ผอ.รพ.ราชบุรี ชี้ต้นตอปัญหา รพ.แออัด ทรัพยากรในระบบ ทั้งคน เงิน ของ มีจำกัด ไม่พอรองรับความต้องการของประชาชนที่เพิ่มมากขึ้น จากสิทธิประกันสุขภาพทั้ง บัตรทอง ขรก. และ สปส. ซึ่งช่วยผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาเพิ่มและเป็นเรื่องที่ดี ส่งผลกระทบบริการไม่เพียงพอ ทำคิวผู้ป่วยยาวเหยียด ระบุปัญหาพยาบาลขาดวิกฤตสุด เฉพาะ รพ.ราชบุรี ตามเกณฑ์ FTE ยังขาด 300 คน แต่ภาระงานหนัก ทำพยาบาลไหลออกจากระบบ ชี้ไทยได้รับการยอมรับในระบบหลักประกันสุขภาพ แต่ทรัพยากรที่จำกัด อะไรที่ขาดเราต้องเพิ่ม แนะต้องมองภาพรวมในการแก้ไขปัญหาเพื่อให้ระบบเดินหน้าได้
นพ.ทรงพล ชวาลตันพิพัทธ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาล (รพ.) ราชบุรี กล่าวว่า รพ.ราชบุรี เป็นหนึ่งในโรงพยาบาลที่มีผู้ป่วยเข้ารับบริการอย่างแออัด เช่นเดียวกับภาพรวม รพ.รัฐในประเทศที่ต่างประสบปัญหานี้ โดยมีข้อมูลชัดเจนว่า หลังการจัดตั้งระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ทำให้มีผู้ป่วยเข้าถึงบริการเพิ่มขึ้น จากเดิมมีผู้เข้ารับบริการอยู่ 2 ครั้งต่อคนต่อปี เป็น 3-4 ครั้งต่อคนต่อปี ขณะที่ระบบสวัสดิการข้าราชการก็ปรับเปลี่ยนเป็นการเบิกจ่ายตรง ไม่ต้องสำรองจ่าย รวมถึงระบบประกันสังคม ซึ่งปัจจุบันคนไข้ที่เข้ารักษาพยาบาลและจ่ายเงินเองไม่มีแล้ว แม้ว่าการเข้ารับบริการผู้ป่วยนอกในระบบหลักประกันสุขภาพจะเพิ่มไม่มาก แต่ก็แนวโน้มเพิ่มต่อเนื่อง ขณะที่ผู้ป่วยในเองการเข้าถึงบริการก็ดีขึ้นจากการกำหนดหลักเกณฑ์การจ่ายดีอาร์จี โดยการเข้าถึงบริการของผู้ป่วยถือเป็นเรื่องที่ดีอยู่แล้ว
นพ.ทรงพล กล่าวว่า นอกจากการเข้าถึงบริการผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นแล้ว กระทรวงสาธารณสุขเอง (สธ.) ได้มีการเน้นคุณภาพมาตรฐานในการบริการและรักษาพยาบาล (Hospital accreditation : HA) ส่งผลให้ รพ.แต่ละแห่งมีการพัฒนาเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมากขึ้น รวมถึงเครื่องมือแพทย์กระจายไปทั่วทุกพื้นที่ รวมถึงโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) แม้ว่าคุณภาพการบริการและรักษาพยาบาลจะยังไม่ดีที่สุด แต่ดีกว่าเดิมแน่นอน ส่งผลให้การตรวจรักษาผู้ป่วยมีขั้นตอนมากขึ้น ไม่ว่าจะการทำซีทีสแกน เอ็มอาร์ไอ การตรวจห้องปฏิบัติการ เป็นต้น ไม่เช่นนั้นอาจถูกฟ้องร้องหรือร้องเรียนได้ แต่ทั้งนี้ด้วยทรัพยากรที่มีจำกัดยังทำให้การกระจายยังเป็นปัญหา ส่งผลต่อปัญหาความแออัดของผู้ป่วยใน รพ. โดยเฉพาะโรงพยาบาลขนาดใหญ่
ทั้งนี้เมื่อดูจำนวนแพทย์ต่อประชากรและพยาบาลต่อประชากรพบว่า แต่ละโรงพยาบาลและพื้นที่มีความแตกต่างกันมาก แม้แต่ รพ.ของ สธ.เอง ซึ่งพบว่า รพ.ใหญ่ ต่างมีความทุกข์ เพราะด้วยจำนวนคนไข้ที่แน่นมากในแต่ละวัน ขณะที่การขยายบริการทำได้ยาก อย่าง รพ.ราชบุรี อาคารผู้ป่วยนอกใช้มากว่า 30-40 ปีแล้ว คับแคบมากไม่พอรองรับผู้ป่วย ทั้งที่ควรมีการลงทุนก่อสร้างอาคารเพิ่มเติม เพื่อให้มีการแยกคลินิกแต่ละโรค ซึ่งจะช่วยลดความหนาแน่นในการรอคิวรักษาของผู้ป่วยลงได้ แต่ก็ไม่ได้รับการสนับสนุน ซ้ำยังไม่ใช่ห้องแอร์ ด้วยสภาพเช่นนี้จึงส่งผลต่อภาระงานแพทย์และพยาบาล ทำให้ต้องเร่งตรวจผู้ป่วย แต่ด้วยผู้ป่วยที่มีมากทำให้บริการไม่ทัน และเป็นที่มาของการตรวจ 2 นาที หน้างอ รอนาน เป็นต้น
นพ.ทรงพล กล่าวว่า วันนี้โรงพยาบาลใหญ่ๆ เหนื่อยตรงนี้ ทรัพยากรที่มีอยู่ไม่เพียงพอต่อการกระจาย และเรื่องนี้คงไม่ใช่เรื่องการบริหารประสิทธิภาพ เพราะอย่างห้องผ่าตัดจะเปิดใช้ตลอด 24 ชั่วโมง คงเป็นเป็นไปไม่ได้ และในการกรณีเปิดนอกเวลาก็จะมีเรื่องค่าใช้จ่ายอีก ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาล กองทุนรักษาพยาบาลและหน่วยบริการต้องมาพูดคุยกัน ทรัพยากร คน เงิน ของ เครื่องมือแพทย์ จะกระจายอย่างไร และหากถ้าไม่ช่วยกัน รพ.ที่หนักก็จะรับภาระต่อไป นอกจากนี้ประชาชนต้องไม่เจ็บป่วยมาก ต้องรู้จักดูแลตนเอง ซึ่งงานส่งเสริมสขภาพป้องกันโรคยังไม่ดีพอ เป็นไปได้หรือไม่ที่ท้องถิ่นจะเข้ามาช่วย
“ถามว่าผู้ป่วยหนาแน่นมั้ย หนาแน่นแน่ๆ เกิดจากระบบหรือไม่ ผมมองว่าก็ส่วนหนึ่ง เพราะประชาชนเข้าถึงการรักษาได้ดี ขณะที่คุณภาพการรักษาดีขึ้น เครื่องไม้เครื่องมือในการรักษาดีขึ้น ทำให้เกิดการบริการตรวจรักษาและวินิจฉัยมีความละเอียดมากขึ้น ซึ่งต้องใช้ทรัพยากร เวลา และบุคลากรที่มากขึ้น แต่ปัญหาคือทรัพยากรที่มีนั้นยังจำกัด ไม่ว่าจะเป็นเครื่องไม้เครื่องมือและบุคลากรที่ไม่เพียงพอกับจำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับบริการเพิ่มมากกว่า 2 เท่า ทำให้ระบบรองรับไม่ทัน ซึ่งที่ รพ.ราชบุรี มีผู้ป่วยนอกถึงวันละ 2,400 คน ผู้ป่วยใน 855 เตียง ตรงนี้จะทำอย่างไร” ผอ.รพ.ราชบุรี กล่าวและว่า ที่ผ่านมา รพ.ราชบุรีมีความพยายามแก้ปัญหาลดความแออัดผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มคลินิกนอกเวลา ซึ่งจะมีข้อจำกัดบุคลากรและค่าใช้จ่าย การเปิดบริการปฐมภูมิในเขตเมืองเพื่อลดผู้ป่วยที่เดินทางมา รพ.ราชบุรี และการส่งกลับผู้ป่วยไปยัง รพช. เป็นต้น และยังมีการลงนามความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อมาช่วยเพิ่มบริการให้กับผู้ป่วย แต่ รพ.ก็ยังมีผู้ป่วยหนาแน่นอยู่
จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ นพ.ทรงพล กล่าวว่า ในด้านภาระงานบุคลากร พยาบาลเป็นกลุ่มที่น่าสงสารที่สุด โดยเฉพาะพยาบาลใน รพ.ใหญ่ๆ งานหนัก ไม่มีเวลาพักผ่อน ต้องขึ้นเวรดูแลผู้ปวยต่อเนื่อง ขณะที่ตำแหน่งบรรจุข้าราชการถูกจำกัด รัฐไม่มีให้ ส่งผลให้พยาบาลส่วนหนึ่งเลือกไหลออกไปอยู่ที่อื่น เพราะเงินเดือนที่ได้ในภาครัฐนั้นต่ำกว่าเอกชน ทั้งยังไม่มีความมั่นคง ทั้งนี้ตามเกณฑ์พยาบาลต่อผู้ป่วยตามการวิเคราะห์อัตรากำลังภารกิจ (Full Time Equivalent : FTE) รพ.ราชบุรีควรมีพยาบาล 900 คน แต่ปัจจุบันมีเพียงแค่ 600 คนเท่านั้น ยังขาดพยาบาลอีกถึง 300 คน ส่งผลให้เกิดภาระงานหนัก
“ทั้งนี้การแก้ไขปัญหาขาดแคลนพยาบาลเฉพาะหน้าของ รพ.ราชบุรีนั้น ที่ผ่านมาเราต้องไปตกเขียวพยาบาล ทั้งจากวิทยาลัยพยาบาลของ สธ. และเอกชน โดยจะให้ทุนเรียนปีละ 50,000 บาท และเมื่อจบแล้วขอให้ใช้ทุนที่ รพ.ราชบุรี 2 ปี นอกจากนี้ยังรับสมัครพยาบาลลูกจ้างชั่วคราว ที่เป็นการจ้างโดยใช้เงินบำรุงโรงพยาบาล การดึงตัวพยาบาลจาก รพช.โดยรอบให้มาช่วยขึ้นเวรที่ รพ.ราชบุรี และสุดท้ายคือการจ้างพยาบาลที่เกษียณอายุแล้ว ซึ่งต้องบอกว่า รพ.ราชบุรีใช้หลายวิธีในการแก้ไขปัญหา และต้องบอกว่าวันนี้แม้มีเงินก็จ้างไม่ได้” นพ.ทรงพล กล่าว
ต่อข้อซักถามว่า ที่ผ่านมาสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) จำกัดตำแหน่งข้าราชการ สธ. รวมถึงพยาบาล โดยมองว่ามีจำนวนกำลังคนที่มากไป นพ.ทรงพล กล่าวว่า ก.พ.ดูเฉพาะเรื่องการเพิ่มของกำลังคนในภาคราชการว่ามากไปหรือไม่ แต่ในแง่กำลังคนในระบบสาธารณสุขมองว่าควรที่จะขยายเพิ่ม เพราะวันนี้ในด้านค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลเรายังใช้ต่ำกว่าหลายประเทศเมื่อเปรียบเทียบตามจีดีพีประเทศ ขณะที่อัตรากำลังแพทย์และพยาบาลในแต่ละพื้นที่ไม่เท่ากัน เพราะเรายังมีปัญหาเรื่องการกระจาย จึงควรมีมาตรการแก้ไขให้กับพื้นที่ซึ่งเป็นปัญหา
นพ.ทรงพล กล่าวทิ้งท้ายว่า ถึงเวลาแล้วที่ต้องมาดูระบบรักษาพยาบาลทั้งหมดในภาพรวม ทั้งในแง่คุณภาพและทรัพยากร ซึ่งประเทศไทยได้รับการยอมรับในระบบหลักประกันสุขภาพ แต่ทรัพยากรไม่ว่าจะเป็น คน เงิน ของ และเครื่องไม้เครื่องมือแพทย์ อะไรที่ขาดเราต้องเพิ่ม ภาครัฐและเอกชนจะแบ่งเบากันอย่างไร ขณะที่ปัญหาบุคลากรแม้ว่าภาพรวมจะมีจำนวนเพียงพอ แต่การกระจายยังเป็นปัญหา ทำให้บางแห่งต้องรับภาระงานหนักมากเกินไป ในประเด็นนี้อาจต้องปรับค่าตอบแทนที่ต้องสมดุลกับภาระงาน รวมถึงต้องหาแนวทางอื่นๆ เพื่อเป็นทางออก ไม่ว่าจะป็นการดึงท้องถิ่นเข้ามีส่วนร่วมในระบบสุขภาพ ทั้งหมดนี้เพื่อให้ระบบสามารถเดินไปได้
- 89 views