นามิเบีย และติมอร์-เลสเต ดูงานระบบหลักประกันสุขภาพไทย ระบุเป็นต้นแบบประเทศที่สร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้ประชาชนได้สำเร็จ โดยใช้งบประมาณไม่มาก ครอบคลุมประชากรทุกกลุ่มวัย มีระบบควบคุมคุณภาพการรักษา การคุ้มครองสิทธิ และบอร์ดที่มีตัวแทนจากหลายภาคส่วน พร้อมนำกฎหมายหลักประกันสุขภาพของไทยเป็นต้นแบบเพื่อทำให้ประชาชนมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
เมื่อวันที่ 23-24 กรกฎาคม 2558 ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) คณะกรรมาธิการประกันสังคมแห่งสาธารณรัฐนามิเบีย และ คณะกรรมาธิการเอฟ รัฐสภาติมอร์-เลสเต ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบการจัดสวัสดิการด้านสุขภาพ การศึกษา วัฒนธรรม ทหารผ่านศึก และความเสมอภาคทางเพศ แก่ชาวติมอร์-เลสเต ได้ศึกษาแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทย โดยมี นพ.วีระวัฒน์ พันธ์ครุฑ รองเลขาธิการ สปสช. และ นพ.ชูชัย ศรชำนิ ผู้ช่วยเลขาธิการ สปสช. พร้อมคณะให้การต้อนรับ ทั้งนี้ ประเด็นที่ทางคณะได้ให้ความสนใจเป็นพิเศษ คือ การพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทย การบริหารจัดการงบประมาณ การลงทะเบียนเพื่อรับสิทธิ แนวทางการกำหนดสิทธิประโยชน์ แหล่งงบประมาณที่นำมาสนับสนุนการจัดระบบหลักประกันสุขภาพ แนวทางการจ่ายเงินชดเชยบริการให้กับโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อนำไปปรับใช้ในการบริหารจัดการสวัสดิการสาธารณะแก่ประชาชน
ดร.ซิตาเลนิ ซี. เฮอร์แมน สมาชิกคณะกรรมาธิการประกันสังคมแห่งสาธารณรัฐนามิเบีย กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นตัวอย่างที่ดีในการบริหารจัดการด้านหลักประกันสุขภาพให้ประชาชน และประสบความสำเร็จในการใช้งบประมาณไม่มากนัก แต่สามารถให้บริการด้านสุขภาพกับประชาชนทั้งประเทศ มีการบริหารจัดการชุดสิทธิประโยชน์ให้กับประชาชนทุกกลุ่มวัย รวมไปถึงผู้ที่ต้องได้รับดูแลเป็นพิเศษ เช่น คนพิการ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง แม้จะมีความแตกต่างของกองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาล 3 กองทุน แต่ก็มีระบบบริหารจัดการที่ทำให้ได้รับการรักษาพยาบาลที่แทบไม่แตกต่างกัน และยังมีการควบคุมคุณภาพด้วยการมีคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐาน ซึ่งคณะศึกษาดูงานจะได้นำแนวทางการดำเนินงานของไทยไปปรับใช้ให้เข้ากับบริบทของประเทศในอนาคต
ด้าน นายเวอร์จิลิว ดา คอสตา ฮอร์ไน ประธานคณะกรรมาธิการเอฟ รัฐสภาติมอร์-เลสเต และเลขาธิการพรรคดีโมเครติค กล่าวว่า การดูงานในครั้งนี้ เพื่อจะได้นำประสบการณ์การดำเนินงานสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทยไปปรับใช้ในการปรับระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลที่รัฐบาลจัดให้กับประชาชน เพื่อให้ประชาชนชาวติมอร์-เลสเต ได้เข้าถึงสวัสดิการรักษาพยาบาลอย่างครอบคลุม เพราะขณะนี้แม้รัฐบาลติมอร์-เลสเต จะจัดระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลให้ประชาชน แต่ก็ยังมีปัญหาการเข้าถึงบริการของประชาชน โดยเฉพาะการรักษาพยาบาลที่มีค่าใช้จ่ายสูง และเข้าถึงบริการของประชาชนในพื้นที่ห่างไกล
นายเวอร์จิลิว ระบุว่า ประเทศไทยนั้นถือว่าเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จในเรื่องการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ด้วยการมี พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ซึ่งรัฐบาลติมอร์-เลสเต มีนโยบายที่จะมีกฎหมายหลักประกันสุขภาพ ซึ่งตนจะได้นำกฎหมายฉบับนี้ไปเป็นต้นแบบเพื่อปรับใช้ในประเทศต่อไป
นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการชุดดังกล่าวยังได้ให้ความสนใจในกระบวนการคัดเลือกคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งมีตัวแทนจากหลายภาคส่วนทั้ง ภาครัฐ ประชาชน เอกชน และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องว่า มีกระบวนการคัดเลือกอย่างไร ให้ได้ตัวแทนจากภาคส่วนต่างๆ และยังได้ให้ความสนใจในกระบวนการการลงทะเบียนประชาชนเพื่อใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพ สิทธิประโยชน์การส่งเสริมป้องกันโรคและระบบการคุ้มครองผู้มีสิทธิ โดยเฉพาะระบบร้องเรียน และสายด่วน สปสช. 1330 อีกด้วย
- 36 views