทำให้ผู้ป่วยที่ต้องการใช้ยา มีข้อยุ่งยากเกินจำเป็นและเสียค่าใช้จ่ายสูงขึ้น เพิ่มภาระเกินความจำเป็น
2.ให้เพิ่มความเข้มงวดในการควบคุมผู้นำเข้าวัตถุดิบ ผู้ผลิตยาทรามาดอล เพื่อป้องกันปัญหาการลักลอบผลิตและจำหน่ายยาจำนวนมากๆ อย่างผิดกฎหมาย แล้วส่งขายรั่วไหลออกนอกระบบ โดยองค์กรธุรกิจด้านยาจะร่วมเฝ้าระวัง และเป็นหูเป็นตาให้ทางราชการอีกทางหนึ่ง
3.การควบคุมพฤติกรรมวัยรุ่นและเยาวชน ต้องอาศัยความร่วมมือจากสถานศึกษา สถาบันครอบครัว ชุมชน ร่วมกันให้ความรู้ความเข้าใจ รวมทั้งสอดส่องพฤติกรรมการนำยาไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม
"ขอแจ้งให้ประชาชนที่มารับบริการในร้านขายยาทราบว่า ตั้งแต่วันที่ 5 สิงหาคม 2558 เป็นต้นไป ขอความร่วมมือประชาชนที่ต้องการจะซื้อยาแก้ปวดทรามาดอล และยาน้ำเชื่อมแก้แพ้ แก้ไอ สูตรเดี่ยวและสูตรผสม ให้ข้อมูลชื่อ นามสกุล กับเภสัชกรหรือพนักงานร้านยาทุกครั้งที่มีการซื้อ เพื่อความสะดวกในการจัดทำบัญชีการขายให้เป็นไปตามกฎหมาย"ภก.ประสิทธิ์ กล่าว และว่า ในฐานะที่เป็นผู้ประกอบการร้านขายยา มีความกังวลเรื่องการจัดทำบันทึกรายชื่อผู้มาซื้อยากลุ่มดังกล่าวว่าจะทำไม่ครบ ซึ่งจะมีผลต่อการต่อใบอนุญาตประกอบการ และกังวลว่าในอนาคตยากลุ่มนี้ ประชาชนจะเข้าถึงได้ยาก
ด้านเภสัชกรวินิต อัศวกิจวิรี ผู้ทรงคุณวุฒิด้านความปลอดภัยและประสิทธิผลของผลิตภัณฑ์และการใช้ผลิตภัณฑ์ด้านสาธารณสุข อย. กล่าวว่า จะนำข้อเสนอต่างๆ มาประกอบการพิจารณาต่อไป ซึ่งตัวแทนผู้ประกอบการได้ขอเวลาทำความเข้าใจกับผู้ซื้อ ว่าจะต้องขอชื่อนามสกุล เฉพาะการซื้อยา 2 กลุ่มเท่านั้น คือทรามาดอลและยาน้ำเชื่อมแก้แพ้ แก้ไอ เพื่อควบคุมป้องกันไม่ให้นำยาไปใช้ในทางที่ผิด และเป็นการสร้างระบบติดตามการใช้ยาด้วย ซึ่งหลังจากออกประกาศไปแล้ว จะมีการประเมินสถานการณ์เป็นระยะทุก 6 เดือน ว่าสามารถควบคุมการซื้อยาให้เหมาะสมได้หรือไม่ และจะสร้างความยืดหยุ่นต่อไปอย่างไร
ที่มา : หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 10 - 12 ส.ค. 2558
- 46 views