อธิบดีกรมการแพทย์เตือนสิงห์สุราทำร่างกายทรุดโทรม โรคแทรกซ้อน สมองเสื่อม พร้อมเผยตัวเลขนักดื่มส่วนใหญ่อยู่วัยกลางคน ว่างงาน รับจ้าง สาเหตุสำคัญเกิดจากเพื่อนชวน แนะใช้โอกาสเข้าพรรษาเลิกสุราเพื่อครอบครัวและอนาคตที่ดี
นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า จากสถิติของสถาบันธัญญารักษ์ ปี 2557 พบว่า มีผู้ป่วยเสพติดสุราที่เข้าบำบัดรักษา จำนวน 1,245 ราย เป็นเพศชายร้อยละ 89.15 และเป็นเพศหญิงร้อยละ 10.85 ส่วนใหญ่ มีอายุระหว่าง 30 - 49 ปี คิดเป็นร้อยละ 63.45 ส่วนใหญ่เป็นผู้ว่างงานและอาชีพรับจ้าง คิดเป็นร้อยละ 65.70 สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากเพื่อนชวน จากข้อมูลดังกล่าวเห็นได้ว่าสุราเป็นสิ่งเสพติดประเภทหนึ่งที่เป็นปัญหาสุขภาพ ส่งผลให้เกิดการทำลายสมองและร่างกายของผู้ที่ดื่มในระยะยาว และเกิดโรคแทรกซ้อนมากมาย เช่น โรคตับแข็ง ตับอักเสบ ความดันโลหิตสูง โรคจิตจากการติดสุรา ชักจากการเสพติดสุรา โรคเพ้อคลั่ง โรคเลือดออกในกระเพาะอาหาร กรมการแพทย์โดยสถาบันธัญญารักษ์เป็นหน่วยงานหลักในการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ป่วยยาเสพติด โดยมุ่งให้ผู้เสพยาและสารเสพติด ได้รับการบำบัดรักษา ฟื้นฟูอย่างมีคุณภาพและมาตรฐาน สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่กำหนดให้การแก้ไข และป้องกันปัญหายาเสพติดเป็นวาระแห่งชาติ และสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของกระทรวงสาธารณสุข คือ การลดจำนวนผู้เสพ ผู้ติดยาเสพติด และช่วยให้ผู้ติดยาเหล่านั้น ไม่หวนกลับไปเสพซ้ำ และสามารถเลิกยาเสพติดได้อย่างถาวร รวมทั้งป้องกันไม่ให้เกิดผู้เสพ/ผู้ติดรายใหม่เพิ่มขึ้น
อธิบดีกรมการแพทย์กล่าวเพิ่มเติมว่า การบำบัด รักษาและฟื้นฟูผู้ป่วยที่ติดสุราจำเป็นต้องมีองค์ความรู้เกี่ยวกับเรื่องโรค อาการแสดงในผู้ป่วยที่ขาดสุรา และผู้ป่วยที่ได้รับสุราเกินขนาด รวมทั้งอาการที่พบบ่อยในผู้ป่วยเสพติดสุรา คือ อาการสมองเสื่อม ความคิด ความจำ การตัดสินใจช้ากว่าปกติ ซึ่งอาการเหล่านี้ต้องใช้ระยะเวลาในการดูแลและฟื้นฟูสมรรถภาพค่อนข้างนาน คือ การฟื้นสมรรถนะทางสมองในผู้ป่วยเสพติดสุรา การบำบัดรักษาผู้ป่วยเสพติดสุรา เภสัชวิทยาของสุราและการออกฤทธิ์ของสุราต่อระบบต่างๆ ของร่างกาย รวมถึงการสร้างแรงจูงใจ การฟื้นกระบวนการคิด และการดำเนินกิจกรรมกลุ่มบำบัดสำหรับผู้ป่วยเสพติดสุรา ซึ่งต้องอาศัยองค์ความรู้ ทางทฤษฎี ร่วมกับทักษะและประสบการณ์จากบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ เพื่อให้เกิดความเหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย รวมทั้งต้องมีการนำครอบครัวเข้ามามีส่วนร่วมในการบำบัดผู้ป่วยกลุ่มนี้ให้มีความเข้มแข็ง และสามารถดูแลตนเองได้อย่างต่อเนื่อง
สำหรับวิธีการหลีกเลี่ยงการเสพติดสุรา ได้แก่ การตั้งใจจริงตั้งเป้าว่าจะเลิกสุราเพื่อใคร เพราะเหตุใด ปรับเปลี่ยนนิสัยการดื่ม เช่น เปลี่ยนขนาดของแก้วให้เล็กลง ตั้งเป้าว่าจะลดปริมาณการดื่ม หลีกเลี่ยงความเสี่ยงต่าง ๆ เช่น สถานการณ์ สถานที่ ปัจจัยแวดล้อมที่ทำให้ดื่มสุราได้ง่ายขึ้น ฝึกปฏิเสธให้เด็ดขาด เมื่อมีเวลาว่างให้ทำกิจกรรมอื่นที่สร้างสรรค์แทนการดื่มสุรา เช่น ทำบุญ ออกกำลังกาย อ่านหนังสือ ฟังเพลง รวมทั้งหาที่พึ่งพาทางใจและกำลังใจ จากคนรอบข้าง และปรึกษาสายด่วนยาเสพติด สถาบันธัญญารักษ์ กรมการแพทย์ โทร.1165 ทั้งนี้ ขอแนะนำให้ใช้โอกาสสำคัญทางพุทธศาสนา “วันเข้าพรรษา” เป็นจุดเริ่มต้นในการเลิกสุรา “งดเหล้าเข้าพรรษา” เพื่อสร้างเสริมสุขภาพชีวิตที่ดี คืนคนดีสู่ครอบครัวและสังคม ให้พร้อมกับมาทำงานสร้างรายได้ เป็นกำลังสำคัญของประเทศต่อไป
- 67 views