เลขาธิการศูนย์มะเร็ง จุฬาฯ ชี้การรักษามะเร็งสิทธิบัตรทองมีทั้งจุดดีและจุดด้อยที่ต้องปรับปรุงแก้ไขเพื่อทำให้ดีขึ้น ระบุข้อดีคือทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษามากขึ้น และได้รับสิทธิประโยชน์ตามข้อกำหนด แต่มะเร็งเมื่ออยู่ในภาวะลุกลาม สปสช.อาจต้องมีทางเลือกให้ผู้ป่วยมากขึ้น แต่ผู้ป่วยก็ต้องยอมรับว่ามะเร็งเป็นโรคที่รักษาแล้วอาจจะไม่หายขาด การที่ใช้ยาไม่มีขีดจำกัด จะควบคุมค่าใช้จ่ายไม่ได้ และการได้รับยาใหม่ก็ไม่ใช่การรับประกันว่าผลจะออกมาดี แนะศึกษาบริบทร่วมจ่ายที่เหมาะสมกับไทย เสนอจัดซื้อยารวมในระดับประเทศ ให้รัฐบาลเป็นผู้ต่อรองขอลดราคายาใหม่ เพื่อให้มีพลังต่อรองมากขึ้น
รศ.นพ.วิโรจน์ ศรีอุฬารพงศ์
รศ.นพ.วิโรจน์ ศรีอุฬารพงศ์ เลขาธิการศูนย์โรคมะเร็งครบวงจร แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายกมะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การรักษาโรคมะเร็งหลังจากมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า มีทั้งส่วนดี และส่วนด้อยที่ต้องปรับปรุงแก้ไขกันต่อไป ส่วนที่หลักประกันสุขภาพทำให้ดีขึ้นคือ ผู้ป่วยสิทธิหลักประกันสุขภาพเข้าถึงการรักษาพยาบาลมากขึ้น ต่างจากเดิมที่อาจจะไม่มีเงินเพียงพอ และได้รับสิทธิประโยชน์ในการรักษาโรคมะเร็งตามข้อกำหนดการรักษา (protocal) ส่วนข้อด้อยนั่นคือการที่ข้อกำหนดการรักษานั้นมีข้อจำกัดทำให้ผู้ป่วยไม่ได้รับยาบางชนิด ที่อยู่นอกบัญชียาหลักแห่งชาติ
รศ.นพ.วิโรจน์ กล่าวว่า สปสช.กำหนดว่าต้องรักษาโรคมะเร็งตามข้อกำหนดเท่านั้น ทั้งที่โรคมะเร็งบางอวัยวะนั้นจะมีทางเลือกอื่นในการรักษาที่ช่วยให้ผู้ป่วยดีขึ้น แต่อาจจะต้องใช้ยารักษาที่เป็นยาใหม่ ราคาแพง อยู่นอกบัญชียาหลักแห่งชาติ แม้ผู้ป่วยจะมีความสามารถในการจ่ายเงินเอง แต่ สปสช. ก็กำหนดว่าไม่ให้เรียกเก็บเงินจากผู้ป่วย ทำให้ผู้ป่วยต้องตัดสินใจว่าจะรักษาโดยใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพ หรือยินยอมสละสิทธิแล้วจ่ายเงินเอง
“อยากให้ สปสช. ปรับข้อกำหนดการรักษาให้สามารถยืดหยุ่นได้ เนื่องจากโรคมะเร็งนั้น การรักษาในส่วนของมะเร็งระยะเริ่มต้นไม่แตกต่างกัน แต่ในส่วนของโรคมะเร็งที่อยู่ในระยะลุมลามนั้น สปสช.อาจจะต้องมีทางเลือกให้ผู้ป่วยมากขึ้น แต่ผู้ป่วยต้องยอมรับว่าโรคมะเร็งนั้นเป็นโรคที่ไม่ใช่รักษาแล้วจะหายขาดเสมอไป การใช้ยาอย่างไม่มีขีดจำกัด จะควบคุมค่าใช้จ่ายไม่ได้ และการได้รับยาใหม่ ยาแพงนอกบัญชียาหลักแห่งชาติ การจ่ายแพงกว่าก็ไม่ได้รับประกันว่าผลรักษาว่าจะออกมาดี”
รศ.นพ.วิโรจน์ กล่าวว่า หาก สปสช.สามารถปลดล๊อคข้อกำหนดและเปิดทางให้ผู้ป่วยที่มีความสามารถในการจ่ายเงิน ได้เข้ามาร่วมจ่าย จะช่วยลดปัญหาเรื่องความไม่เพียงพอของงบประมาณรายหัวลงได้ เช่น ในอดีตนั้นโรงพยาบาลจะมีระบบสงเคราะห์สำหรับผู้ที่ไม่สามารถจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลได้ทั้งหมด ซึ่งการสงเคราะห์ก็เป็นการร่วมจ่ายอีกวิธีหนึ่ง นอกจากจะไม่เป็นปัญหางบประมาณแล้ว ในขณะเดียวกันก็มีเงินจากผู้ป่วยเข้ามาช่วย อย่างไรก็ตามการร่วมจ่ายให้มีประสิทธิภาพนั้นจะต้องจ่ายแบบไหน จ่ายอย่างไร และใครจะต้องร่วมจ่ายต้องมีการศึกษากันอีกครั้ง
“ผมไม่ทราบว่าบริบทในการร่วมจ่ายแบบไหนจะเหมาะสมกับประเทศไทย แต่ในต่างประเทศ เช่น เยอรมนี จะเก็บภาษีจากรายได้ คือ คนที่มีรายได้มาก ก็จะจ่ายมากขึ้น เหมือนเอาเงินคนรวยมาช่วยคนในสังคม หรืออีกวิธีในการลดค่าใช้จ่าย อาจจะจัดการซื้อยาและอุปกรณ์รวมในระดับประเทศ ด้วยการให้รัฐบาลเป็นผู้ต่อรองขอลดราคายาใหม่บางตัวที่มีความจำเป็น และมีประสิทธิภาพในการรักษา แต่ยังติดสิทธิบัตรและมีราคาแพง และอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับผู้ป่วย กับบริษัทผู้ผลิตโดยตรง เพื่อให้มีพลังในการต่อรองมากขึ้น”
รศ.นพ.วิโรจน์ กล่าวว่า ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับ รัฐบาล และ สปสช. ว่าจะเลือกอย่างไร ในส่วนของความเท่าเทียมกันนั้น ตนเชื่อว่าไม่มีอยู่จริง แต่มีความเท่าเทียมกันในระดับหนึ่งเท่านั้น ซึ่งเราต้องยอมรับความจริงตรงนี้ให้ได้ คนไข้ส่วนใหญ่ยอมรับในจุดนี้ได้ ยกเว้นคนไข้บางกลุ่มที่มีเสียงดังผ่านสื่อมวลชนที่ทำให้เกิดกระแสในสังคม และเป็นเรื่องยากที่รัฐบาลจะช่วยประชาชนในการรักษาพยาบาลได้ทั้งหมด การมี สปสช. ช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาโรคมะเร็งมากขึ้น แพทย์ที่รักษาโรคมะเร็งให้การยอมรับ แต่ถ้าถามว่าการรักษาพยาบาลนี้ดีที่สุดแล้วหรือไม่ ก็ต้องตอบว่าไม่ใช่ แต่เราสามารถปรับปรุงเพิ่มให้การรักษาพยาบาลดีขึ้นได้.
- 67 views