หลักฐานอีกประการหนึ่งของการไม่มุ่งหาคะแนนนิยมเป็นหลักในระบบบัตรทอง คือเรื่องการให้ยาต้านไวรัสเอดส์แก่คนไข้นับแสนคนทั่วประเทศ แม้ในทางสากล การให้ยาต้านไวรัสเอดส์สูตรค็อกเทล คือ สูตรผสมของยาตั้งแต่สามชนิดขึ้นไป จะเป็น “มาตรฐานการรักษา” แล้ว เพราะมีประสิทธิผลการรักษาสูง สามารถขจัดเชื้อไวรัสจนลงไปต่ำกว่าระดับที่ตรวจพบได้ (undetectable level) แม้ไม่หายขาด แต่ก็ทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้นจนใกล้เคียงกับคนปกติ และโดยที่ผู้ติดเชื้อ/ผู้ป่วยเอดส์ ส่วนมาก เป็นคนวัยฉกรรจ์ เป็นกำลังหลักของครอบครัว ทีมวิชาการได้ทำการศึกษาถึงความคุ้มค่าของการลงทุนให้ยาต้านไวรัสแก่ผู้ป่วยกลุ่มนี้มาแล้ว พบว่าหากสามารถลดราคายาลงได้ถึงขีดหนึ่งก็จะถึงจุด “คุ้มทุน” เมื่อเทียบกับ “ปีสุขภาพชีวิต” ของคนไข้ และค่ารักษา “โรคติดเชื้อฉวยโอกาส” ที่เมื่อปล่อยให้เป็นเอดส์เต็มขั้น รัฐก็จะต้องให้การรักษา และเป็นภาระของโรงพยาบาลอย่างมาก จนมีคนไข้ล้นโรงพยาบาล
ตอนเริ่มต้นระบบบัตรทองในปี 2544 ยาเอดส์โดยเฉพาะสูตรค็อกเทลยังมีราคาแพงมาก ระบบบัตรทองก็รอจนองค์การเภสัชกรรมสามารถผลิตยาสามัญสูตรผสมดังกล่าว คือ จีพีโอเวียร์ (GPOvir) ออกมาได้ ในราคาถูกกว่ายาชื่อทางการค้าถึง 25 เท่า ระบบบัตรทองจึงเริ่มให้สูตรยาดังกล่าวอยู่ใน “ชุดสิทธิประโยชน์” โดยเริ่มตั้งแต่ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2546
ทีมงานขณะนั้น มิได้มุ่งแต่แบมือของบประมาณเท่านั้น นอกจากหาทางประหยัดสุดๆ และศึกษาอย่างรอบคอบ จนเห็นว่าควรลงทุนเรื่องนี้ เพราะองค์การเภสัชกรรมโดย ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์ และทีมงาน สามารถผลิตยาราคาถูกลงมากแล้ว ทีมงานยังพยายามหา “แหล่งเงิน” มาสนับสนุนด้วย
ขณะนั้นโครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ (Joint United Nations Collaboration Program for HIV/AIDS) และองค์การอนามัยโลก ได้ระดมเงินทุน ได้ก้อนโตมาตั้งเป็น “กองทุนโลกเพื่อเอดส์ วัณโรค และมาลาเรีย” (Global Fund for HIV/AIDS, TB, And Malaria) ทีมงานโดย นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ และ ดร.ชื่นฤทัย กาญจนจิตรา ได้ประสานงานทำโครงการขอทุนสนับสนุนจากกองทุนโลกฯ จนได้มาปีแรก 123 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงินไทยประมาณ 3,800 ล้านบาท ค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยเอดส์ช่วง 3 ปีแรก เป็นเงินจากกองทุนโลกทั้งสิ้น รัฐบาลไทยไม่ต้องควักกระเป๋าเลย
รัฐบาลไทยเพิ่งตั้งงบประมาณเป็น “ค่าบริการสุขภาพผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์” ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2549 เป็นเงิน 2,796.20 ล้านบาท
ช่วง 5-6 ปีแรก การบริหารงบประมาณ “ค่าบริการสุขภาพผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์” ซึ่งครอบคลุมทั้งการรักษาพยาบาล การตรวจคัดกรอง การตรวจระดับเม็ดเลือดขาว ซีดี 4 การตรวจวัดระดับปริมาณเชื้อ การตรวจเชื้อดื้อยา และการรณรงค์ป้องกันโรค บริหารโดยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เพราะทำงานเรื่องนี้มานาน มีโครงสร้างและบุคลากรมากมาย อยู่ทั้งในกรมและกระจายอยู่ระดับเขตทั้ง 12 เขต รวมแล้วหลายร้อยคน การให้ยาผู้ติดเชื้อ/ผู้ป่วยเอดส์นั้น หัวใจสำคัญคือคนไข้ต้องกินยาอย่างสม่ำเสมอ อย่างถูกต้อง และต่อเนื่องจึงจะได้ผลดี และไม่เกิดภาวะเชื้อดื้อยาซึ่งทำให้ต้องใช้ยารักษาสูตรใหม่ที่มีราคาแพงลิบลิ่ว เป็นภาระแก่งบประมาณ และเสี่ยงต่อการป่วยเป็นเอดส์เต็มขั้น จนต้องเสียค่ารักษาก้อนโต เป็นภาระแก่โรงพยาบาล และในที่สุดก็มักต้องเสียชีวิต ฉะนั้น จะใช้วิธีง่ายๆ เพียง “โยนเงิน” ลงไปเท่านั้นไม่ได้ นอกจากระบบการจัดหาจัดส่งยาจะต้องมีประสิทธิภาพ ได้ยาคุณภาพกระจายอย่างทั่วถึง ไม่มีปัญหายาขาดแล้ว ยังต้องพัฒนาระบบการดูแลรักษาทั่วประเทศให้เข้มแข็ง ทีมงานทั้งแพทย์และพยาบาลจะต้องได้รับการฝึกอบรมเรื่องการรักษาที่ถูกต้อง ภาควิชาการทั้งในกระทรวงสาธารณสุข และภาคเอกชนคือ สมาคมโรคเอดส์ จะต้องติดตามความก้าวหน้าทางวิชาการของโรคร่วมกับกรมควบคุมโรค ปรับปรุง “มาตรฐานการรักษา” เป็นระยะๆ องค์การเภสัชกรรมจะต้องปรับปรุงสูตรยาให้ทันกับมาตฐานการรักษา ระบบข้อมูลจะต้องดี ทั้งการวางระบบ การรายงาน การวิเคราะห์ ประเมินผล และการใช้ประโยชน์จากข้อมูล และข้อสำคัญผู้ติดเชื้อ / ผู้ป่วย จะต้องช่วยตนเอง และช่วยกันเองให้ไปรับการรักษา และกินยาอย่างถูกต้อง ต่อเนื่อง สม่ำเสมอ ถึงขั้นต้องตั้งนาฬิกาเตือนให้กินยาตรงเวลา ซึ่งน่ายินดีที่องค์กรเอกชนด้านเอดส์ของประเทศไทยเข้มแข็งมาก ประสิทธิผลการรักษาของเราจึงสูงน่าพอใจ
หากเปรียบเทียบกับระบบการดูแลผู้ติดเชื้อ / ผู้ป่วยเอดส์ในอีก 2 ระบบใหญ่ คือ สวัสดิการข้าราชการ และประกันสังคม ระบบบัตรทองพัฒนาดีกว่ามาก ระบบที่แย่ที่สุดและแย่มาจนทุกวันนี้คือ สวัสดิการข้าราชการ เพราะมักไปรับการรักษาโดยปกปิด ไม่มีการรวมตัวกันของผู้ป่วย ทำให้ขาดการสนับสนุนจาก “เพื่อนร่วมทุกข์” (Peer Group) รวมทั้งขาดการรายงาน ติดตาม โดยมักปกปิดรายงานเป็นโรคอื่นแทน ระบบประกันสังคมมีปัญหารองลงไป เพราะระบบนี้ให้บริการโดยโรงพยาบาลเอกชนกว่าครึ่ง ซึ่งแพทย์ที่ให้บริการในโรงพยาบาลเอกชนส่วนมาก ถูกใช้งานเพื่อทำรายได้ให้โรงพยาบาลเป็นหลัก มีเวลาไปรับการฝึกอบรมเพื่อติดตามความก้าวหน้าทางวิชาการค่อนข้างน้อยมาก ขณะที่วงวิชาการด้านนี้มีพลวัตสูง การปรับตัวเรื่องมาตรฐานการรักษาก็ติดขัด จากระบบที่เป็นราชการ และมีคณะอนุกรรมการ / คณะกรรมการ หลายชั้น จึงตามการพัฒนาของระบบบัตรทองไม่ทัน ประสิทธิผล/ประสิทธิภาพ ของการดูแลรักษาจึงย่อหย่อนไป
ช่วงที่ผมเป็นกรรมการในคณะกรรมการการแพทย์ของประกันสังคม ได้รับมอบหมายให้เป็นประธานอนุกรรมการเรื่องเอดส์ ขณะเดียวกันก็เป็นประธานอนุกรรมการเรื่องเอดส์ในคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติด้วย ได้พยายาม “บรรสาน” (Harmonize) เรื่องการดูแลรักษาเอดส์ให้ 2 กองทุนนี้ ทำให้ปัจจุบันมาตรฐานและประสิทธิผล การดูแลรักษาเอดส์ของประกันสังคมใกล้เคียงกับระบบบัตรทองมาก ข้อสำคัญคือ ระบบการรายงานได้เชื่อมโยงเข้ามาสู่ระบบเดียวกัน ขณะที่ระบบบริการในสวัสดิการข้าราชการยัง “กู่ไม่กลับ”
อย่างไรก็ดี ดังที่ลอร์ด แอคตัน ได้กล่าวไว้กว่าร้อยปีมาแล้วว่า “อำนาจทำให้ฉ้อฉล อำนาจเบ็ดเสร็จ ทำให้ฉ้อฉลเบ็ดเสร็จ” (Power tends to corrupt, absolute power corrupts absolutely) ระบบราชการเป็นระบบอำนาจรวมศูนย์จึงเกิดการฉ้อฉลได้ง่าย งบประมาณเอดส์ในระบบบัตรทอง เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดจากปีแรกมีงบประมาณแผ่นดิน 2,796.20 ล้านบาทในปี 2549 กระโดดขึ้นเป็น 3,855.50 ล้านบาทในปี 2550 และเพิ่มเป็น 4,382.40 ล้านบาท ในปี 2551 การบริหารงบประมาณก้อนนี้ในกระทรวงสาธารณสุข บ่งชี้ว่าขาดประสิทธิภาพและมีการฉ้อฉลด้วย
หลักฐานการฉ้อฉลปรากฏชัดเจนหลังการรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ.2549 รัฐบาลขิงแก่เลือก นพ.มงคล ณ สงขลา ผู้ร่วมริเริ่มบุกเบิกโครงการบัตรทองมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีทีมงานแพทย์ชนบทเข้าไปช่วยเป็นกำลังสำคัญ ปัญหายาเอดส์ราคาแพง ซึ่งเป็นปัญหาหนักมาต่อเนื่องยังไม่หมดไป แม้องค์การเภสัชกรรมจะผลิตสูตรยาจีพีโอเวียร์ ซึ่งเป็นยารักษาสูตรพื้นฐานราคาถูกลงถึง 25 เท่า แต่ยาอื่นโดยเฉพาะยาสูตรดื้อยา เป็นยาติดสิทธิบัตรราคาแพงมาก นพ.สงวน เสนอว่าจะต้องใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิ์ ซึ่งเป็นมาตรการที่เป็นไปตามกฎเกณฑ์สากลขององค์การการค้าโลก และเป็นไปตามกฎหมายไทย คือ พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2535 รัฐบาลจากการเลือกตั้งได้รับข้อเสนอแล้วลังเลไม่กล้าประกาศศักดิ์ศรีของชาติที่เป็นอิสระ จนกระทั่งรัฐบาลขิงแก่เข้ามารับหน้าที่ มาตรการแรกที่ นพ.มงคล ณ สงขลา จับขึ้นมาทำคือการประกาศทำซีแอลยาเอดส์ที่ติดสิทธิบัตร 2 ชนิด ที่มีราคาแพง ทำให้ยาสูตรดื้อยา มีผู้เป็นเอดส์เข้าถึงยาสูตรนี้เพียง 69 คนจากผู้ป่วยที่ดื้อยาหลายพันคน ! ที่เหลือส่วนมากต้องกลายเป็นเอดส์เต็มขั้น ต้องเสียค่ารักษาโรคติดเชื้อฉวยโอกาสจำนวนมาก และในที่สุดก็มักเสียชีวิตไป ทำให้ครอบครัวเดือดร้อน เพราะจำนวนมากที่เสียชีวิตเป็นหัวหน้าครอบครัว
หลังประกาศทำซีแอล ยาสูตรดื้อยาราคาถูกลงมาก ทำให้คนไข้ที่ดื้อยา “เข้าถึง” ยามากขึ้น จากที่เคยได้เพียง 69 คน เพิ่มเป็นกว่าหมื่นคนในเวลาราวปีเศษ แปลว่าคนไข้เอดส์ที่ดื้อยารอดชีวิต เป็นกำลังของครอบครัวกว่าหมื่นคน
แต่ปรากฏว่าแม้มีการประกาศทำซีแอลเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลก ไม่เฉพาะในประเทศไทย แต่หน่วยงานรับผิดชอบยัง “แอบ” เสนอขอซื้อยาตัวเดียวกับที่กำลังทำซีแอล แต่เสนอขอซื้อยาราคาแพงจากบริษัทยาต่างประเทศ สวนทางขึ้นมาอีกหลายร้อยล้าน !
ซื้อมาทำไม ทำไมจึงซื้อ เป็นเรื่องรู้กันดีในวงการ เพราะก่อนหน้านั้นมีข่าวการสั่งยาราคาแพงในโรงพยาบาลบางแห่งทางภาคอีสานโดยมีการจัดซื้อยาไว้มากมายจนยาล้นสต็อค หมดอายุ ต้องเอาไปฝังดินทำลายหลักฐาน เป็นข่าวฉาวโฉ่มาแล้ว
ในเรื่องประสิทธิภาพ เพราะเป็นระบบราชการ เมื่อตั้งหน่วยงานขึ้นแล้ว ยุบเลิกยาก ตรงข้าม แต่ละหน่วยงานจะพยายามขยายบทบาทหน้าที่ออกไปตาม “กฎพาร์กินสัน” (Parkinson’s Law) ซึ่งผมเคยเขียนเรื่องนี้ไว้ในบทความเรื่อง “การบริหารเวลา” และขอคัดมา ดังนี้
กฎพาร์กินสันคือ “งานจะขยายออกไปให้เต็มตามเวลาที่กำหนดให้ (Work expands so as to fill the time available for its completion.) นั่นคือ ถ้าให้เวลามาก คนทำงานก็อาจรอจนใกล้กำหนดจึงลงมือทำเพื่อให้เสร็จตามกำหนด ถ้าให้เวลาน้อยก็จะเร่งทำโดยเร็ว ตัวอย่างที่ชัดเจน เช่น งานพิธีศพ ประเพณีไทยมีทั้งแบบเร็วและช้า เช่น สวด 3 วันแล้วเผา หรือสวดร้อยวันแล้วเก็บไว้อีกระยะหนึ่งจึงเผา แต่อิสลามจะกำหนดให้แล้วเสร็จในวันเดียว ก็สามารถทำได้ตามกำหนดทั้งสิ้น
ตัวอย่างที่คลาสสิก คือ นักธุรกิจที่รู้จักบริหารเวลา จะสามารถส่งบัตรอวยพรให้ลูกค้าได้ภายในสองสามนาที แต่คุณนายสูงอายุที่ว่างงาน อาจใช้เวลาทั้งวันเพื่อเขียนบัตรอวยพรส่งให้หลานสาว โดยใช้เวลาหนึ่งชั่วโมงเพื่อหาบัตรอวยพรที่ถูกใจ อีกหนึ่งชั่วโมงเพื่อหาแว่นตาที่ไม่รู้ไปวางไว้ที่ไหน ครึ่งชั่วโมงเพื่อหาที่อยู่หลานสาว หนึ่งชั่วโมงสิบห้านาทีเพื่อเขียนข้อความอวยพร ยี่สิบนาทีเพื่อตัดสินใจว่าติดร่มไปดีไหมระหว่างไปหย่อนบัตรอวยพรลงตู้ไปรษณีย์
ที่น่าวิตกคือ หน่วยงานจำนวนมาก ทั้งราชการและเอกชนต่างตกอยู่ในวังวนของ กฎพาร์กินสัน นอกจากขยายเวลาทำงานแล้ว ยังขยายหน่วยงาน ขยายจำนวนคนทำงาน เพื่อเพิ่มความสำคัญขององค์กรหรือหน่วยงาน แต่ทำสิ่งที่ไม่จำเป็นและไม่เป็นประโยชน์ เข้าลักษณะ “โยนกระดาษกันไปมา” ทำให้งานซับซ้อนมากขึ้น และยุ่งยากมากขึ้น แถมเสร็จช้าลง เป็นปัญหาใหญ่ของหน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะหน่วยงานราชการ ที่จะต้องแก้ไข ถึงขั้นปฏิรูปกันต่อไป”
ธรรมชาติของหน่วยงานที่มักจะเป็นไปตามกฎพาร์กินสัน การบริหารยาเอดส์ก็ไม่พ้นกฎข้อนี้ แทนที่จะส่งยาตรงถึงโรงพยาบาลแต่ละแห่ง กรมควบคุมโรคกลับมีสต็อคของยาเอาไว้ในจุดที่ไม่จำเป็น 3 จุด คือ ในกรม ที่สำนักงานควบคุมโรคเขต และที่สำนักงานสาธารสุขจังหวัด การมีสต็อคยาไว้ใน 3 จุดดังกล่าวไม่มีประโยชน์ใดๆ เลย มีแต่โทษ เพราะเป็นการเพิ่มขั้นตอน ทำในสิ่งที่ไม่จำเป็น ไม่มีประโยชน์ ทำให้สิ้นเปลืองกับการนำยาไปกองไว้ เสียค่าใช้จ่ายทั้งการขนส่ง การหาที่เก็บ การจัดทำสต็อคและอื่นๆ ทำให้มีโอกาสที่ยาจะค้างสต็อคและหมดอายุ รวมทั้งอาจมีปัญหายาเสื่อมคุณภาพ เพราะในหน่วยงานบางแห่งสถานที่คับแคบ ต้องเอาไปกองไว้ตามซอก ตามระเบียง ตากแดด โดนอากาศร้อน โดยไม่มีการตรวจสอบควบคุมคุณภาพเลย แต่ต้องมีการเก็บสต็อคไว้ในที่ต่างๆ เหล่านี้เพียงเพราะเพื่อให้หน่วยงานแต่ละแห่งมี “บทบาทหน้าที่” และมี “อำนาจ” ในการบริหารยา ทำกันเช่นนี้มานานโดยไม่มีใครรู้สึกว่าเป็นความผิด
จุดพลิกผันที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงคือผู้บริหารกรมควบคุมโรคบางคน “เล่นตัว” เพราะรู้สึกว่า สปสช.ต้องพึ่งพาศักยภาพของตน จึงเรียกร้อง “โน่นนี่” เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ สร้างความขมขื่นให้กับ นพ.สงวน เป็นอันมาก จนวันหนึ่ง นพ.สงวนโทรศัพท์ปรึกษาผมว่า สปสช.อยากจะเป็นผู้บริหารจัดการยาเอดส์เอง แต่เกรงจะทำไม่ได้เพราะไม่มี “มือไม้” เหมือนอย่างกรมควบคุมโรค กลัวมีปัญหายาไม่ถึงมือคนไข้ จะทำให้เกิดปัญหาร้ายแรงตามมา คือคนไข้ขาดยาและทำให้เชื้อโรคดื้อยา ต้องไปใช้ยาราคาแพงที่ติดสิทธิบัตร เป็นภาระแก่งบประมาณของประเทศ ผมตอบทันทีว่า “เดินหน้าเลย” ผมอยู่กรมนี้มานาน 5 ปีรู้องคาพยพและรู้จักคนในกรมไม่น้อย หากมีปัญหาติดขัดจะช่วยแก้ไขให้ ขณะนั้นผมเป็นประธานบอร์ดองค์การเภสัชกรรม ผู้จัดหายานี้ส่งให้อยู่แล้ว จึงควรจะมีส่วนช่วยแก้ปัญหาได้มาก
คุณหมอสงวนเวลานั้นเจ็บป่วยด้วยมะเร็งโรคร้าย ร่างกายทรุดโทรมลงมาก แต่จิตใจยังแข็งแกร่งประดุจเหล็กเพชร พร้อมทีมงานคุณหมอสงวนที่เข้มแข็งทั้งร่างกายและกล้าหาญทางจริยธรรม เช่น ภญ.เนตรนภิส สุชนวนิช และ ภญ.ปนัดดา ลี่สถาพรวงศา ภรรยา นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการ กสทช. (ปัจจุบันถึงแก่กรรมแล้วจากโรคมะเร็ง) รวมทั้งทีมงานคนอื่นๆ ปรึกษาหารือกับทางฝ่ายองค์การเภสัชกรรม “รื้อปรับระบบ” (Reengineer) การจัดหายาเอดส์ให้แก่ สปสช.
องค์การเภสัชกรรมได้พัฒนาระบบการจัดส่งยาเอดส์ให้โรงพยาบาลต่างๆ อยู่แล้ว ที่เรียกว่า Vender-Managed Inventory หรือระบบ VMI (วีเอ็มไอ) คือมีการคำนวณปริมาณการใช้ยาของโรงพยาบาล แต่ละระดับกำหนดเพดานขั้นสูงเพื่อไม่ให้ยาล้นสต็อค/ค้างสต็อค และกำหนดเพดานขั้นต่ำ เพื่อไม่ให้ยาขาดสต็อค มีระบบข้อมูลอยู่ที่ส่วนกลาง โรงพยาบาลแห่งใดใช้ยาถึงขีดเพดานขั้นต่ำ ก็จะมีระบบส่งยาไปเพิ่มให้ถึงเพดานขั้นสูงในเวลาอันรวดเร็ว ระบบดังกล่าวดำเนินการมาระยะหนึ่งจนเข้าที่เข้าทางแล้ว การรื้อปรับระบบที่สำคัญคือ ยกเลิกสต็อคที่ส่วนกลาง ที่เขต และที่จังหวัดลงทั้งหมด ส่งตรงให้โรงพยาบาลเท่านั้น
ผลที่เกิดขึ้นทันที นอกจากตัดภาระที่ไร้สาระและไม่จำเป็นของการมีสต็อคในที่ไม่สมควร และไม่จำเป็น มีสต็อคไว้เพียงแห่งเดียวที่องค์การเภสัชกรรม ทำให้ประหยัดงบประมาณที่จะต้องซื้อยาไปกองไว้ลงได้มาก การเปลี่ยนแปลงผู้บริหารการจัดหายา ทำให้มีการเข้าไปตรวจสต็อค (Take stock) และเลิกแอบซื้อยานอกที่ไม่จำเป็นลง ทำให้ประหยัดงบประมาณลงได้ทันทีราว 1,000 ล้านบาท ผลคือปีต่อมา งบประมาณเอดส์ของ สปสช. ลดลงจาก 4,382.40 ล้านบาทในปี 2551 เหลือเพียง 2,983.773 ล้านบาท ในปี 2552 ลดลงไปถึง 31.91%
เงินที่ประหยัดได้ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2551 ราว 1 พันล้านบาท ได้นำไปใช้ประโยชน์คือ การเริ่มการล้างไตทางช่องท้อง ซึ่งใช้ในปีแรกราว 500 ล้านบาท อีก 500 ล้านบาท สามารถนำไปริเริ่มการใช้วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ให้แก่ประชากรกลุ่มเสี่ยง ซึ่งจะกล่าวถึงต่อไป
ติดตามต่อ ตอนที่ 6
- 122 views