นสพ.คมชัดลึก : หมอพรพันธุ์ ประธาน กมธ.สธ.สภาปฏิรูป หนุนสภาประกันสุขภาพแห่งชาติ ปัดไม่ใช่การรวมกองทุน แต่ทำสิทธิประโยชน์พื้นฐานให้เท่าเทียมกัน ข้าราชการจะได้รับสวัสดิการที่ดีขึ้น เพราะยังมีบางส่วนที่ได้รับน้อยกว่าบัตรทอง เสนอร่วมจ่ายในบุคคลที่จ่ายได้ พร้อมหนุนเขตสุขภาพ แต่ต้องขยายหน่วยงานทุกสังกัดด้วยไม่ใช่แค่ รพ.สธ. เสนอแยกงบเงินเดือนออกจากงบเหมาจ่ายรายหัว เพื่อนำเงินมาใช้รักษาพยาบาลประชาชน
รศ.พญ.พรพันธุ์ บุญรัตพันธุ์
นสพ.คมชัดลึก : รศ.พญ.พรพันธุ์ บุญรัตพันธุ์ ประธานคณะกรรมาธิการด้านสาธารณสุข สภาปฏิรูปแห่งชาติ (กมธ.สธ.สปช.) กล่าวว่า ประเทศไทยต้องมีหน่วยงานกลางที่ทำหน้าที่ในการรวบรวมและบริหารจัดการเกี่ยวกับคุณภาพมาตรฐานและข้อมูลด้านการรักษาพยาบาลของประเทศ โดยมีคณะกรรมการนโยบายประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือสภาประกันสุขภาพแห่งชาติ ทำหน้าที่เรื่องนโยบายด้านการประกันสุขภาพ รวมถึงปรับปรุงคุณภาพมาตรฐาน การเข้าถึงบริการสุขภาพที่ดีกว่าปัจจุบัน พิจารณาในเรื่องของสิทธิประโยชน์ขั้นพื้นฐานต่างๆ แต่ยังไม่ใช่การรวมการบริหารจัดการ 3 กองทุน ทั้งสิทธิสวัสดิการข้าราชการ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และประกันสังคม
"ในส่วนของผู้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือบัตรทองที่ปัจจุบันมีราว 49 ล้านคนนั้น มีคนจนจริง ผู้สูงอายุ เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี และผู้ที่เข้าข่ายเงื่อนไขที่จะได้รับการยกเว้นไม่ต้องจ่ายค่าประกันสุขภาพเพิ่มราว 20 ล้านคน อีก 30 ล้านคน มีความสามารถที่จะจ่ายเงินทำประกันสุขภาพเอง เพื่อรับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมนอกเหนือจากสิทธิจำเป็นพื้นฐาน ผู้ใช้สิทธิข้าราชการอาจจะต้องร่วมประกันสุขภาพด้วย โดยอาจจะหักเบี้ยประกันจากเงินเดือน หรือให้หน่วยงานต้นสังกัดรับผิดชอบ ข้าราชการจะได้รับสวัสดิการบริการที่ดีขึ้น เพราะบางส่วนข้าราชการได้รับน้อยกว่าบัตรทอง หากมีระบบประกันสุขภาพแห่งชาติแบบนี้ แล้วโรงพยาบาลเอกชนก็ดึงเข้ามาร่วมมากขึ้น การรักษาพยาบาลก็ดีขึ้น ความแออัดในโรงพยาบาลรัฐจะลดลง ประชาชนจะได้รับประโยชน์สูงสุด" พญ.พรพรรณกล่าว
นอกจากนี้ กมธ.สธ.สปช.ยังเสนอในเรื่องของเขตสุขภาพด้วย รวมของทุกหน่วยงานทุกสังกัด เช่น มหาวิทยาลัย หรือกระทรวงกลาโหมอยู่ในเขตสุขภาพ เพื่อเป็นพื้นที่บริการด้านการบริการสาธารณสุขเดียวกัน ดำเนินการบริหารจัดการโดยคณะกรรมการระดับเขตสุขภาพ ซึ่งเป็นรูปแบบที่มีการใช้ในต่างประเทศ ส่วนการบริหารจัดการงบประมาณหลักประกันสุขภาพก็จะจัดสรรไปให้ระดับเขต รวมถึงการดำเนินการเรื่องประกันสุขภาพก็จะดำเนินการในระดับเขตด้วย และมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เข้ามาช่วยเรื่องประกันสุขภาพด้วย จะทำให้มีประสิทธิภาพและโปร่งใส รัฐบาลต้องผลักดันในเรื่องนี้ให้เดินหน้าต่อไป
"สำหรับการบริหารงบบัตรทองสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ต้องพิจารณาว่ามีการใช้เงินงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวอย่างมีประสิทธิภาพและถูกต้องหรือไม่ โดยเสนอว่าควรจะแยกเงินเดือนบุคลากรสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ออกจากงบรายหัว เนื่องจากงบประมาณในส่วนนี้ขอมาเพื่อเป็นค่ารักษาพยาบาลให้ประชาชน ก็ควรนำมาใช้รักษาพยาบาลอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ไม่ควรใช้ไปเป็นค่าเงินเดือน ค่าเสื่อมหรือค่าอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการรักษาและการส่งเสริมป้องกันโรคให้ประชาชน" พญ.พรพรรณกล่าว
ที่มา : นสพ.คมชัดลึก ฉบับวันที่ 28 ก.ค. 2558 (กรอบบ่าย)
- 4 views