นสพ.ไทยโพสต์ : "สสส.-ไทยพีบีเอส-กองทุนพัฒนากีฬาฯ" หนาว "มรว.ปรีดิยาธร" ชงข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรรมนูญมาตรา 204 ต่อไปใช้งบประมาณต้องทำเหมือนหน่วยงานอื่นๆ ที่ต้องผ่านรัฐสภา พร้อมชงแก้ไขโครงการประ ชานิยมพร่ำเพรื่อ "คำนูณ" ลั่นต่อไปปิดประตูองค์กรมีรายได้จากภาษีโดยตรง "ณรงค์" โอดอาจถูกการเมืองแทรก "สกล" วอนขอใช้งบปีแรกพิสูจน์ก่อน "กฤษดา" ฟันธงมีบริษัทเหล้า-บุหรี่ชงให้
มีรายงานว่า ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ได้มีการทำหนังสือถึงนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ในเรื่องข้อเสนอปรับปรุงแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับการคลังและงบประมาณ โดยมีทั้งสิ้น 5 ประเด็น อาทิ มาตรา 199 เพื่อแก้ไขปัญหานโยบายประชานิยม โดยได้เสนอว่า "การดำเนินนโยบายการคลังและงบประมาณของรัฐ ต้องเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล หลักประสิทธิภาพ และความคุ้มค่า หลักการวินัยทางการคลัง และหลักความเป็นธรรมในสังคม
เพื่อป้องกันการดำเนินนโยบายซึ่งมุ่งสร้างความนิยมทางการเมืองที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศและประชาชนในระยะยาว การอนุมัตินโยบาย มาตรการ หรือโครงการใดๆ ให้มีการวิเคราะห์ภาระงบประมาณ และภาระทางการ คลังทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม และให้ระบุประ มาณและแหล่งที่มาของเงินในการสนับสนุนนโยบายดังกล่าว"
ม.ร.ว.ปรีดิยาธรยังเสนอให้ตัดนิยามของเงินแผ่นดินออกทั้งหมด คือตัดมาตรา 200 และแก้ไขใหม่คือ "การจัดเก็บภาษีอากรเพื่อเป็นรายได้แผ่นดินจะต้องเก็บจากฐานภาษีต่างๆ ให้ครบฐาน ทั้งจากฐานรายได้ ฐานการซื้อขาย และจากฐานทรัพย์สิน การกำหนดนโยบายและอัตราภาษีตามวรรคหนึ่งต้องคำนึงถึงหลักการความเป็นกลาง ความเป็นธรรมในสังคม ความทั่วถึง ตลอดจนความยั่งยืนทางการคลังและข้อผูกพันระหว่างประเทศ"
ที่น่าสนใจคือ การเสนอปรับปรุงมาตรา 204 ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อบรรดาองค์กรอิสระ และองค์การมหาชนต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องของการใช้เงินที่เดิมได้รับการจัดสรรตรงต่างๆ จากภาษีเหล้าบุหรี่ หรือภาษีบาปทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่มีงบประมาณจากภาษีบาป 2%, องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ไทยพีบีเอส) ได้งบประมาณจากภาษีบาป 1.5% แต่ไม่เกิน 2,000 ล้านบาทต่อปี และกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติที่ได้ 2% จากภาษีบาปเช่นกัน
โดยข้อเสนอ ม.ร.ว.ปรีดิยาธรนี้ เพื่อแก้ไขปัญหาการใช้จ่ายขององค์กรอิสระและองค์การมหาชนที่มีงบประ มาณแบบอิสระ และไร้การตรวจสอบการใช้จ่ายจากตัวแทนประชาชน โดยต่อไปการใช้จ่าย การก่อหนี้ และภาระผูกพันขององค์กรดังกล่าวต้องกระทำผ่านพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการคลังและการงบประมาณภาครัฐ ซึ่งต้องนำเสนอและผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา
สำหรับมาตรา 204 ที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธรได้เสนอตัดทิ้งทั้งมาตรานั้นระบุว่า "เงินรายได้ของรัฐใดที่กฎหมายกำหนดให้ไม่ต้องนำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน เงินนอกงบประมาณ และเงินอื่นใดที่หน่วยงานของรัฐนั้นมีอยู่ ให้หน่วยงานของรัฐนั้นทำรายงานการรับและการใช้จ่ายเงิน ดังกล่าวเสนอต่อคณะรัฐมนตรีทุกสิ้นปีงบประมาณ และให้คณะรัฐมนตรีราย งานให้สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาทราบ"
ชงแก้ไขมาตรา 204
ส่วนข้อเสนอของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธรที่ได้เสนอเนื้อหามาตรา 204 ใหม่นั้นระบุว่า "การกำหนดให้เงินรายได้ใดไม่ต้องนำส่งเป็นรายได้แผ่นดินจะกระทำได้ก็แต่โดยบทบัญญัติแห่งกฎหมาย และการตรากฎหมายให้หน่วยงานของรัฐไม่ต้องนำเงินรายได้ส่งเป็นรายได้แผ่นดิน ต้องมีขอบเขตและกรอบวงเงินเท่าที่ไม่กระทบต่อการรักษาวินัยการคลังและต้องคำนึงถึงประสิทธิภาพ ความคุ้มค่าของการใช้จ่ายเงินแผ่นดิน และความจำเป็นในการใช้จ่ายเงินของหน่วยงานของรัฐ
การใช้จ่าย การก่อหนี้ และภาระผูกพันที่มีผลต่อเงินรายได้ตามวรรคหนึ่งต้องอยู่ภายใต้หลักความคุ้มค่า ความโปร่งใส และการรักษาวินัยทางการคลังตามหมวดนี้ ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการคลังและการงบประมาณภาครัฐ
เงินรายได้ของหน่วยงานรัฐใดที่กำหนดให้ไม่ต้องนำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน เงินนอกงบประมาณ และเงินอื่นใดที่หน่วยงานของรัฐนั้นมีอยู่ ให้หน่วยงานของรัฐนั้นทำรายงานการรับและการใช้จ่ายเงินดังกล่าว เสนอต่อคณะรัฐมนตรีทุกสิ้นปีงบประมาณ และให้คณะรัฐมนตรีรายงานให้สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาทราบ"
นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษก กมธ.ยกร่างฯ กล่าวว่า กมธ.ยกร่างฯ ได้รับทราบถึงหนังสือดังกล่าวแล้ว โดยหลักการเห็นว่าการใช้งบขององค์กรต่างๆ ต้องกระทำโดยผ่านวิธีการงบประมาณ หรือผ่าน พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำ ปี ส่วนหน่วยงานของรัฐที่กฎหมายไม่ต้องนำส่งเป็นรายได้ของแผ่นดินที่ขณะนี้มี 2-3 องค์กร แม้ไม่สามารถแก้ไขเรื่องการหักภาษีมาให้หน่วยงานโดยตรงได้ แต่ต่อไปการใช้งบประมาณต่างๆ ต้อง กระทำตาม พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย โดยจะบัญญัติเรื่องดังกล่าวไว้ในบท เฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ
"องค์กรใหม่ๆ ในลักษณะดังกล่าวที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ที่ขณะนี้อยู่ในการพิจารณาของ สนช. กมธ.ยกร่างฯ อาจไม่ยอมให้มีการหักภาษีไปให้หน่วยงานนั้นๆ ได้โดยตรงอีกต่อไป รวมทั้งการใช้งบประมาณก็ต้องผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา ซึ่งจะบัญญัติในหลักการของรัฐธรรมนูญหรือบางส่วนก็อยู่ในบทเฉพาะกาลเช่นกัน" นายคำนูณกล่าว
ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกฯ ในฐานะประธาน สสส.กล่าวว่า หาก สสส.ไม่ได้ถูกตัดงบประมาณจากภาษีบาปก็ไม่มีผลกระทบอะไรในการดูแลสุขภาพของพี่น้องชาวไทย ส่วนกรณีที่ กมธ.ยกร่างฯ ต้องการแก้ไขให้การใช้จ่ายงบประมาณต้องผ่านวิธีทางงบประมาณจากรัฐสภา ยอมรับได้หากเป็นการส่งเสริมประสิทธิภาพในการใช้งบประมาณให้ดีขึ้น แต่ขออย่าให้พิจารณาอย่างล่าช้า
แฉมีข้อเสนอยุบไทยพีบีเอส
รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ ประธานกรรมการนโยบายไทยพีบีเอส กล่าวเรื่องนี้ว่า หากพูดแบบเซ็งๆ เราก็ไม่ขัดข้องและพร้อมยอมรับกติกา แต่สิ่งที่อยากตั้งข้อสังเกต หากในอนาคตนักการเมืองเข้ามา ก็ไม่ทราบว่าใครจะมาควบคุมเรื่องงบประมาณ และนำมาซึ่งการแทรกแซงทีวีสาธารณะได้ เนื่องจากนักการเมืองล้วนหวังผลประโยชน์ทั้งสิ้น นอกจากนี้ เรายังกังวลเพราะทราบมาว่ามีการเสนอให้ตัดงบประมาณของไทยพีบีเอสทั้งหมด เพราะต้องการยกเลิกองค์กรแห่งนี้
"ยอมรับว่าแม้เราเป็นโทรทัศน์ไม่ใช่ดีเด่นอะไร แต่อย่างน้อยก็เปิดโอกาสให้คนทุกชนชั้นสามารถเข้าถึงได้ และเป็นเวทีของชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนเข้ามาแสดงความคิดเห็นอย่างแท้จริง ซึ่งหากต่อไปไม่มีพวกเรา อยากถามว่าคนยากจนจะเข้าถึงโทรทัศน์ช่องธุรกิจที่มีอยู่ในเวลานี้ได้หรือไม่ หากไม่มีเงินซื้อโฆษณา" รศ.ดร.ณรงค์กล่าว
ขณะที่นายสกล วรรณพงษ์ ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ในฐานะผู้จัดการกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ กล่าวว่า หากให้กลับไปใช้งบแผ่นดินเท่ากับจะได้งบประมาณเท่าเดิม 50 ล้านบาท ซึ่งเราจะทำได้เพียงนำเงินดังกล่าวไปเป็นเงินรางวัลให้แก่นักกีฬาเท่านั้น ไม่เพียงพอต่อการพัฒนากีฬาเท่าที่ควร สรุปแล้วคือกลับไปเหมือนเดิม ยอมรับว่าตกใจกับข่าวนี้เพราะกองทุนฯ เพิ่งได้รับรายได้จากการเก็บภาษีสุราและบุหรี่ปีแรก และยังไม่ได้ใช้เลยด้วยซ้ำ แต่จะกลับไปเป็นเหมือนเดิมแล้ว
"เข้าใจว่าข้อเสนอของรองนายกฯ ที่เสนอไปยัง กมธ.ยกร่างฯ เพราะเห็นว่ายอดภาษีลดลง เนื่องจากต้องแบ่งไปให้กองทุนต่างๆ แต่อยากให้กระทรวงการคลังเข้าใจและช่วยสนับสนุนการพัฒนาวงการกีฬาบ้านเรา" นายสกลกล่าว
นายสกลกล่าวว่า ส่วนที่มีการมองว่ากองทุนต่างๆ อาจใช้เงินไม่มีประสิทธิภาพและไม่มีการตรวจสอบนั้น อยากชี้แจงว่าในส่วนของกองทุนฯ มีสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) คอยตรวจสอบ ขณะเดียวกันการจะใช้งบประมาณต่างๆ ไปดำเนินการใดๆ จะมีคณะกรรมการกลั่นกรองเสมอ ไม่ยอมให้สมาคมใดหรือใครมานำงบประมาณจากกองทุนฯ ไปใช้ในทางที่ผิด ไม่ยอมให้ใครมาแสวงหาประโยชน์ แบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา ซึ่งกองทุนฯ อยากให้กระทรวงการคลังนำภาษีสุราและบุหรี่จำนวน 2% มาสนับสนุนและพัฒนาวงการกีฬาต่อไป และอยากให้รองนายกฯ รอดูการใช้งบกองทุนฯ ในปีแรกก่อนว่าเป็นอย่างไร มีประสิทธิภาพและคุ้มค่าหรือไม่
"วงการกีฬาไม่เหมือนวงการอื่นๆ วงการกีฬาสร้างความสุขให้แก่คนไทยและคุ้มค่า โดยเฉพาะช่วงนี้กระแสกำลังมาจึงอยากให้ช่วยสนับสนุน" นายสกลกล่าว
ทพ.กฤษฎา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการ สสส.อธิบายว่า ที่ผ่านมา สสส.จะเก็บภาษีจากเหล้า-บุหรี่ หรือภาษีบาป 2% ซึ่งประชาชนเข้าใจผิดเป็นจำนวนมาก คิดว่าเราไปแบ่งภาษีจากที่รัฐบาลเก็บได้ 100% มันไม่ใช่ ในความเป็นจริงรัฐบาลเก็บภาษีได้ 100 บาท ผู้ประกอบธุรกิจเหล้าและบุหรี่ต้องส่งให้ สสส.อีก 2 บาท รวมเป็น 102 บาท เพราะฉะนั้นเงินที่เราเข้ากองทุน สสส.และไทยพีบีเอสไม่ได้ไปแบ่งงบประมาณจากรัฐบาลเลย
"ถ้าหากเขาไปแก้กฎหมายตรงนี้ ก็เท่ากับว่าเงินภาษีตรงส่วนนี้อาจเก็บไม่ได้ เป็นการยกประโยชน์ให้บริษัทเหล้าและบุหรี่เลย กฎหมาย สสส.ให้เก็บเงิน ถ้าวันนี้เขายกเลิก เราก็เก็บไม่ได้ แม้รัฐบาลจะเก็บภาษีได้ตาม พ.ร.บ.ภาษีอากรที่กำหนดเพดานสูงสุดไว้ เช่น กำหนดเก็บไม่เกิน 80% ของราคาขาย ถ้ามี สสส.จะเก็บได้ 82% เป็นคนละส่วน ไม่เกี่ยวข้องกัน" ผู้จัดการ สสส.กล่าวและว่า เราเป็นห่วงมาก เพราะการที่มี พ.ร.บ.ของ สสส. เนื่องจากมีประสบการณ์จากทั่วโลก องค์กรที่ทำการต่อต้านเหล้าบุหรี่จะไปกระทบ ทำให้ธุรกิจดังกล่าวเสียประโยชน์มาก ขณะเดียวกันรายได้กลับสูญเสียไปกับธุรกิจประเภทนี้เป็นอย่างมาก ในต่างประเทศถ้าไม่มี พ.ร.บ.อย่าง สสส. องค์กรที่ต่อต้านจะอยู่ได้ไม่นาน เพราะเป็นธุรกิจสีดำมีความสัมพันธ์ในทางการเมือง ส่งผลให้ถูกแทรกแซงจนทำให้ถูกทำลายไปในหลายประเทศ ซึ่งถ้าเข้าไปสู่กองกลางจะโดนแทรกแซงแน่นอน
ซัดธุรกิจเหล้า-บุหรี่แทรก
เมื่อถามถึงเจตนาในการแก้ไขเรื่องดังกล่าว ผู้จัดการ สสส.เชื่อว่าเป็นอิทธิพลจากภาคธุรกิจบุหรี่ และเหล้าเข้ามาแทรกแซง มันไม่มีเหตุผล ถ้ารัฐบาลแก้ตรงนี้ก็ไม่ได้เงินเพิ่ม เงิน 2% ก็ไม่สามารถนำไปใช้ได้ เหมือนกับโยนภาษีบาปกลับเข้าให้ธุรกิจนี้ ถ้ารัฐบาลจะไปเก็บเงินตรงนี้เพิ่มก็ต้องใช้ พ.ร.บ.ภาษีต่างๆ ที่มีเพดานจำกัดอยู่แล้ว คงไม่ได้ ถือเป็นเรื่องแปลกมากถ้ารัฐบาลจะไปแก้กฎหมายเพื่อให้เกิดประโยชน์กับธุรกิจดังกล่าว
"เชื่อว่าการกระทำครั้งนี้น่าจะถูกอิทธิพลจากผู้ที่สูญเสียประโยชน์ครอบงำ ผมเตรียมแจ้งไปทางคณะกรรมการบอร์ด สสส. หากเกิดขึ้นจริง เพื่อส่งต่อไปให้คณะกรรมการกองทุน สสส.ได้พิจารณา และเตรียมเข้าชี้แจงต่อ กมธ.ยกร่างฯ ต่อไป ขณะที่ผู้เกี่ยวข้องถ้าไม่เห็นด้วยก็คงไปยื่นเรื่องคัดค้านอีกด้วย เชื่อว่า กมธ.ยกร่างฯ คงเข้าใจในรายละเอียด และมีเหตุผลเพียงพอที่จะทราบผลกระทบ" ทพ.กฤษดาระบุ
- 6 views