แพทย์แผนไทยในวันนี้ ไม่ได้มีเฉพาะหมอที่สูงวัย แต่คนรุ่นใหม่กลับให้ความสนใจที่จะเรียนศาสตร์ของแพทย์แผนไทยมากขึ้น ตัวอย่างเช่น พท.ป. (แพทย์แผนไทยประยุกต์) สรชา ปิดตัง วัย 24 ปี ที่เธอบอกว่า สนใจเรื่องแพทย์แผนไทยมาตั้งแต่เด็ก เพราะสมุนไพรเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวมาก และรักษาอาการเจ็บป่วยด้วย
สรชา ปิดตัง
สรชา แพทย์แผนไทยประยุกต์ โรงพยาบาลวังน้ำเย็น อำเภอวังน้ำเย็น จังหวัดสระแก้ว เล่าว่า เหตุที่สนใจในศาสตร์ของการแพทย์แผนไทย เนื่องจากเห็นว่า แพทย์แผนไทยเป็นภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ ที่นำสมุนไพรมาใช้ในการรักษาหรือบรรเทาอาการเจ็บป่วย ในสมัยที่ยังเป็นเด็กเวลาท้องเสียคุณตาจะนำเปลือกแคมาต้มให้กินแก้ท้องเสีย
"ก่อนที่จะเรียนจบชั้น ม.6 ทางโรงเรียนจัดกิจกรรมแนะแนวการเรียนต่อ มีรุ่นพี่กลุ่มหนึ่งมาพูดเรื่องการเรียนต่อด้านแพทย์แผนไทย ตนได้ให้ความสนใจเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงเลือกมาเรียนวิทยาลัยสหเวชศาสตร์ ในสาขาแพทย์แผนไทยประยุกต์ ใช้เวลาเรียน 4 ปี"
สรชา เล่าถึงสาเหตุที่ตนเลือกเรียนแพทย์แผนไทยประยุกต์ เนื่องจากว่าถ้าจบออกมาแล้ว เราสามารถใช้เครื่องมือทางการแพทย์แผนปัจจุบันเข้ามามีส่วนในการรักษาได้ถึง 13 ชนิด เช่น ไม้กดลิ้น เครื่องวัดความดันโลหิต หลังจากที่เรียนจบได้ทำงานที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งในกรุงเทพ ที่ได้ค่าตอบแทนที่น่าพึงพอใจ ทำได้ประมาณ 2 ปี ทางครอบครัวอยากให้รับราชการ และเมื่อที่โรงพยาบาลวังน้ำเย็นเปิดรับสมัครแพทย์แผนไทยจึงได้มาทำงานที่นี่ ในตำแหน่งลูกจ้างชั่วคราว มีค่าตอบแทนเทียบเท่ากับพยาบาลวิชาชีพ หน้าที่ที่ทำคือ ออกตรวจผู้ป่วยควบคู่กับแพทย์แผนปัจจุบันอาทิตย์ ละ 2 วัน นอกนั้นประจำอยู่ที่คิลนิกแพทย์แผนไทยในโรงพยาบาลวังน้ำเย็น
สำหรับการเรียนแพทย์แผนไทย จะมีด้วยกัน 4 สาขา คือ เภสัชกรรมไทย ผดุงครรภ์ไทย หัตถเวชกรรมไทย และ เวชกรรมไทย
เมื่อได้นำความรู้ที่มีมาใช้รักษาอาการเจ็บป่วยของชาวบ้าน สรชา พบว่า ศาสตร์ทางการแพทย์ทุกศาสตร์ไม่ว่าจะเป็นแพทย์แผนไทยหรือแผนปัจจุบันมีข้อดีและข้อจำกัดที่แตกต่างกัน ในส่วนตัวรู้สึกว่า ศาสตร์ของการแพทย์แผนไทยมุ่งใช้สมุนไพรเข้ามาดูแลสุขภาพเป็นหลัก โดยเน้นที่การรักษาแบบองค์รวม คือ ดูแลทั้งร่างกายและจิตใจ แต่หากเป็นแพทย์แผนปัจจุบันอาจมุ่งไปที่ผลของการรักษาโรคมากกว่า
สรชา กล่าวว่า ในแต่ละวันที่โรงพยาบาลวังน้ำเย็นจะมีประชาชนมาเข้ารับบริการที่แผนกแพทย์ไทยประมาณวันละ 40-50 คน ส่วนมากจะมาด้วยอาการปวดหลัง ปวดขา ท้องอืด ท้องเฟ้อ ซึ่งตนจะให้การรักษาด้วยการซักประวัติ ตรวจธาตุเจ้าเรือน สั่งยา ซึ่งการรักษานั้นจะเป็นแบบองค์รวม คือ นอกจากให้ยาแล้ว ยังแนะนำให้ผู้ป่วยหันมาปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เพื่อปรับธาตุเจ้าเรือนให้อยู่ในสภาวะที่สมดุล เพราะบางครั้งพบว่า สาเหตุของการเจ็บป่วยเกิดจากการมีพฤติกรรมการใช้ชีวิตและการกินที่ไม่เหมาะสม และอารมณ์ที่แปรปรวนอาจเป็นอีกสาเหตุหนึ่งของความเจ็บป่วยได้
โรงพยาบาลวังน้ำเย็นยังให้การรักษาแบบควบคู่กันไประหว่างแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์แผนไทย เช่น ที่ผ่านมามีผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีอาการดื้อยารักษาเบาหวาน เมื่อส่งตัวผู้ป่วยมารักษาแพทย์แผนไทย แล้วให้ทาทานยาควบคู่กันไปทั้งแผนไทยและแผนปัจจุบัน ผลปรากฎว่า ผู้ป่วยมีอาการที่ดีขึ้น ซึ่งทำให้เห็นว่า บางครั้งการรักษาแบบควบคู่กันไปจะให้ผลที่ดีกับผู้ป่วย
สรชา กล่าวว่า หากให้เปรียบเทียบระหว่างข้อดี ข้อเสีย ของการใช้ยาแผนไทยกับแผนปัจจุบัน บอกได้เลยว่า ยาของแต่ละแผนจะมีทั้งข้อดีและข้อเสียต่างกัน ยาทุกชนิดหากใช้นานไปมีผลข้างเคียงต่อร่างกายทั้งสิ้นไม่มากก็น้อย
“ใครว่ายาสมุนไพรจะกินได้ตลอดใ นทางการแพทย์แผนไทยระบุว่า ยาสมุนไพรไม่ควรกินต่อกันเกิน 1-2 เดือน หรือถ้ากินในรูปแบบบำรุงร่างกาย อาจกินเดือนเว้นเดือน ในความคิดส่วนตัวมองว่า ถ้าหากเป็นเรื่องหรือโรคฉุกเฉิน แพทย์แผนปัจจุบันจะให้ผลดีกว่า แต่หากเป็นโรคเรื้อรัง เชื่อว่าแพทย์แผนไทยจะให้ผลการรักษาที่ดีกว่า" สรชา กล่าว
ส่วนอนาคตนั้น สรชา อยากจะเรียนต่อในการแพทย์ทางเลือกศาสตร์การฝังเข็ม โดยให้เหตุผลว่า เป็นศาสตร์ที่น่าสนใจ และมีอายุยาวนานมาหลายร้อยปี และสามารถต่อยอดในงานที่ทำได้
- 134 views